รายงาน โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยล่าสุด ณ สิ้นไตรมาส 3/2557 ที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงปรับเพิ่มขึ้น แตะที่ระดับ 10.22 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.86 แสนล้านบาทจากไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในมิติสัดส่วนต่อจีดีพีแล้ว จะพบว่าหนี้ครัวเรือนไทย ณ สิ้นไตรมาส 3/2557 อยู่ที่ระดับ 84.7% ต่อจีดีพี เทียบกับระดับ 83.5% ต่อจีดีพีในไตรมาส 2/2557 และ 82.3% ต่อจีดีพีในสิ้นปีก่อน โดยการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 3/2557 ที่ผ่านมา เป็นผลจากการขยายสินเชื่อของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ นำโดยสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยและสินเชื่ออเนกประสงค์ (อาทิ Car for cash) รองลงมาคือกลุ่มสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ซึ่งกลับมาเร่งปล่อยสินเชื่อมากขึ้น หลังมีความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายจากภาครัฐ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนไทยต่อจีดีพีในปี 2557 น่าจะจบสิ้นปีที่ระดับ 85.5% ต่อจีดีพี หรือเพิ่มขึ้นราว 3.2% ต่อจีดีพีจากปีก่อน ถือเป็นการเพิ่มขึ้นที่ชะลอลงเมื่อเทียบกับหลายปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นผลจากแรงกดดันของทั้งฝั่งอุปสงค์และอุปทาน
ในมุมอุปสงค์ของการกู้ยืมเงินของภาคครัวเรือน คาดว่าปรับลดลงจากเหตุผล 2 ประการ คือ
1) การเร่งเบิกใช้ไปในช่วงก่อนหน้า
2) ความเชื่อมั่นในการเบิกใช้สินเชื่อลดทอนลงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยในช่วงปีที่ผ่านมา
ในมุมของอุปทานจากสถาบันการเงิน เชื่อว่าเป็นผลจากการระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินให้เหมาะสมกับความสามารถในการชำระคืนหนี้ของผู้กู้ ซึ่งปัจจัยต่างๆ ข้างต้นล้วนแล้วแต่ทำให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยชะลอความร้อนแรงลงจากปีก่อนๆ
แนวโน้มปี 2558 หนี้ครัวเรือนยังขยับเพิ่ม
แนวโน้มหนี้ครัวเรือนไทยปี 2558 คาดว่าจะยังขยับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ภายใต้กรอบคาดการณ์หนี้ต่อจีดีพีที่ระดับ 88.0-89.0% โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวดีขึ้นและนโยบายเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายของรัฐบาล หนุนให้ระดับรายได้ กำลังซื้อ และความสามารถในการกู้ยืมของครัวเรือนขยับสูงขึ้นในทิศทางเดียวกัน
แต่ตัวเลขหนี้ที่ขยับสูงขึ้นไม่ได้บ่งชี้ว่าทุกครัวเรือนไทยกำลังเผชิญกับปัญหาหนี้สะสมรุนแรงโดยทัดเทียมกัน โดยครัวเรือนที่เผชิญปัญหาหนี้สินต่อรายได้ในระดับสูงมักกระจุกตัวในกลุ่มที่มีรายได้ค่อนข้างต่ำและไม่แน่นอน เช่น กลุ่มอาชีพลูกจ้างรายวัน กลุ่มเกษตรกร เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะเผชิญข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น จากภาระหนี้จ่ายและยอดหนี้สินคงค้างที่ค่อนข้างเต็มสัดส่วนต่อรายได้ ขณะที่การก่อหนี้ใหม่ของกลุ่มดังกล่าวคงเป็นไปเพื่อแก้ปัญหาค่าครองชีพ รับมือกับเหตุฉุกเฉินหรือแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเป็นหลัก ซึ่งคงไม่ใช่แรงหนุนที่ผลักดันการขยับขึ้นของสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีไทยในระยะถัดไป
จากกลุ่มรายได้ปานกลางถึงสูง
ส่วนการเติบโตของหนี้ครัวเรือนทั้งระบบที่ขยับขึ้น คาดว่าจะมีแรงหนุนหลักจากกลุ่มครัวเรือนรายได้ระดับปานกลางถึงสูง ที่ยังมีสถานะหนี้สินต่อรายได้อยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างดี เช่น ครัวเรือนที่มีตำแหน่งพนักงานระดับสูง ครัวเรือนที่ประกอบธุรกิจส่วนตัว เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวมีอำนาจในการซื้อสินค้าคงทนและมีความสามารถในการชำระหนี้คืนหนี้ ทำให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อของระบบการเงินได้อย่างไม่ติดข้อจำกัดด้านรายได้และความเสี่ยง คาดว่ากลุ่มนี้จะเป็นแรงขับเคลื่อนตัวเลขหนี้ครัวเรือนของทั้งระบบการเงินในระยะถัดไป หรือผลักดันให้หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีปี 2558 เติบโตแตะระดับ 88.0-89.0% ต่อจีดีพี
สินเชื่อที่เป็นตัวนำการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนในปี 2558 ได้แก่ สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่ออเนกประสงค์ และสินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจ นอกจากนี้ แรงส่งหนี้ครัวเรือนในปี 2558 อีกส่วนหนึ่งคงมาจากความพยายามของภาครัฐในการลดปัญหาหนี้นอกระบบ โดยสนับสนุนให้ครัวเรือนเข้าถึงบริการทางการเงินพื้นฐานมากขึ้น อาทิ การผลักดันนาโนไฟแนนซ์ การใช้สถาบันการเงินเฉพาะกิจเพื่อเป็นเครื่องมือในการถ่ายโอนหนี้นอกระบบเข้าสู่ระบบ เป็นต้น อันถือพัฒนาการทางการเงินที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อภาคครัวเรือนที่ได้รับสินเชื่อด้วยต้นทุนที่ถูกลง เทียบกับเงินกู้นอกระบบ
แบงก์-นอนแบงก์ ′เอาอยู่′ ไม่น่าห่วง
ผลกระทบจากการขยับขึ้นของหนี้ครัวเรือนสะสมต่อประเด็นคุณภาพสินทรัพย์ของระบบสถาบันการเงินในปี 2558 เชื่อว่าจะอยู่ในกรอบที่จำกัด เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ แม้ปัญหาหนี้ครัวเรือนสะสมจะส่งผลให้หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของผู้ประกอบการสินเชื่อภาคครัวเรือนเร่งตัวขึ้นในปี 2557 ดังสะท้อนให้เห็นจากอัตราส่วนหนี้เอ็นพีแอลต่อสินเชื่อรายย่อยรวมของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจมีแนวโน้มขยับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่ออเนกประสงค์ แต่เชื่อว่าคงเป็นแรงกดดันชั่วคราวจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ซึ่งทำให้ความสามารถในการคืนหนี้ของภาคครัวเรือนลดทอนลง ขณะที่เมื่อต่อภาพไปในปี 2558 แล้ว เชื่อว่าด้วยทิศทางเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ผนวกกับกลุ่มผู้ให้บริการสินเชื่อยังมีแนวโน้มระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อให้กับภาคครัวเรือน ทั้งการคัดกรองลูกค้าศักยภาพและการพิจารณาวงเงินสินเชื่อภายใต้ความสามารถในการชำระคืนหนี้ที่แท้จริง ซึ่งในที่สุดแล้วน่าจะช่วยให้คุณภาพสินเชื่อภาคครัวเรือนของระบบสถาบันการเงินในปี 2558 สามารถประคองตัวได้เมื่อเทียบกับปี 2557
ระยะยาวห่วงกระทบการออมโดมิโนถึง ศก.
โจทย์ท้าทายในระยะกลางถึงยาว หากแนวโน้มการเติบโตของหนี้ครัวเรือนสูงเหนือระดับจีดีพีคงได้แก่ ผลกระทบของหนี้ครัวเรือนต่อการออม แม้ในระยะสั้นผลกระทบจะอยู่ในกรอบที่จำกัด ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเชื่อว่าทิศทางการเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนในปี 2558 ที่ได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย คงทำให้ภาระหนี้จ่ายที่เพิ่มขึ้นไม่ส่งผลกระทบต่อระดับการออมของครัวเรือนอย่างเห็นได้ชัดเจนภายในปีนี้ อย่างไรก็ดี หากพิจารณาจากประสบการณ์ของต่างประเทศที่เผชิญกับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนเร่งตัวขึ้นเร็วแล้ว จะพบว่าระดับการออมของประเทศโดยเฉลี่ยมักมีแนวโน้มลดลงสวนทางกัน ซึ่งอาจสะท้อนนัยว่า หากแนวโน้มการเติบโตของหนี้ครัวเรือนไทยยังสูงเหนือระดับการเติบโตของจีดีพีอย่างต่อเนื่องแล้ว ฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนก็ย่อมจะมีความอ่อนไหวต่อความไม่แน่นอนในอนาคตมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเงินออมที่เป็นกันชนทางการเงินของครัวเรือนมีทิศทางลดลงตามลำดับ และอาจกระทบทางอ้อมต่อการบริโภคของครัวเรือนซึ่งผูกโยงกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ อาทิ การลงทุนภาคเอกชน สภาพคล่องของระบบการเงินในประเทศ ตลอดจนคุณภาพสินทรัพย์ของสถาบันการเงิน ซึ่งล้วนแล้วแต่สร้างความอ่อนไหวให้กับระบบเศรษฐกิจและการเงินไทยในระยะยาว
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 18 ม.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.