เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัดตรัง-พัทลุง-นครศรีธรรมราช ออกแถลงการณ์เรียกร้องรัฐบาลแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ และขอให้นิยามคนรับจ้างกรีดยางถือว่าเป็นเกษตรกรสวนยาง ตามร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทยด้วย
9 ม.ค. 2558 - เมื่อเวลา 13.00 น. วานนี้ (8 ม.ค.) หน้าโรงแรมธรรมรินทร์ธนา อ.เมือง จ.ตรัง เครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ตรัง-พัทลุง-นครศรีธรรมราช อ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนและข้อเสนอกรณีปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ต่อหน้าสื่อมวลชน โดยมีชาวบ้านสมาชิกเครือข่ายถือป้ายรณรงค์ระหว่างการอ่านแถลงการณ์
นายเกียรติก้อง เส็นฤทธิ์ เลขานุการเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด เป็นผู้แถลง ความว่า จากสถานการณ์ราคายางพาราตกต่ำส่งผลให้แกษตรกรสวนยางพาราประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างรุนแรง รายได้ไม่พอกับรายจ่าย หนี้สินล้นพ้นตัว ต้องตกเป็นผู้ผิดนัด ถูกฟ้องบังคับคดี ที่ดินหลุดมือและต้องกลายเป็นบุคคลล้มละลายในที่สุด ถือว่าเป็นสัญญาณอันตรายต่อเศรษฐกิจมหาภาคทั้งระบบอีกด้วย การออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราของรัฐบาลปัจจุบันกลับไร้ผล มิได้กระตุ้นให้ราคายางพาราในท้องตลาดสูงขึ้นแต่ประการใด แต่ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากงบประมาณ 2 หมื่นล้านบาท คือ กลุ่มพ่อค้านายทุนเพียงกลุ่มเดียว สวนเกษตรกรชาวสวนยางจึงตกอยู่ในภาวะจำยอมและเป็นตัวประกันทางการเมืองตลอดมา
"ดังนั้นพวกเราในนามเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัดจังหวัด ตรัง พัทลุง และนครศรีธรรมราช ถือเป็นองค์กรสาธารณะที่ใช้อำนาจทางการเมืองทางตรงมากว่า 14 ปี นับตั้งแต่ พ.ศ.2543 เพื่อแก้ปัญหาปากท้องของเกษตรกรรายย่อย ที่ไม่ยึดโยงกับอำนาจใดๆ ทางการเมืองในระบบ พวกเราจึงไม่อาจเพิกเฉยต่อปัญหาดังกล่าวข้างต้นได้ และถือเป็นภารกิจสำคัญของเครือข่ายฯ ซึ่งได้ติดตามความคืบหน้าด้านนโยบายของรัฐมาโดยตลอด เช่น ร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย พ.ศ....หรือการจัดตั้งกองทุนฉุกเฉินช่วยเหลือเกษตรกร เป็นต้น ทั้ง 2 กรณีดังกล่าวพวกเราเห็นด้วยในหลักการที่อาจเป็นเครื่องมือสำคัญในการบรรเทาปัญหาให้แก่เกษตรกรชาวสวนยางและผู้เกี่ยวก้องอย่างยั่งยืน แต่อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าด้านราคายางพาราของรัฐบาล ณ ปัจจุบันถือว่าล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง"
"พวกเราจึงขอแสดงจุดยืนและมีข้อเสนอต่อรัฐบาล ดังต่อไปนี้
1.เรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำโดยเร่งด่วน ในราคากิโลกรัมละ 80 บาท
2.ให้รัฐบาลและกลไกของรัฐแสดงท่าทีต่อเกษตรกรชาวสวนยางที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องปัญหาความเดือดร้อนที่แท้จริง เคารพสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วยท่าทีประนีประนอมและมีความจริงใจ
3.พร้อมสนับสนุนการเคลื่อนไหวในฐานะแนวร่วมกับทุกภาคีภายใต้ปัญหาความเดือดร้อนแท้จริง และขอสงวนสิทธิ์ที่จะไม่เข้าร่วมหากปรากฏว่า เป้าหมายการเรียกร้องนั้นหวังผลเพื่อการเมืองในเชิงอำนาจ
4.สนับสนุนการกำหนดนิยามคำว่าเกษตรกรชาวสวนยางในร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทยฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.... ให้รวมถึงคนตัดยางหวะ (รับจ้างกรีดยาง) ด้วย และสนับสนุนการจัดตั้งกองทุนฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางพาราในยามปิดหน้ายาง โค่นยางเก่าเพื่อปลูกยางใหม่ ประสบภัยพิบัติฯลฯ"
ทั้งนี้พวกเราพร้อมที่จะแสดงตนเพื่อกำหนดท่าทีและติดตามความคืบหน้ากรณีนี้อย่างต่อเนื่อง” นายเกียรติก้อง ระบุ
ที่มา : ประชาไท วันที่ 9 ม.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.