แนวความคิดเรื่องการ “ปฏิรูปโครงสร้างภาษี” ของขุนคลังที่ชื่อ “สมหมาย ภาษี” ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง นับตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้ามารับตำแหน่ง เพราะในห้วงที่รัฐบาลกำลังเฟ้นหามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตีปี๊บโครงการลงทุนของรัฐสารพัดรูปแบบ
กระทรวงการคลังกลับดำเนินนโยบาย “ปัดฝุ่น” ขุดเอาสารพัดกฎหมายภาษีขึ้นมาดำเนินการ!!!
ยิ่งเมื่อรัฐบาล คสช.ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ร่าง พ.ร.บ.มรดก พ.ศ. ...
และร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับ พ.ศ. ...ที่มีการศึกษาและเตรียมการกันมากว่า 10 ปี แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยผลักดันและขับเคลื่อนออกมาได้สำเร็จ
ถนนทุกสายจึงต่าง “กังขา” และจับตาทิศทางการดำเนินนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ว่าจะเดินหน้าอย่างไรกันแน่ จะมีความหนักแน่นเพียงพอจะผลักดันนโยบายปฏิรูปโครงสร้างภาษีทั้งระบบไปถึงฝั่งหรือไม่?
“ทีมเศรษฐกิจ” ถือโอกาสต้อนรับปีใหม่ 2558 สัมภาษณ์ “สมหมาย ภาษี” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงภารกิจอันท้าทายในการผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างภาษีที่ว่านี้ เพื่อที่จะต่อ “จิ๊กซอว์” ความสงสัยของผู้คนถึงเป้าหมายของการปฏิรูปภาษีที่รัฐบาลและกระทรวงการคลังกำลังดำเนินการอยู่
เปิดภารกิจอุดรูรั่วระบบภาษี
“การปฏิรูปโครงสร้างภาษีในความหมายของผมคือ การปรับอัตราภาษีให้เกิดความเหมาะสม และขยายฐานภาษีให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งหามาตรการอุดรูรั่วต่างๆ โดยตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาระบบภาษีของประเทศให้มีความยั่งยืนในระยะยาว ซึ่งเป็นสิ่งที่นักการเมืองไม่อยากทำ...”
ปรารภแรกของ รมว.คลังกับ “ทีมเศรษฐกิจ” พร้อมสาธยายว่า ที่นักการเมืองไม่อยากทำนั้น ก็เพราะหากรัฐบาลที่มาจากพรรคการเมืองปรับขึ้นภาษีจะมีผลลบต่อคะแนนเสียงและการเลือกตั้งนั่นเอง
“อย่างไรก็ตาม ผมพูดได้เต็มปากเลยว่า ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง รมว.คลังเกือบ 4 เดือน นายสมหมาย ภาษี คนนี้ยังไม่ได้ขึ้นภาษีเลยแม้แต่บาทเดียว” รมว.คลังกล่าวอย่างหนักแน่น พร้อมอธิบายต่อว่า การจัดเก็บภาษีมรดกของกระทรวงการคลัง ไม่ได้มีเป้าหมายในเรื่องของการเพิ่มรายได้เพียงด้านเดียว แต่มุ่งเน้นในเรื่องของการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
“เราไม่ได้เก็บภาษีคนไทยทุกคน แต่เราจะเก็บภาษีจากคนรวยหรือเศรษฐีเมื่อเสียชีวิตไปแล้วมีกองมรดกทิ้งไว้ให้ลูกหลาน ก็ควรมีภาระภาษีเกิดขึ้นในสัดส่วนที่ยอมรับกันได้คือ มรดกที่เกินกว่า 50 ล้านบาท เสียภาษี 10%”
ทั้งนี้ ภาษีมรดกที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้วจะยังไม่ได้มีผลบังคับใช้ทันที รัฐบาลต้องนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)” และเมื่อประกาศบังคับใช้เป็นกฎหมายก็ยังต้องใช้เวลาอีก 3-4 เดือน เพื่อให้กรมสรรพากรไปจัดเตรียมความพร้อมด้านคน อุปกรณ์ และเครื่องมืออีก
“ดังนั้น จะหาว่าผมขึ้นภาษีอากรได้อย่างไร ตรงกันข้ามผมได้เสนอให้ ครม.ลดอัตราภาษีในช่วงที่ผ่านมาหลายรายการ เช่น ภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว กรณีบุคคลธรรมดาที่ซื้อ
แพ็กเกจทัวร์ หักค่าลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท ส่วนบริษัทนิติบุคคลนำค่าใช้จ่ายมาหักภาษีไม่เกิน 2 เท่า ระหว่างปีภาษี 2558-2559 เพื่อสนับสนุนทางด้านการท่องเที่ยว”
นอกจากนี้ ยังลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท มีรายได้ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อปี กรณีที่มีกำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาท ยกเว้นการเสียภาษี จากเดิมกำหนดไว้ไม่เกิน 150,000 บาท กำไรสุทธิเกิน 300,000 บาท แต่ไม่เกิน
1 ล้านบาท เสียภาษี 15% กำไรสุทธิเกิน 1 ล้านบาทแต่ไม่เกิน 3 ล้านบาท จากเดิมเสียภาษี 20% ลดลงเหลือ 15% และกำไรสุทธิเกินกว่า 3 ล้านบาทขึ้นไปเสียภาษีในอัตรา 20% เท่ากับบริษัทนิติบุคคลทั่วไป ซึ่งการลดภาษีครั้งนี้รัฐบาลต้องสูญเสียรายได้ปีละ 1,900 ล้านบาท
ขณะเดียวกันรัฐยังยกเว้นภาษีศุลกากร 1,274 รายการ เช่น สินแร่ต่างๆ ก๊าซธรรมชาติ สังกะสี เนื้อสัตว์ ไม้สน ปลาแซลมอน ลดภาษีสำหรับชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องจักรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิต จากเดิมเก็บ 20-30% ลดเหลือ 10% จำนวน 258 รายการ รัฐบาลสูญเสียรายได้ 6,100 ล้านบาทต่อปี
“รวมกันแล้วรัฐบาลลดภาษีสูญเสียเม็ดเงินไปกว่า 7,800 ล้านบาท โดยไม่เสียใจแม้แต่นิดเดียว เพราะผมตั้งเป้าหมายการทำงานในตำแหน่ง รมว.คลังอีก 1 ปี หรือปีครึ่ง เพื่อการปฏิรูปโครงสร้างภาษี” นายสมหมายกล่าว
ปฏิรูปโครงสร้างใหม่เพื่ออนาคต
อย่างไรก็ตาม รมว.คลังได้กล่าวถึงความกังวลที่ยังคงมีอยู่นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งก็คือ 1.เรื่องศักยภาพการแข่งขันของประเทศไทยที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง และยิ่งนั่งในตำแหน่งขุนคลังนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งมองเห็นภาพการถดถอยหากประเทศไทยไม่รีบดำเนินการใดๆ เพื่อปฏิรูปโครงสร้างภาษีในขณะที่ยังพอมีเวลาทำได้
“ภาพที่ปรากฏชัดเจนในอนาคตก็คือ อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะทรงตัวอยู่ที่ระดับ 3-4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ต่อเนื่องทุกปี คนไทยควรเลิกฝันหวานได้แล้วว่าจะมีจีดีพีเติบโตถึง 6-7% เพราะไม่มีทางที่จะเป็นไปได้อีกต่อไปแล้ว”
เหตุผลที่การเติบโตของเศรษฐกิจไทยจะไม่สามารถกลับคืนสู่ “วันที่รุ่งโรจน์” ดั่งในอดีตได้ เกิดจากปัจจัย 3-4 ประการคือ 1.ความแตกแยกในหมู่คนไทยด้วยกันเอง ทะเลาะกันจากปัญหาการเมืองทำให้ประเทศชาติเสียเวลาในการพัฒนาตัวเองไปนานถึง 5-6 ปี ส่วนการปฏิวัติที่เกิดขึ้น และการมีรัฐบาล คสช. ทำให้ภาพของการเมืองสงบนิ่งไปจนกว่าการเลือกตั้งทั่วไปจะเกิดขึ้น
ขณะที่นักลงทุนเองเขาไม่สามารถรอได้ เพราะไม่มีใครล่วงรู้ได้ว่าอนาคตของประเทศจะเป็นเช่นไร รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศจะเป็นแบบไหน และโอกาสที่ไทยจะกลับไปมีปัญหาวิกฤติการเมืองแบบเดิมๆ จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ “นั่นคือคำถามที่นักลงทุนอยากทราบ ประเด็นต่างๆเหล่านี้ทำให้นักลงทุนเกิดภาวะ “Wait & See” หรือ “รอคอยไปเรื่อยๆ” นี่คือประเด็นแรกที่ผมกลัว”
เรื่องที่ 2 คือ สถานการณ์ด้านการส่งออก ในอดีตภาคส่งออกของไทยดีมากๆ เติบโตปีละ 20% แต่ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมานี้ ประเทศเริ่ม “ย่ำอยู่กับที่” เพราะปัญหาการเมือง ขณะที่ประเทศอื่นๆ เริ่มพัฒนาศักยภาพการส่งออกมากขึ้นจนสามารถตีคู่ประเทศไทย เช่น สินค้าจีน “Made In China” ทั้งหลายที่กระจายอยู่ทั่วทุกมุมโลก
“ขณะที่คู่แข่งหน้าใหม่ที่กำลังตีตื้นจีน คือสินค้าจากประเทศอินเดีย และอีกหลายๆประเทศในกลุ่มละตินอเมริกา ก็ยิ่งจะส่งผลลบต่อการส่งออกไทย ทำให้สัดส่วนการส่งออกของไทยเมื่อเทียบกับจีดีพีที่เคยมีอยู่สูงถึง 75% หรือ 3 ใน 4 ไม่สามารถจะพึ่งพาได้อีกต่อไป”
ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลพยายามอยู่เวลานี้ คือการเร่งสร้างเครื่องมือใหม่ๆขึ้นมาทดแทนสิ่งที่ประเทศต้องสูญเสียไป นั่นคือการเพิ่มบทบาทการทำงานของภาครัฐให้มากขึ้น เหมือนนานาประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่ประเทศที่เจริญแล้ว โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศอย่างคุ้มค่าให้มากที่สุด เช่น ประเทศนอร์เวย์ มีทรัพยากรมากเหมือนกับไทย แต่รัฐบาลนอร์เวย์สามารถตั้งงบรายจ่ายเพื่อการพัฒนาประเทศสูงถึง 200 ล้านล้านบาท ขณะที่ไทยมีงบรายจ่ายเพียง 2.575 ล้านล้านบาทเท่านั้นรายได้รัฐ “ชักหน้าไม่ถึงหลัง”
ในส่วนของงบประมาณรายจ่ายของภาครัฐ 2.5 ล้านล้านบาทนั้น รมว.คลังกล่าวว่า คิดเป็นสัดส่วนเพียง 20% ของมูลค่าจีดีพี 13.5 ล้านล้านบาทเท่านั้น ซึ่งถือเป็นเม็ดเงินที่น้อยมาก ขณะที่รายได้จากการจัดเก็บภาษีของ 3 กรมภาษีหลัก คือ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร นั้นคิดเป็นสัดส่วนรายได้เพียง 17-18% ของจีดีพี ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า “การขาดดุลงบประมาณ”
โดยในปีงบประมาณ 2558 รัฐบาลและกระทรวงการคลังตั้งเป้าหมายการขาดดุลไว้ที่ 250,000 ล้านบาท เพราะรายจ่ายของรัฐบาลมีมากกว่ารายได้ ขณะที่ในอนาคตอีก 5 ปีข้างหน้า หากรัฐบาลยังคงขยายฐานรายจ่ายเพิ่มขึ้นทุกปีจากระดับ 20% ขึ้นไปเป็น 25% ของจีดีพี หรือประมาณ 3.35 ล้านล้านบาท เพื่อนำรายจ่ายเหล่านี้ไปลงทุนในโครงการต่างๆ ทางด้านฝั่งของการหารายได้ก็ต้องเพิ่มขึ้นสัดส่วนจาก 18% มาอยู่ที่ระดับ 23% หรือเพิ่มขึ้น 5% ของจีดีพี เพื่อให้ใกล้เคียงกับรายจ่าย
“จุดนี้ คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ประเทศไทยจะเดินหน้ากัน อย่างไร อย่างมีเสถียรภาพและมั่นคงไปพร้อมๆกัน การปฏิรูปโครงสร้างภาษี คือแผนงานที่เราวางไว้ในอีก 5 ปีข้างหน้าที่รัฐบาลใหม่ที่เข้ามา หรือ รมว.คลังคนใหม่ที่จะมานั่งต่อจากผมต้องมองเห็นภาพนี้ เพราะหากเราไม่สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการจัดเก็บรายได้ให้สูงขึ้น ก็ต้องกู้เงินเพิ่มขึ้น สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะยิ่งเพิ่มขึ้น คนไทยมีหนี้มากขึ้น อัตราเงินเฟ้อจะพุ่งตามไปด้วย”
ปัจจุบันหนี้สาธารณะต่อจีดีพีของประเทศในเดือน ต.ค.2557 อยู่ที่ 5.640 ล้านล้านบาท คิดเป็น 46.50% ของจีดีพี กรณีที่จีดีพี ขยายตัว 4-5% ต่อปี ภาระหนี้ดังกล่าวก็สามารถบริหารจัดการได้ เพราะรัฐบาลจะก่อหนี้เพิ่มขึ้นปีละ 2-3% ตามการขาดดุลงบประมาณไม่เกิน 300,000 ล้านบาท
แต่หากในปีใดที่จีดีพีขยายตัวน้อย เช่น ในปี 2557 นี้ที่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 1% แม้ว่าจำนวนหนี้จะเท่าเดิม แต่การที่จีดีพีขยายตัวลดลงจะทำให้สัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นประเด็นใหญ่ที่กระทรวงการคลังต้องพยายามรักษากรอบวินัยการเงินคลังไว้ไม่ให้เกิน 60% ของจีดีพี
“รัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศอย่างทางการ ในช่วงปลายเดือน ส.ค.2557 ที่ใกล้จะสิ้นปีงบประมาณ 2557 ไม่สามารถดำเนินการมาตรการใดๆได้ เพียงแค่ประคับประคองเศรษฐกิจให้มีอัตราการเติบโตไม่ติดลบก็นับว่าโชคดีแล้ว”
ดังนั้น ในช่วงปีงบประมาณ 2558 ต่อเนื่องปีงบประมาณ 2559 กระทรวงการคลังจึงต้องวางแผนงานทางด้านภาษี โดยตั้งเป้าหมายที่จะจัดเก็บรายได้จาก 3 กรมภาษีเพิ่มอีกปีละ 1% ของจีดีพี หรือประมาณปี 100,000-150,000 ล้านบาท รวมระยะเวลา 5 ปี ทั้ง 3 กรมภาษีควรมีรายได้เพิ่ม 500,000-750,000 ล้านบาท “กระทรวงการคลังจะเริ่มนำร่องจากเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ในช่วงต้นปี 2558 และน่าจะผลักดันให้มีผลบังคับใช้ในกฎหมายในช่วงกลางปี 2558”
ภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้างมาแน่!
ในส่วนของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กฎหมายแสลงใจ “แลนด์ลอร์ด” ทั้งหลายนั้น รมว.คลังกล่าวว่า เมื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา กฎหมายจะยังไม่มีผลบังคับใช้ในทันที หากประกาศลงในราชกิจจานุเบกษากลางปี 2558 กว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้จริงก็อีกประมาณหนึ่งปีครึ่ง หรือประมาณปี 2560ไปแล้ว
ทั้งนี้ ในช่วงที่กฎหมายอยู่ระหว่างการรอบังคับใช้ กรมธนารักษ์จะดำเนินการประเมินราคาที่ดินใหม่ทั่วประเทศ จากปัจจุบันที่ประเมินเป็นรายบล็อกก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นรายแปลง หรือโฉนด ซึ่งที่ดินทั่วประเทศที่ต้องประเมินใหม่มีทั้งหมด 30 ล้านแปลง ปัจจุบันมีการประเมินไปได้เพียง 8 ล้านแปลงเท่านั้น
ส่วนอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กระทรวงการคลังจะเสนอเป็นอัตราเพดานสูงสุด โดยพื้นที่ทำกินเพื่อการเกษตรจะจัดเก็บไม่เกิน 0.5% ที่ดินเพื่ออยู่อาศัยเก็บไม่เกิน 1% ส่วนที่ดินว่างเปล่าและเพื่อการพาณิชย์ เก็บไม่เกิน 4% ส่วนอัตราภาษีที่จะจัดเก็บจริงก็จะผ่อนคลายให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น
“พื้นที่เพื่อการเกษตรจะเก็บภาษีไม่เกิน 0.05% ที่อยู่อาศัยไม่เกิน 0.1% ซึ่งอัตราเก็บจริงปีละหนึ่งครั้ง ส่วนที่ว่างเปล่าและเพื่อการพาณิชยกรรมจะเก็บไม่เกิน 0.5% โดยจะทยอยปรับภาษีขึ้น 2 ครั้งภายในระยะเวลา 3 ปี”
อย่างไรก็ตาม ขุนคลังสมหมายยังป้องปากกระซิบข่าวดีว่ากระทรวงการคลังยังจะเสนอให้มีการยกเว้นภาษีที่อยู่อาศัยจากเดิมที่จะเก็บภาษีบ้านที่มีราคา 1 ล้านบาทขึ้นไป ก็จะขยายเพิ่มขึ้นเป็นราคาบ้านไม่เกิน 1.5-2 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษีที่ดิน เพื่อให้สอดคล้องกับราคาที่ดินในปัจจุบัน
“ไม่อยากให้คนไทยต้องกลัวเรื่องการเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เพราะอัตราภาษีที่กระทรวงการคลังเสนอนั้น จะเสียน้อยกว่าภาษีป้ายทะเบียนรถยนต์อย่างแน่นอน ซึ่งเท่าที่คลังประเมินนั้น ในช่วงแรกๆ หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ ภาษีที่จัดเก็บได้คงได้ไม่มากนักประมาณ 20,000-40,000 ล้านบาท ก็ถือว่าสูงมากแล้ว แต่ระยะยาว 2-3 ปีหลังจากนั้น เม็ดเงินภาษีจะเพิ่มขึ้นเป็น 200,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทรวงการคลังคาดหวังเป็นอย่างมาก เพราะเงินก้อนนี้จะถูกส่งคืนกลับไปท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.การกระจายรายได้คลังสู่ท้องถิ่น ซึ่งจะมีเม็ดเงินรายได้สูงถึงปีละประมาณ 250,000 ล้านบาท จากปัจจุบันที่ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนได้เพียง 20,000 ล้านบาทเท่านั้น”
ทั้งนี้ เมื่อภาระด้านการคลังที่ต้องนำรายได้กลับคืนสู่ท้องถิ่นลดลง รัฐบาลกลางจะมีเม็ดเงินใหม่ที่จะนำไปใช้จ่ายได้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในเป้าหมายของกระทรวงการคลังจะนำ
รายได้ที่เกิดขึ้นไปลงทุนในกิจการทางสังคม เช่น ทางด้านการศึกษาและทางด้านสาธารณสุข เพื่อดูแลชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีขึ้น
******
ความมุ่งมั่นของรัฐในการเดินหน้านโยบายปฏิรูปโครงสร้างภาษีเหล่านี้ รมว.คลังกล่าวยอมรับว่า กระบวนการโกงภาษีไม่มีวันหมดสิ้นไปง่ายๆ “แต่ครั้งนี้ผมมาจากการแต่งตั้งของ คสช. ที่ต้องการปฏิรูปโครงสร้างของประเทศ และปราบปรามการทุจริต ผมจะพยายามปิดช่องทางการโกงให้หมดไป เพราะมันบั่นทอนเศรษฐกิจ เหมือนน้ำมันที่รั่วออกจากรถยนต์”
ส่วนคำถามคาใจของผู้คนในสังคมที่จุดพลุขึ้นมาคราใด เป็นได้ทำให้สังคมกระเพื่อมแรง คือเรื่องของภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ “แวต” นั้น รมว.คลังกล่าวทิ้งท้ายกับ “ทีมเศรษฐกิจ” ว่า การขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน “ในความเห็นส่วนตัวหากรัฐบาลตัดสินใจขึ้นภาษีแวตทุกๆ 1% จะทำให้รายได้รัฐเพิ่มขึ้น 100,000 ล้านบาท ดังนั้น ในฐานะที่เป็น รมว.คลัง มีหน้าที่ในการเตรียมความพร้อมก็ต้องพยายามทำอย่างดีที่สุด”
ทั้งหมดคือความในใจแบบหมดเปลือกของขุนคลัง “สมหมาย ภาษี” ชื่อสกุลแสลงใจของใครหลายคน!!!
ถึงเวลายกเครื่องกรมจัดเก็บภาษี
ประสงค์ พูนธเนศ
ประสงค์ พูนธเนศ
อธิบดีกรมสรรพากร
“ในช่วงที่ผ่านมา กรมสรรพากรได้ศึกษาและวางแนวทางในการปฏิรูปโครงสร้างภาษีอย่างต่อเนื่อง เช่น การเพิ่มหักค่าลดหย่อนจากการท่องเที่ยวและสัมมนาในประเทศ การเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา การยกเลิกภาษีคณะบุคคล และห้างหุ้นส่วนสามัญ และการแยกยื่นภาษีเงินได้ สามี-ภรรยา”
หากพิจารณาผิวเผินก็เหมือนกรมแก้ไขกฎหมายภาษี “แบบปะผุ” กล่าวคือ ออกมาตรการภาษีเป็นเรื่องๆไป ไม่ได้มองภาพรวมแก้ไขกฎหมายภาษีทั้งระบบหรือทั้งแพ็กเกจ
“เรื่องนี้ผมขอปฏิเสธว่าไม่จริง เพราะหากรอให้รัฐบาลตัดสินใจแก้ไขทั้งแพ็กเกจครั้งเดียว อีก 5 ปี ก็ไม่ได้เห็น เพราะในอดีตเคยเสนอการแก้ไขกฎหมายภาษีแพ็กเกจมาแล้ว แต่ไม่สำเร็จ พอรัฐบาลใหม่เข้ามาก็สั่งให้หยุดกลับไปศึกษาใหม่ เรื่องที่จำเป็นต้องแก้ไขก็ถูกแช่อยู่กับที่ไม่ไปไหน”
ในปีงบประมาณ 2558 นี้ กรมสรรพากรได้เตรียมแก้ไขกฎหมายอีกหลายฉบับ เช่น สิทธิประโยชน์ในการหักค่าลดหย่อน ซึ่งมีมากกว่า 20 รายการ เช่น การดูแลบุพการี คนพิการ รวมไปถึงกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือแอลทีเอฟที่จะหมดสิทธิประโยชน์ทางภาษีในปี 2559 ซึ่งขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นศึกษาเรื่องดังกล่าว
นอกจากนี้ มีเรื่องการปรับปรุงการบันทึกบัญชีสกุลเงินต่างประเทศ จากเดิมที่กำหนดว่า รายได้ รายจ่ายหรือเงินกู้ของบริษัทต้องทำเป็นบัญชีเป็นสกุลเงินบาทเท่านั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับปัจจุบัน หากบันทึกบัญชีว่าวันนี้ 33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ในอีก 1-2 เดือน เงินบาทแข็งค่ามาอยู่ที่ 32.50 บาท นักบัญชีและเจ้าหน้าที่ก็ต้องมาบันทึกกันใหม่ว่า ขาดทุนหรือกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนอีก จึงจะผ่อนกฎระเบียบให้บันทึกเป็นสกุลเงินต่างประเทศได้เลย และเมื่อถึงเวลาสิ้นปี ก็คำนวณมาเป็นเงินบาทครั้งเดียว ทำให้การทำงานของเอกชนง่ายขึ้นไม่ซับซ้อน
ส่วนการจะปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) จากที่จัดเก็บอยู่ในอัตรา 7% หรือไม่นั้น ไม่ได้อยู่ในอำนาจของกรม แต่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของรัฐบาล แต่อยากจะชี้ให้เห็นว่า การขึ้นภาษีแวตในทุกๆ 1% รัฐบาลจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 100,000 ล้านบาท
สมชาย พูลสวัสดิ์
สมชาย พูลสวัสดิ์
อธิบดีกรมสรรพสามิต
“ในปีงบประมาณ 2558 กรมสรรพสามิตได้รับมอบหมายให้จัดเก็บรายได้ 420,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6-7% จากปีงบประมาณ 2557 ถือเป็นอัตราเพิ่มขึ้นที่สูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2558 ที่คาดว่าจะขยายตัว 4.5-5% ของจีดีพี แต่มั่นใจว่าจะจัดเก็บได้ตามเป้า”
หากพิจารณารายได้หลักๆ ของประเทศที่กำลังพัฒนาจะมีอยู่ไม่กี่รายการ คือ กลุ่มภาษีบาป เช่น เหล้า บุหรี่ และเบียร์ กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น นาฬิกา กระเป๋าหนัง และอัญมณี เครื่องประดับ แตกต่างจากประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีการใช้มาตรการภาษีเข้ามาดูแลชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนภายในประเทศ นั่นคือ “ภาษีสิ่งแวดล้อม” ที่จัดเก็บภาษีจากโรงงานอุตสาหกรรมที่ก่อให้เกิดมลพิษทางน้ำ และทางอากาศ มีหลักการว่า คนที่ปล่อยมลพิษมากก็ต้องเสียภาษีมาก คนที่ปล่อยมลพิษน้อยจะเสียภาษีในอัตราที่ลดลง
การปฏิรูปภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อมได้ริเริ่มไปแล้วเมื่อ 3 ปีก่อนคือ การจัดเก็บภาษีรถยนต์ โดยคำนวณจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะเริ่มมีผลบังคับใช้อย่างจริงจังในปี 2559 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการและผู้ผลิตรถยนต์ ปรับปรุงสายการผลิตก่อนที่อัตราภาษีใหม่จะมีผลบังคับใช้
“ในอนาคตรถที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากๆ จะเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่ารถยนต์ไฮบริด ที่ประหยัดพลังงาน โดยรถยนต์ที่ผลิตออกมาในปี 2559 ขนาดของเครื่องยนต์ต่ำกว่า 2000 ซีซี หากเป็นรถไฮบริดจะเสียภาษีในอัตรา 10% เพราะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพียง 100 กรัมต่อ กม. จากปัจจุบันที่จัดเก็บในอัตราสูงถึง 25%”
นอกจากนี้ ในปีงบประมาณ 2558 ตั้งเป้าหมายที่จะปรับปรุงกฎหมายสรรพสามิต ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันถึง 7 ฉบับให้เหลืออยู่เพียงฉบับเดียว พร้อมปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษีจาก “ราคา ณ หน้าโรงงาน”มาเป็น “ราคาขายปลีกแนะนำ” ถือเป็นการปฏิรูปภาษีไปสู่อนาคตและประชาคมอาเซียน (เออีซี)โดยไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อปรับขึ้นอัตราภาษี แต่เป็นการปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิม
สมชัย สัจจพงษ์
สมชัย สัจจพงษ์
อธิบดีกรมศุลกากร
“หลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีข้อตกลงทางการค้ากับหลายประเทศ ทั้งองค์การการ ค้าโลก (WTO) เขตการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟต้า และมีการเปิดเสรีการค้าแบบทวิภาคีและพหุภาคี ด้วยข้อตกลงการค้าเหล่านี้จะเป็นทิศทางการทำงานของกรมศุลกากรที่มุ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการ เพื่อไม่ให้กรมเป็นตัวถ่วงภาคเอกชน”
ปัจจุบันอัตราภาษีที่กรมจัดเก็บเฉลี่ยอยู่ที่ 7% จากรายการสินค้านำเข้านับแสนรายการ เป็นอัตราภาษีที่เข้าใกล้ 0% มากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เป้าหมายหลักการทำงานไม่ได้อยู่ที่การจัดเก็บรายได้ แต่ต้องเพิ่มเรื่องการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ทางภาษีของผู้ส่งออกไทย เพราะเมื่อฝั่งจัดเก็บรายได้อยู่ในช่วงขาลง ภาคเอกชนที่อยู่ในฐานะผู้ส่งออกสินค้า ก็ควรได้รับสิทธิประโยชน์จากข้อตกลงทางการค้าเหมือนผู้นำเข้า
สถิติที่ผ่านมาสินค้าที่ผู้ประกอบการไทยส่งออกไปต่างประเทศ มีการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีตามข้อตกลงต่างๆ เพียง 25% จึงเกิดคำถามว่าอีก 75% ทำไมไม่ใช้สิทธิประโยชน์เพื่อลดต้นทุน จึงได้ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษารายละเอียด โดยตั้งเป้าว่าจะเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้ได้ 50% ใน 1–2 ปีนี้
หน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การปกป้องสังคมไทยไม่ให้สินค้าที่อันตรายและต้องห้ามเล็ดลอดเข้ามาอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะด่านสำคัญๆ เช่น ด่านแหลมฉบัง ได้ติดเครื่องเอกซเรย์แบบอุโมงค์ถาวรเรียบร้อยแล้ว
“สิ่งที่จะตามมาคือ การรั่วไหลของภาษีจะลดลง และยังไปสนับสนุนให้อีก 2 กรมภาษี คือ กรมสรรพากร และกรมสรรพสามิต มีประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีได้ดีขึ้นด้วย เพราะเม็ดเงินภาษีที่รัฐจัดเก็บได้ 100% เป็นภาษี ของกรมศุลกากรเพียง 20% ที่เหลือ 80% เป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่เก็บแทนกรมสรรพากร และภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยที่จัดเก็บแทนกรมสรรพสามิต”
ภารกิจสำคัญอีกด้านของกรมศุลกากร ก็คือ การปรับปรุงกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ ให้ทันสมัยมากขึ้น ลดการทุจริต และดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ลง โดยขณะนี้มีกฎหมายที่ต้องปรับปรุงมากกว่า 30 ฉบับ
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 5 ม.ค. 2558
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.