การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นัดส่งท้ายปีมะเมีย วันที่ 19 ธ.ค. 2557 ที่ประชุมได้ลงมติวาระที่ 3 เห็นสมควรให้ ร่าง พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. ... ซึ่งเสนอโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมาย กำหนดกฎกติกาทวงหนี้ให้เหมาะสมเป็นธรรมมากขึ้น จากเดิมที่เจ้าหนี้มักทวงหนี้ตามอำเภอใจ โดยไม่คำนึงถึงคุณธรรมและหลักมนุษยธรรม
เป็นการมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้กับลูกหนี้ แม้ตามขั้นตอนกระบวนการแล้วกว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ ต้องพ้น 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือราวเดือน ก.ค.-ส.ค. 2558
สาระสำคัญของกฎหมายการทวงถามหนี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการควบคุมดูแลพฤติกรรมการทวงหนี้โหด ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของลูกหนี้อย่างรุนแรง กำหนดให้ รมว.คลัง เป็นผู้รักษาการตามกฎหมาย โดยมีอำนาจออกกฎกระทรวง และประกาศต่าง ๆ ภายใต้กฎหมายฉบับนี้
ขณะเดียวกันก็นิยามคำว่า "ผู้ทวงถามหนี้" ให้หมายความรวมถึงผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ และผู้รับมอบอำนาจจากผู้ประกอบกิจการทวงถามหนี้ ขณะเดียวกันก็กำหนดนิยามคำว่า "ลูกหนี้" ให้รวมถึงบุคคลธรรมดา ผู้ค้ำประกันหนี้ และกำหนดความหมายคำว่า "ผู้ให้สินเชื่อ" ให้ครอบคลุมถึงนิติบุคคลที่รับซื้อหรือรับโอนสินเชื่อไปบริหารจัดการด้วย
กฎกติกาการทวงถามหนี้ตามกฎหมายใหม่ นอกจากกำหนดให้ผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ต้องจดทะเบียนประกอบธุรกิจทวงถามหนี้แล้ว ยังต้องปฏิบัติตามระเบียบข้อกฎหมายที่คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ ซึ่งจะจัดตั้งขึ้นโดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน จะกำหนดเพื่อควบคุมดูแลการทวงถามหนี้แล้วยังต้องปฏิบัติหรืองดเว้นปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมาย
อาทิ ห้ามทวงถามหนี้จากบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ลูกหนี้ เว้นแต่บุคคลที่ลูกหนี้มอบอำนาจ ผู้ทวงถามหนี้ต้องแจ้งชื่อ สกุล ชื่อหน่วยงาน ไม่แจ้งถึงความเป็นหนี้ของลูกหนี้ ห้ามใช้ภาษา สัญลักษณ์ ชื่อทางธุรกิจบนซองจดหมาย หนังสือ หรือสื่ออื่นใด ที่ทำให้เข้าใจว่ามาทวงถามหนี้ ฯลฯ
การต้องแจ้งลูกหนี้ทราบถึงชื่อผู้ให้สินเชื่อ และจำนวนหนี้ที่ลูกหนี้เป็นหนี้ ต้องแสดงหลักฐานการรับมอบอำนาจให้รับชำระหนี้ และออกหลักฐานการชำระหนี้เมื่อลูกหนี้ชำระหนี้แก่ผู้ทวงถามหนี้แล้ว เป็นต้น
ที่สำคัญกฎหมายกำหนดข้อห้ามในการทวงถามหนี้ อาทิ ต้องไม่กระทำการในลักษณะข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ใช้วาจาหรือภาษาในลักษณะเป็นการดูหมิ่นหรือเสียดสีลูกหนี้หรือผู้อื่น ห้ามเปิดเผยความเป็นหนี้แก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง หรือการทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสมในลักษณะอื่นตามที่คณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้จะประกาศกำหนด
ห้ามทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เป็นธรรม โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายใด ๆ เกินกว่าที่คณะกรรมการกำหนด ห้ามเสนอหรือจูงใจให้ลูกหนี้ออกเช็คทั้งที่รู้อยู่ว่าลูกหนี้อยู่ในฐานะที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ เป็นต้น
น่าจะเป็นกฎเหล็ก กำราบเจ้าหนี้ กับแก๊งทวงหนี้โหดให้เกรงกลัวกฎหมายได้บ้าง แม้อาจไม่ถึงขั้นควบคุมดูแลได้ร้อยเปอร์เซ็นต์
ส่วนใครที่ฝ่าฝืน จะได้รับโทษตามกฎหมาย ซึ่งได้กำหนดบทลงโทษไว้หลายระดับ ทั้งโทษทางปกครอง โทษทางอาญา เช่น ใช้มาตรการบังคับทางปกครองสำหรับการกระทำความผิด่ไม่ร้ายแรง อย่างการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ ซึ่งคณะกรรมการอาจพิจารณาออกคำสั่งลงโทษปรับทางปกครอง สั่งเพิกถอนการจดทะเบียนของผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ เป็นต้น
สำหรับโทษทางอาญา จะลงโทษกับผู้ที่แจ้งถึงความเป็นหนี้ของลูกหนี้แก่บุคคลอื่น การใช้ข้อความ เครื่องหมาย สัญลักษณ์ ฯลฯ ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการติดต่อลูกหนี้เพื่อทวงถามหนี้ การข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ใช้วาจา หรือภาษาดูหมิ่น ถากถาง เสียดสี โดยจะมีโทษทั้งปรับและจำคุก
มียันต์กันแก๊งทวงหนี้โหดเข้มขลังอย่างงี้ ห่วงแค่ลูกหนี้จะพึ่งพากฎหมายดีในทางผิด ขาดวินัยใช้หนี้จนเสียนิสัย
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 8 ม.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.