เศรษฐีแห่โอนที่ดินหนีภาษีมรดก กรมที่ดินเผยยอดโอนเพิ่มขึ้น 20-30% ส่วนราคาเฉลี่ยทั่วประเทศเพิ่ม 20%
เขตเศรษฐกิจพิเศษพุ่ง 100% ด้านกรมธนารักษ์ เตรียมประเมินราคาทรัพย์สินใหม่ เตรียมรองรับภาษี"ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง" ขณะธุรกิจอสังหาฯเผยมีคนเสนอขายที่ดินเพิ่ม ส่งผลราคาไม่ขยับมาก
การโอนทรัพย์สินเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีเริ่มเกิดขึ้น หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบร่างกฎหมายภาษีการรับมรดกและภาษีการรับการให้ ตามนโยบายลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) โดยคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมิ.ย.นี้
หากกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะทำให้ผู้รับมรดก 10% ในส่วนที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท ขณะที่การให้กันเสียภาษี 5% ในส่วนที่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านี้มีความกังวลเช่นกันว่าจะมีการเร่งโอน รวมทั้งหาวิธีหลีกเลี่ยงภาษี
นายสมคิด ศริ ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพกรมที่ดิน กล่าวว่าในช่วงตั้งแต่เดือนต.ค.-ธ.ค. มียอดโอนที่ดินไปยังลูกหลานของบรรดาเศรษฐีที่ดินทั้งมีชื่อเสียงและไม่มีชื่อเสียง เพิ่มกว่าช่วงปกติ 20-30% ส่วนใหญ่จะเป็นการโอนที่ดินในเขตกทม.เป็นจำนวนมาก และมีมูลค่าที่ดินในการโอนแต่ละแปลงหลายร้อยล้านบาท ทำให้สำนักงานที่ดินบางแห่ง เจ้าหน้าที่ต้องทำงานถึง 21.00 น. เพื่อให้ทันกับการโอนของประชาชน
"กรมที่ดินประเมินจากพฤติกรรมการโอนได้ว่า ต้องการหลีกเลี่ยงภาษีมรดก" นายสมคิด กล่าว
การเร่งโอนดังกล่าวถือว่าเกิดขึ้นก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้ ซึ่งขณะนี้รัฐบาลยังร่างกฎหมายอีก คือ ร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยล่าสุดกรมธนารักษ์เตรียมทำการประเมินที่ดิน เพื่อให้ทันใช้หากกฎหมายมีผลบังคับใช้
ก่อนหน้านี้ นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง หวังว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะทำให้รายได้ภาครัฐเพิ่มขึ้น นอกจากสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม
วานนี้ (7 ม.ค.) มีการลงนามบันทึกบันทึกข้อตกลงระหว่าง กรมที่ดินกับกรมธนารักษ์ ว่าด้วยการขอใช้ข้อมูลที่ดินเพื่อการจัดทำบัญชีกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ พ.ศ. 2558
นายนริศ ชัยสูตร อธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวว่าการจัดทำบัญชีกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ เพื่อรองรับการขยายพื้นที่การประเมินราคาที่ดินรายแปลงครอบคลุมทั้งประเทศ รองรับร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
ทั้งนี้ กรมธนารักษ์จะขอใช้ข้อมูลแผนที่ ข้อมูลทะเบียนที่ดิน ข้อมูลอาคารชุด รวมทั้ง ข้อมูลการซื้อขายเพื่อการวิเคราะห์กำหนดราคาประเมิน ก่อนจัดทำบัญชีกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์ส่งให้กรมที่ดินใช้ในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม
นายนริศ กล่าวด้วยว่า สำหรับการประเมินราคาที่ดินรายแปลง ขณะนี้กรมฯ สามารถดำเนินการได้ประมาณ 8 ล้านแปลงทั่วประเทศ และมีแผนที่จะดำเนินการประเมินทั้งหมดให้แล้วเสร็จ ก่อนที่ร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีผลบังคับใช้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการจัดทำแผนที่ภาพถ่ายดาวเทียมของที่ดินทั้งประเทศ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมที่ดินว่า จะสามารถส่งข้อมูลมาให้กรมฯได้ตามระยะเวลาหรือไม่
"กรมที่ดินได้จัดทำแผนที่ข้อมูลที่ดินดังกล่าวได้แล้ว 15 ล้านแปลงทั่วประเทศ"
ราคาที่ดินทั่วประเทศเฉลี่ยเพิ่ม20%
ด้านนายสมคิด ศริ ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพกรมที่ดินกล่าวว่า เท่าที่เก็บข้อมูลของราคาซื้อขายที่ดินในช่วงที่ผ่านมาพบว่า ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 20% ส่วนพื้นที่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษ อาทิ อำเภอ แม่สอดจังหวัดตากนั้นมีราคาเพิ่มขึ้นกว่า 100%
นอกจากนี้ ราคาที่ดินตามแนวรถไฟฟ้าและบริเวณถนนที่ตัดใหม่พบว่า ปรับขึ้นมากเช่นกัน ซึ่งการเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินทำให้ค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 20%
ในปีงบ 2557 กรมที่ดินจัดเก็บรายได้จากค่าธรรมเนียมการโอนที่ดินได้ถึง 3 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้จัดเก็บรายได้ของกรมฯรวมอยู่ที่ 7-8 หมื่นล้านบาท และคาด ในปีนี้รายได้และค่าธรรมเนียมอยู่ที่ 8-9 หมื่นล้านบาท
เศรษฐีเร่งโอนให้ทายาท
นายอิสระ บุญยัง กรรมการผู้จัดการ บริษัท กานดา พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด กล่าวว่า สาเหตุที่มีการโอนที่ดินเพิ่มมากขึ้นในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เนื่องจากผู้ที่มีการถือครองที่ดินเป็นจำนวนมาก ต้องการเร่งการโอนที่ดินไปให้ทายาท ก่อนที่ภาษีมรดกจะมีผลบังคับใช้ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีความเป็นไปได้ที่จะออกมาบังคับใช้ ที่ปัจจุบันมีความคืบหน้าไปมากกว่าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
"หากเป็นภาวะปกติ หากไม่มีการเก็บภาษีมรดก ก็จะคงไม่มีการเร่งโอนที่ดิน"
คนแห่ขายที่ดินเพิ่มขึ้น
ด้านนายพีระพงศ์ จรูญเอก กรรมการบริหาร บริษัท ออริจิ้น พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าหลังจากรัฐบาลเตรียมจัดเก็บภาษีมรดก ส่งผลให้เศรษฐีทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ทยอยขายทรัพย์สินที่เป็น “ที่ดิน” มากขึ้น โดยข้อมูลที่ได้รับพบว่า มีเจ้าของที่ดินในจังหวัดชลบุรี เสนอขายที่ดินขนาด 14 ไร่ ให้บริษัทในราคา 200 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่ายังไม่เข้าใจกับกฎหมายภาษีมรดกมากนัก และกังวลกับการจัดเก็บภาษีดังกล่าว
นอกจากนี้ การขายที่ดินเพื่อนำเงินหรือมรดกมาแบ่งกัน ก็อาจทำให้มูลค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาท และไม่ต้องเข้าข่ายในการเสียภาษี
คนขายที่ดินเพิ่ม ฉุดราคาไม่ขยับ
นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีมรดกจะทำให้ประชาชนที่มีทรัพย์สินอยู่จำนวนมาก ได้รับแรงกดดัน โดยเฉพาะการนำที่ดินออกมาขายเร็วขึ้น โดยช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา มีผู้เสนอขายที่ดินให้บริษัทมากขึ้น ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวยังส่งผลให้ราคาที่ดินไม่ขยับตัวสูงขึ้นเร็วมากนัก
“ภาษีที่ดินเป็นปัจจัยที่ผลักดันให้คนแทนที่จะถือที่ดินไว้ ก็นำออกมาขายแล้วแบ่งสมบัติกันง่ายกว่า ซึ่งภาพรวมของกฎหมายภาษีมรดกไม่กระทบคนที่มีที่ดินจำนวนมากๆ แม้กระทั่งคนต่างจังหวัด หากถือที่ดินเยอะๆ มีความรู้เรื่องภาษีดีอยู่แล้ว แต่คนที่ถืออยู่ตอนนี้ก็จะนำออกมาขาย และข้อดีคือทำให้ราคาที่ดินไม่ต้องวิ่งขึ้นเร็วมากนักเหมือนที่ผ่านมา”
เขากล่าวอีกว่า การจัดเก็บภาษีมรดก ยังอาจส่งผลให้เกิดการนำทรัพย์สินออกไปนอกประเทศ เช่น หมู่เกาะเคย์แมน, ฮ่องกง, สิงคโปร์ โดยอยู่ในรูปแบบการลงทุนในกองทรัสต์ ซึ่งจะทำให้เกิดเงินทุนไหลออกในระยะสั้น
นอกจากนี้ บรรดาเศรษฐีที่มีที่ดินมรดกจำนวนมาก ก็อาจจะตั้งบริษัทนิติบุคคล เพื่อนำทรัพย์สินเข้าไปบริหารจัดการ
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 8 ม.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.