12 ม.ค.58 นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรฯ เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้เตรียมแผนการลดหนี้สินเกษตรกร เสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ จะสั่งการให้หน่วยงานเกี่ยวข้องรีบดำเนินการโดยเร็วที่สุด ในการตรวจสอบคุณสมบัติของเกษตรกรที่อยู่ในเงื่อนไขลดหนี้ โดยเป้าหมายให้กับเกษตรกรที่มีหนี้ค้างชำระและไม่ก่อให้เกิดรายได้ประมาณ 4 พันล้านบาท ในโครงการและกองทุนต่างๆ ในกำกับของกระทรวงฯ โดยอาจจะมีทั้งการยกหนี้บางส่วนให้และบางส่วนอาจตัดยอดหนี้ ซึ่งหนี้สินเกษตรกรมี 3 ส่วน คือ หนี้ที่ติดอยู่กับกองทุนต่างๆ ของกระทรวงฯ , หนี้ที่ติดอยู่กับสถาบันการเงิน และหนี้ที่ติดอยู่กับบุคคลภายนอก
ทั้งนี้ จะแยกหนี้ออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มที่จะตัดเป็นหนี้สูญ 2.กลุ่มที่จะมีการตัดยอดหนี้บางส่วน โดยกลุ่มที่กระทรวงเกษตรฯ จะเสนอให้ตัดเป็นหนี้สูญ ประกอบด้วย เกษตรกรที่เป็นหนี้จากโครงการส่งเสริมหรือสงเคราะห์ของรัฐที่ไม่ประสบความสำเร็จ , กรณีภัยพิบัติธรรมชาติ , ปัญหาความไม่สงบชายแดนภาคใต้ , หนี้ขาดอายุความ , หนี้ค้างชำระเป็นระยะเวลาเกินกว่า 10 ปีขึ้นไป , หนี้ที่ไม่สามารถติดตามทรัพย์เพื่อดำเนินการบังคับคดีได้ , ผู้กู้ยืมเงินเสียชีวิต หายสาบสูญ หาตัวไม่พบ หรือละทิ้งถิ่นที่อยู่ , เกษตรกรผู้กู้ยืมเงินชราภาพทุพพลภาพ วิกลจริต หรือเจ็บป่วยเรื้อรัง , ลูกหนี้ผู้กู้ยืมเงินมีรายได้น้อย หรือไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ และหนี้สินเกษตรกรผู้กู้ยืมเงินมาจำนวนต้นเงินกู้ไม่เกิน 1 - 3 แสนบาท
"หากหนี้ที่เกษตรกรถืออยู่ไม่สามารถดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดได้ ผมคิดว่าก็ต้องปรับเป็นหนี้สูญ ส่วนกองทุนต่างๆ ของกระทรวงเกษตรฯ มีกฎเกณฑ์การตัดหนี้สูญที่ต่างกันไป ซึ่งขั้นตอนการดำเนินการมีการวางแผนไว้แล้ว ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปดูว่าลูกหนี้เกษตรกรของตัวเองเข้าเกณฑ์เหล่านี้หรือไม่ แล้วจึงนำมาเสนออีกครั้ง" นายปีติพงศ์ กล่าว
รมว.เกษตรฯ กล่าวต่อว่า นโยบายลดยกเลิกหนี้ไม่ใช่นโยบายประชานิยม แต่เมื่อเกษตรกรไม่สามารถชำระหนี้ได้ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องหาทางดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง คิดว่าหลายคนที่เคยเป็นหนี้ก็มีความรู้สึกอย่างเดียวกัน หากไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ เช่น ชราภาพแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลที่จะหาว่าเป็นประชานิยม แต่ว่าเป็นเรื่องความจริงของเกษตรกรทั่วไป
ในส่วนสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) รายงานข้อมูลหนี้สินของเกษตรกรไทย เช่น หนี้กับกองทุนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรฯ เช่น กองทุนพัฒนาสหกรณ์ , กองทุน ส.ป.ก. , กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร มีมูลหนี้ประมาณ 9,000 ล้านบาท เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มากถึงร้อยละ 42 หนี้ที่ขึ้นทะเบียนกับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร มีมูลหนี้ 79,000 ล้านบาท เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ร้อยละ 35 หนี้ที่มีอยู่กับสมาชิกสหกรณ์ภาคเกษตร มีมูลหนี้ทั้งหมด 110,000 ล้านบาท เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ร้อยละ 22 และหนี้เกษตรกรกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ พบว่ามีหนี้เสียร้อยละ 3 - 4
ที่มา : แนวหน้า วันที่ 12 ม.ค. 2558