4 กระทรวงดัดหลังเก็งกำไรปั่นราคาที่ดินเขต ศก.พิเศษ สั่งรวบรวมที่ดินรัฐ "ป่าสงวน-ที่สาธารณประโยชน์-ส.ป.ก.-ราชพัสดุ" ให้เอกชนเช่าผุดนิคมอุตฯ-โรงงาน "ตาก"นำร่องเตรียมเพิกถอนป่า 1.4 หมื่นไร่
พาณิชย์ชู "แม่สอดโมเดล" ต้นแบบ "ฉัตรชัย" นัดหารือเมียนมาร์ 28-29 ม.ค.นี้ ดัน "ตาก-เมียวดี" เมืองคู่ค้า บิ๊กเอกชนซุ่มเงียบกว้านซื้อที่ดินรอจังหวะปักธงขยายฐานธุรกิจ
แหล่งข่าวจากกระทรวงมหาดไทยเปิดเผย"ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) 19 ม.ค. 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งมีมติเห็นชอบให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กำหนดกิจการเป้าหมายที่จะให้สิทธิพิเศษส่งเสริมการลงทุน เห็นชอบ
แผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณากำหนดขอบเขตพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยมี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นประธาน เร่งจัดหาที่ดินของรัฐให้เอกชนเช่าแก้ปัญหาราคาที่ดินพุ่งสูงขึ้นจากการปั่นราคาและเก็งกำไร ล่าสุด รมว.มหาดไทยสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการโดยเร่งด่วนแล้ว
ขณะที่ภาคเอกชนเริ่มหาซื้อที่ดินในพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษระยะแรก5 พื้นที่ และล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ ประธาน กนพ.ได้ลงนามในประกาศ กนพ.เรื่องกำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 5 จังหวัดแรกแล้ว ส่วนกระทรวงพาณิชย์ก็เดินหน้าส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยจัดทำโครงการนำร่องที่เขตเศรษกิจแม่สอด จ.ตาก สัปดาห์หน้า
สำรวจที่ดินรัฐรับนักลงทุน
พล.อ.อนุพงษ์เปิดเผยว่า นอกจากสั่งการให้กรมโยธาธิการและผังเมืองเร่งวางผังเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว 4 กระทรวงที่รับมอบหมายให้จัดหาพื้นที่คือมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กระทรวงเกษตรฯและกระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างสำรวจหาที่ดิน เช่น ที่ดินราชพัสดุกรมธนารักษ์ ที่สาธารณประโยชน์ของมหาดไทย และที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) รวมถึงป่าสงวนฯ รองรับการลงทุนของภาคอุตสาหกรรม โดยจะดำเนินการโดยเร็วที่สุด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (26 ม.ค.2558) หน่วยงานในสังกัดมหาดไทยจะหารือเป็นการภายใน เพื่อดูว่าที่ดินสาธารณประโยชน์พื้นที่ใดบ้างสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้
"ธนารักษ์" จัดแลนด์แบงก์รองรับ
นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์เปิดเผยว่า กรมได้จัดหาที่ดินราชพัสดุ 6 จังหวัด (รวม จ.หนองคาย) ที่รัฐบาลจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ รวบรวมเป็น "แลนด์แบงก์" รองรับความต้องการใช้งานในระยะข้างหน้า เช่น อาจให้เอกชนเช่าทำโกดังสินค้า จุดพักสินค้า จุดเชื่อมโยงโลจิสติกส์ เป็นต้น ซึ่งได้คัดเลือกจากที่ราชพัสดุที่ส่วนราชการไม่ใช้ประโยชน์หรือใช้ประโยชน์ไม่เต็มพื้นที่ ขนาดไม่ต่ำกว่า 20 ไร่ขึ้นไป ได้ทั้งหมด 2,500 ไร่ ใน 5 จังหวัด คือ ตาก กว่า 500 ไร่ สระแก้ว 855 ไร่ สงขลา 149 ไร่ มุกดาหาร กว่า 740 ไร่ และ ตราด 250 ไร่ ส่วนหนองคายอยู่ระหว่างให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ
เวนคืนที่ ส.ป.ก.-เพิกถอน พท.ป่า
ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ด่านสะเดา จ.สงขลา เป็นพื้นที่เดียวในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีที่ดิน ส.ป.ก.ทับซ้อน ขนาด 574 ไร่ มีเกษตรกรในพื้นที่ 28 ราย โดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติจะจ่ายค่าชดเชยให้เกษตรกรซึ่งเป็นผู้เสียโอกาส ก่อนหน้านี้เคยเสนอว่าจะจัดหาที่ใหม่ให้ แต่กระบวนการต้องใช้เวลานานในการหาที่รองรับที่เหมาะสม จึงใช้วิธีจ่ายเป็นเงินชดเชยดังกล่าว ซึ่งเป็นวิธีปฏิบัติปกติ คล้ายๆ กรณีจ่ายชดเชยในการก่อสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
ขณะที่นายเทษา พสกภักดี หัวหน้าฝ่ายใช้ประโยชน์ที่ดินป่าไม้ สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 4 (ตาก) กรมป่าไม้ เปิดเผยว่า ในส่วนของ จ.ตาก ขณะนี้หน่วยงานรัฐและเอกชนได้ข้อสรุปว่าจะใช้พื้นที่ทั้งหมด 14,000 ไร่ 8 ตำบล ใน อ.แม่สอด 3 ตำบล ใน อ.พบพระ และอีก 3 ตำบลใน อ.แม่ระมาด ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าตามมติ ครม.เมื่อ 29 ม.ค. 2556 จัดตั้งพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด โดยจะเร่งให้กรมพัฒนาที่ดินเสนอ ครม.เพิกถอนพื้นที่ป่าเพื่อก่อสร้างศูนย์วันสต็อปเซอร์วิสและรองรับเอกชนที่จะเข้าลงทุนบางส่วน ที่เหลือเอกชนต้องหาที่ดินในรัศมีใกล้เคียงแทนให้อำนาจผู้ว่าฯไฟเขียวใช้ พท.ป่า
นอกจากนี้ จะเสนอขอแก้ไขการมอบอำนาจการอนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตพื้นที่ของราชการ (ป่าสงวนแห่งชาติ) ตามมาตรา 13 ทวิ แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 จากเดิมการขออนุญาตใช้พื้นที่มีกระบวนการยุ่งยากล่าช้า เช่น ขออนุญาตต่อ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ หากเปลี่ยนรัฐบาลต้องส่งคืนให้กรมป่าไม้ และนำเสนอ รมต.ใหม่อีกครั้ง เปลี่ยนเป็นเสนอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจพิจารณาการขอใช้เนื้อที่ไม่เกิน 100 ไร่ได้
ที่รัฐถูกบุกรุกเกือบหมด
สำหรับเขตเศรษฐกิจมุกดาหาร นายธนโชติ โชติบุญยศักดิ์ รองประธานหอการค้า จ.มุกดาหาร เปิดเผยว่า หลังประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ ราคาที่ดินพุ่งขึ้นกว่า 200-300% จากไร่ละ 3 แสนบาท เป็น 3 ล้านบาท ภาครัฐจึงต้องจัดหาที่ดินรัฐให้เอกชนเช่า โดย จ.มุกดาหารได้จัดหาไว้ 2 แห่ง ใน อ.เมือง คือ พื้นที่ของกรมวิชาการเกษตร บริเวณหน้าขนส่ง จ.มุกดาหาร 500 ไร่และที่ราชพัสดุ บ้านพรานอ้น ต.คำฮวน 800 ไร่ เบื้องต้นมีกลุ่มทุนนิคมอุตสาหกรรมสนใจลงทุนที่บ้านพรานอ้น เป็นที่ราชพัสดุแปลงใหญ่ที่สุด อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันที่รัฐในมุกดาหารถูกบุกรุกครอบครองเกือบทั้งหมด อาจมีปัญหาในการขอคืนพื้นที่ อีกทั้งราคาแพงจนอาจกระทบการลงทุนของเอกชน
นายณรงค์ ธีรจันทรางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เปิดเผยว่า เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราดกำหนดพื้นที่พัฒนาไว้ 50.2 ตร.กม. จะเน้นเป็นเมืองสีเขียว (Green City) ไม่เน้นสร้างโรงงานอุตสาหกรรม แต่จะพัฒนา 3 ด้าน คือ ศูนย์กระจายสินค้า เมืองท่า และเมืองท่องเที่ยว นอกจากนี้ได้เตรียมพื้นที่ในเขต อบต.ไม้รูด 92 ไร่ พัฒนาเป็นศูนย์กระจายสินค้าครบวงจรด้วย
"ซีพี" ดอดซื้อที่ดินตุนในมือ
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของภาคเอกชน หลังที่ประชุม กนพ.วันที่ 19 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งนายกฯและหัวหน้า คสช.เป็นประธาน ได้รับทราบจากการรายงานโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า เบื้องต้นมีผู้ประกอบการภาคเอกชนรายใหญ่สนใจลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ 4 ราย ได้แก่ 1.เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) 2.กลุ่มไทยเบฟฯ 3.กลุ่มสหพัฒน์ และ 4.กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมอมตะกรุ๊ป
ล่าสุด ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานผลการสำรวจพื้นที่เขตเศรษฐกิจว่า หลายจังหวัดมีเอกชนเข้ากว้านซื้อที่ดินแล้ว
ทั้งนี้ จากการสอบถามนายปรีชา รุ่งสว่าง หัวหน้าฝ่ายทะเบียน สำนักงานที่ดิน จ.ตาก สาขาแม่สอด ได้รับแจ้งว่าช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาราคาที่ดินใน อ.แม่สอด พุ่งสูงขึ้นมาก เนื่องจากมีการซื้อขายเก็งกำไรจำนวนมาก ปัจจุบันราคาก็ยังทรงตัวในระดับสูง อย่างทำเล ต.แม่สอด แม่ประ ท่าสายลวด เดิมไร่ละไม่ถึง 1 แสนบาทพุ่งขึ้นเป็น 4-5 แสนบาท/ไร่ ส่วนใหญ่เป็นจุดที่จะจัดถนน และการซื้อขายเปลี่ยนมือยังมีมากถึงขณะนี้
ส่วนเจ้าหน้าที่จากสำนักงานที่ดิน จ.สระแก้ว ระบุว่า เอกชนหลายรายเข้าไปสำรวจและหาซื้อที่ดินใน อ.อรัญประเทศ อ.วัฒนานคร ซึ่งเป็นที่ตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว รวมทั้ง อ.วังน้ำเย็น ซึ่งอยู่บริเวณใกล้เคียง อย่างกลุ่มซีพี และกลุ่มเบียร์ช้าง ล่าสุด กลุ่มซีพีเพิ่งจะซื้อและโอนที่ดินกว่า 700 ไร่ ที่ อ.วังน้ำเย็น ช่วงปลายปี 2557 ที่ผ่านมา
"สหพัฒน์" รอนโยบายชัด
นายบุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการบริษัท บมจ.สหพัฒนพิบูล เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทลงทุนสร้างเขตอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ ในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก หนึ่งในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษอยู่แล้ว เป็นโรงงานตัดเย็บเสื้อผ้า และตุ๊กตา ของบริษัทและบริษัทเครือรวม 3-4 โรงงาน หากมีความชัดเจนเรื่องสิทธิพิเศษอาจพิจารณาลงทุนเพิ่มเติมในพื้นที่เดิม รวมทั้งชักชวนให้บริษัทอื่นเข้าไปลงทุนด้วย
"ตอนนี้เรายังไม่ได้มองการซื้อที่เพิ่มสำหรับการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษพื้นที่อื่นด้วยปัญหาราคาที่ดินที่เพิ่มสูงขึ้น สำหรับพื้นที่แม่สอดเอง ปัจจุบันยังประสบปัญหาเรื่องของการขาดแคลนแรงงานอยู่"
พาณิชย์เดินหน้าหนุนค้าชายแดน
ขณะเดียวกันกระทรวงพาณิชย์ ขานรับนโยบายโดยจัดทำยุทธศาสตร์การค้าชายแดนในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยกำหนดให้เขตเศรษฐกิจพิเศษ อ.แม่สอด เป็นโครงการนำร่อง "แม่สอดโมเดล" โดยพัฒนาร่วมกันระหว่าง จ.ตาก กับเมืองเมียวดีให้เป็นเมืองคู่ค้า ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนการค้าชายแดนปี 2558 เป็น 1.5ล้านล้านบาท จากปี 2557 อยู่ที่ 1.1 ล้านล้านบาท
แหล่งข่าวจากกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ระหว่าง 28-29 ม.ค.นี้ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ จะร่วมหารือกับ รมว.พาณิชย์เมียนมาร์ พร้อมภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกำหนดแนวทางส่งเสริมความร่วมมือทางการค้า การลงทุน โลจิสติกส์ ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และเป็นสักขีพยานการลงนามแถลงการณ์ความร่วมมือ (Joint Statement) ด้านการค้า การลงทุน โลจิสติกส์ระหว่างภาคเอกชนไทย และเมียนมาร์ นอกจากนี้ จะจัดมหกรรมการค้าชายแดนนำเอกชนร่วมงานแสดงสินค้ากว่า 300 คูหาจากสภาหอการค้าเมียนมาร์และภาคเอกชนสินค้าส่งออก สินค้าโอท็อป แฟรนไชส์เป็นต้น
จากนั้นช่วงเดือน ก.พ.จะจัดคณะลงพื้นที่สำรวจความเห็นภาคเอกชนภาคใต้ เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากเขตเศรษฐกิจพิเศษพื้นที่ อ.สะเดา จ.สงขลา เพื่อรับฟังข้อมูลนำมาจัดทำยุทธศาสตร์การค้า และจัดกิจกรรมส่งเสริมภาคธุรกิจ
เปิดขอบเขต พท.เขต ศก.พิเศษ
สำหรับประกาศ กนพ. ฉบับที่ 1/2558 เรื่องกำหนดพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ได้ระบุขอบเขตพื้นที่จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษดังนี้ 1.ให้ท้องที่ ต.ท่าสายลวด ต.พระธาตุผาแดงต.แม่ภาษา ต.แม่ภู ต.แม่ดาว ต.แม่ปะ ต.แม่สอด และ ต.มหาวัน อ.แม่สอด ต.ช่องแคบ ต.พบพระ และ ต.วาเลย์ อ.พบพระต.ขะเนจื้อ ต.แม่จะเรา และ ต.แม่ระมาด อ.แม่ระมาด จ.ตาก เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษตาก
2.ให้ท้องที่ ต.คำอาฮวน ต.นาสีนวน ต.บางทรายใหญ่ ต.มุกดาหาร และ ต.ศรีบุญเรือง อ.เมืองมุกดาหาร ต.ชะโนดต.บางทรายน้อย ต.ป่งขาม และ ต.หว้านใหญ่อ.หว้านใหญ่ ต.ดอนตาล และ ต.โพธิ์ไทร อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร เป็น เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร
3.ให้ท้องที่ ต.ท่าข้าม ต.บ้านด่าน และ ต.ป่าไร่ อ.อรัญประเทศ และ ต.ผกชะอ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว
4.ให้ท้องที่ ต.สะเดา ต.สำนักขาม ต.สำนักแต้ว และ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสงขลา
5.ให้ท้องที่ต.คลองใหญ่ ต.ไม้รูด และ ต.หาดเล็กอ.คลองใหญ่ จ.ตราด เป็นเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราด
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 26 ม.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.