15 ม.ค.2558 คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ยกเลิกกฎอัยการศึก โดยระบุว่า แผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2557 และคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 และ 66/2557 เรื่องการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ส่งผลให้ชาวบ้านจำนวนมากที่อาศัยอยู่ในที่ดินของรัฐถูกดำเนินคดี ขณะที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้และทหารมักอ้างกฎอัยการศึกในการบังคับ ขับไล่ชาวบ้านออกจากที่ดินโดยทันที นอกจากนี้ ยังพบว่ามีการเลือกปฏิบัติในการทวงคืนผืนป่า โดยยึดคืนเฉพาะที่อยู่อาศัยและทำกินของเกษตรกรรายย่อยที่ยากไร้ แต่ไม่แตะต้องพื้นที่สัมปทานเหมืองแร่ พลังงาน และอุตสาหกรรมของนายทุนที่รุกผืนป่า
อนึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ขณะนั้น) ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 จนปัจจุบัน
จนท.ทหารปฏิบัติการร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้และข้าราชการ จ.บุรีรัมย์
ไล่รื้ออพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ป่าดงใหญ่ ต.โนนดินแดง อ.โนนดินแดง
แฟ้มภาพ: ประชาไท (ก.ค.2557)
แถลงการณ์
“ยกเลิกกฎอัยการศึก หยุดนโยบายและแผนเพื่อไล่รื้อคนจนออกจากที่ดินทำกิน”
ในยุคข้าวยากหมากแพงเช่นที่เป็นอยู่ ณ เวลานี้ แผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2557 และคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 และ 66/2557 เรื่องการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ ยิ่งตอกย้ำซ้ำเติมความทุกข์ยากจากการไร้ที่ดินทำกินของประชาชนในภาคอีสานมากยิ่งขึ้น เป็นการซ้ำเติมวิกฤติเศรษฐกิจในระดับปากท้องของครัวเรือนทบทวี
ท่ามกลางการแจกจ่ายเพิ่มเงินบำเหน็จบำนาญข้าราชการและงบซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพและหน่วยงานความมั่นคง กลับพบว่ามีเกษตรกรรายย่อยซึ่งมีฐานะยากจนถูกดำเนินคดีจากนโยบายขอคืนพื้นที่ป่าแล้ว 103 ราย ซึ่งกำลังเป็นที่วิตกกังวลว่าพวกเขาเหล่านั้นจะกลายเป็นผู้ไร้ที่ดินทำกินหากแพ้คดีจากการพิจารณาของศาล อยู่ระหว่างถูกออกหมายเรียกตัวให้มารับทราบข้อกล่าวหาเพื่อยึดคืนพื้นที่ทำกินอีก 1,764 ครอบครัวที่กระจายตัวอยู่ในจังหวัดสกลนคร ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ซึ่งขณะนี้ถูกห้ามไม่ให้เข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกินแล้ว
ในส่วนของภาพรวมทั้งประเทศ หากมีการปฏิบัติการตามแผนแม่บทฯ และคำสั่ง คสช. ทั้งสองฉบับ จะเกิดการบังคับให้อพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่ป่าทั้งหมด 1,253 พื้นที่ รวม 8,148 หมู่บ้าน แบ่งเป็น ภาคอีสาน 352 พื้นที่ 2,300 หมู่บ้าน ภาคเหนือ 253 พื้นที่ 5,200 หมู่บ้าน ภาคใต้ 468 พื้นที่ 1,080 หมู่บ้าน และภาคกลาง 180 พื้นที่ 920 หมู่บ้าน จากข้อมูลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีประชากรอยู่ในพื้นที่ป่าไม่น้อยกว่า 750,622 ครอบครัว แต่ข้อมูลของรัฐฝ่ายความมั่นคงที่รวมประชากรแฝงและไม่ลงทะเบียนด้วยมีไม่น้อยกว่า 1,164,000 ครอบครัว
คำถามสำคัญคือ รัฐจะบังคับอพยพชาวบ้านทั้งหมดนี้ไปไว้ที่ไหน? เมื่อบังคับอพยพชาวบ้านออกมาแล้วจะทำให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่หายจากความยากจนหรือผู้ยากไร้ได้จริงหรือ?
ข้อมูลที่น่าสนใจ ณ เวลานี้ ในส่วนของภาพรวมทั้งประเทศ แผนแม่บทฯ และคำสั่ง คสช. ทั้งสองฉบับ ส่งผลให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในที่ดินของรัฐเป็นจำนวนมากถูกดำเนินคดีแล้ว ในข้อหามีไม้ไว้ในครอบครองมากกว่า 500 คดี ในจำนวนคดีดังกล่าวคิดเป็นคดีของนายทุนเพียง 10 ราย ที่เหลือเป็นคดีของเกษตรกรรายย่อยทั้งหมด ทั้งๆ ที่เกษตรกรรายย่อยเหล่านั้นไม่เกี่ยวข้องกับขบวนการค้าไม้แต่อย่างใด การยัดข้อหาเช่นนี้เป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่รัฐที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของแผนแม่บทฯ และคำสั่ง คสช. ทั้งสองฉบับที่ระบุว่าการดำเนินการใดๆ ต้องไม่กระทบต่อผู้ยากไร้และผู้ที่อยู่ในพื้นที่นั้นก่อนวันที่ 17 มิถุนายน 2557 แต่อย่างใด
นอกจากความรุนแรงที่ผ่านมาบนเทือกเขาภูพานเมื่อเดือนมิถุนายน 2557 หลังรัฐประหารได้ประมาณหนึ่งเดือน มีกองกำลังผสมของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ทหารและตำรวจตัดทำลายต้นยางของชาวบ้าน 18 ครอบครัว บนเนื้อที่กว่า 383 ไร่ ในพื้นที่หมู่บ้านโนนเจริญ อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร และเมื่อเดือนตุลาคม 2557 มีชาวบ้าน 37 ราย ในหมู่บ้านจัดระเบียบป่าไม้ถูกจับกุมและควบคุมตัวในข้อหาเข้าครอบครองและตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเขตอำเภอและจังหวัดเดียวกันกับกรณีแรก และกรณีชุมชนบ้านเก้าบาตร ตำบลลำนางรอง อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ หนึ่งในชุมชนกรณีสวนป่าโนนดินแดง ที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้และทหารกดดันให้ 40 ครอบครัว ประมาณ 160 คน ออกจากที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินจนทำให้ชุมชนล่มสลายหมดสิ้น ล่าสุดชุมชนโคกยาว ตำบลทุ่งลุยลาย อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ จำนวน 33 ครอบครัว ประมาณ 100 คน กำลังถูกยัดเยียดข้อเสนอจากเจ้าหน้าที่ทหารให้อพยพห่างไปจากพื้นที่ทำกินเดิมประมาณ 45 กิโลเมตร
ความรุนแรงเหล่านี้กำลังแผ่ขยายลุกลามดุจเชื้อร้าย ลำพังแผนแม่บทฯ และคำสั่ง คสช. ทั้งสองฉบับ หากตีความตามลายลักษณ์อักษรก็ยังมีช่องทางที่จะผสานความร่วมมือระหว่างรัฐกับประชาชนเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนได้ แต่ทุกๆ ครั้งที่เจ้าหน้าที่ป่าไม้และทหารปฏิบัติการมักอ้างกฎอัยการศึกเพื่อกดขี่ บังคับ ขับไล่ชาวบ้านออกจากที่ดินทันทีโดยไม่สนใจเนื้อหาในแผนแม่บทฯ และคำสั่ง คสช. ทั้งสองฉบับแต่อย่างใด
ด้วยวัฒนธรรมอำนาจนิยมเยี่ยงนี้จึงไม่มีกระบวนการที่ให้ความเป็นธรรมในการพิสูจน์สิทธิ หรือให้สิทธิประชาชนในการนำเสนอข้อมูล แต่ใช้กฎอัยการศึกมาอ้างเพื่อปฏิบัติการเด็ดขาดกับชาวบ้านที่ยากไร้เสมือนกับพวกเขาเหล่านั้นเป็นศัตรูของรัฐหรือเป็นภัยต่อความมั่นคงอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นปัญหามากในการละเมิดสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ ยังมีการเลือกปฏิบัติในการทวงคืนผืนป่าในลักษณะสองมาตรฐาน เพราะมีการยึดคืนเฉพาะที่อยู่อาศัยและทำกินของเกษตรกรรายย่อยที่ยากไร้ แต่ไม่มีการแตะต้องพื้นที่สัมปทานเหมืองแร่ พลังงาน และอุตสาหกรรมของนายทุนที่รุกผืนป่าแต่อย่างใด ซึ่งเป็นการสร้างความไม่ยุติธรรมในการเข้าถึงฐานทรัพยากรธรรมชาติ
ไม่เว้นแม้แต่ขบวนเดินเพื่อสายน้ำของชาวบ้านลุ่มน้ำชีเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมา ที่ทหารอ้างกฎอัยการศึกสั่งหยุดเดินเพื่อศึกษาเรียนรู้และศึกษาเส้นทางน้ำของขบวนพระสงฆ์ นักเรียน ครูและชาวบ้านลุ่มน้ำชีในเขตจังหวัดยโสธรและร้อยเอ็ด
ความรุนแรงเหล่านี้กำลังแผ่ขยายลุกลามดุจเชื้อร้ายจากการใช้กฎอัยการศึกและอาวุธปืนกดหัวชาวบ้านไว้ ในขณะที่แผนแม่บทฯ ดังกล่าวกำลังถูกผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติและเข้าสู่กระบวนการของบประมาณผูกพัน 10 ปี เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท อย่างไม่โปร่งใสไร้การตรวจสอบและเปิดเผยต่อสาธารณะ ในทางตรงข้าม ความรุนแรงดังกล่าวกำลังปลุกขบวนประชาชนต่อต้านโครงการจัดสรรที่ดินทำกินให้แก่ราษฎรผู้ยากไร้ หรือ คจก. ในยุครัฐประหาร รสช. เมื่อปี 2534 ขึ้นมาอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ ขบวนประชาชนอีสานที่ประสบปัญหาจากการถูกรุกไล่ออกจากพื้นที่ป่าตามแผนแม่บทฯ และคำสั่ง คสช. ทั้งสองฉบับ ภายใต้กฎอัยการศึกที่กดหัวไว้ จะร่วมมือกับขบวนประชาชนในประเด็นปัญหาอื่นๆ ในภาคอีสาน เพื่อขับเคลื่อนปัญหาชาวบ้านไปด้วยกัน
โดยมีข้อเสนอในเบื้องต้น ดังนี้
1. ขอให้ยกเลิกการประกาศใช้กฎอัยการศึกโดยเด็ดขาด เพื่อเปิดทางให้ประชาธิปไตยกลับคืนมาสู่บ้านเมืองโดยเร็ว
2. ขอให้หยุดยั้งทุกนโยบาย แผนงานและโครงการที่มีผลกระทบต่อป่าไม้ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และยกเลิกทุกโครงการสัมปทานแก่ภาคเอกชนที่อยู่ในเขตพื้นที่ป่า และนำคืนมาสงวนไว้เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน
3. ขอให้หยุดแสวงหาผลประโยชน์บนความทุกข์ยากของประชาชนด้วยวาระซ่อนเร้นจากการนำแผนแม่บทฯ ไปของบประมาณแผ่นดินผูกพัน 10 ปี เป็นจำนวนเงินไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท
4. ขอให้ปรับใช้แผนแม่บทฯ และคำสั่ง คสช. ทั้งสองฉบับดังกล่าว ตรวจสอบและกำจัดกลุ่มทุน ข้าราชการและนักการเมืองที่บุกรุกพื้นที่ป่าหรือที่ดินของรัฐอย่างเข้มงวดกวดขัน ไม่ใช่ดำเนินการสองมาตรฐานด้วยการจับกุมดำเนินคดีต่อชาวบ้านผู้ยากไร้แต่เพียงฝ่ายเดียว
ด้วยความเคารพ
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน)
15 มกราคม 2558
ที่มา : ประชาไท วันที่ 15 ม.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.