ถกผลกระทบแผนแม่บทป่าไม้ยุค คสช. ‘สวาท อุปฮาด’ ชี้ทวงคืนผืนป่าต้องอยู่ภายใต้กระบวนการยอมรับทุกฝ่าย ยกกรณีไล่รื้อ อ.ภูพาน ระบุนายอำเภอใช้ดุลยพินิจผิด ด้านเอ็นจีโอแนะทางออกหันหน้าคุยกัน สร้างการมีส่วนร่วมภาคปชช. ย้ำอยู่ในพื้นที่มาก่อนต้องได้สิทธิอาศัยต่อไป
วันที่ 20 ธันวาคม 2557 ศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ บริษัท สวนเงินมีมา จำกัด จัดงาน ‘ปาฐกถามหาตมะคานธีอนุสรณ์ว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ครั้งที่ 3’ เพื่อนำเสนอผลงานของ ราชโคปาล พี.วี. ประธานเอกตา ปริษัท นักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ทำกินแก่คนยากจนและคนไร้ที่ทำกินในอินเดีย ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ ภายในงานมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนหัวข้อ ‘ไร้ที่ทำกินหรือไร้ความยุติธรรม’ โดยผศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงแผนแม่บทการแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนว่า ไม่มีทางสำเร็จ เพราะจะนำพื้นที่ใดมารองรับชาวบ้านที่ถูกบังคับย้ายออกจากเขตป่าเพียงพอ แม้รัฐบาลมีแนวคิดจะนำที่ดิน ส.ป.ก. ประมาณ 10 ล้านไร่ ซึ่งอยู่ในมือนายทุนมาบริหารจัดการใหม่ แต่มาตรการทวงคืนจากนายทุนนั้นไม่ค่อยเห็นหนทางมากนัก
“เรื่องจริงที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือ ชาวบ้านประสบปัญหา หากรัฐบาลไม่ยอมฟัง เชื่อว่าต้องรบกันแน่” นักวิชาการ จุฬาฯ กล่าว และว่า ต้องส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์ในที่ดินด้วย ไม่ใช่เน้นส่งเสริมการอนุรักษ์อย่างเดียว
ด้านนายสวาท อุปฮาด กลุ่มสมัชชาคนจน กล่าวเห็นด้วยกับนโยบายทวงคืนผืนป่า เพราะไทยจะได้มีพื้นที่ป่าเพิ่มมากขึ้น ภายใต้กระบวนการยอมรับที่เกิดขึ้นกับทุกฝ่าย แต่ขณะนี้หลังจากมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการพบว่ามิได้เป็นอย่างนั้น โดยยกตัวอย่าง เหตุการณ์ที่ ต.กกปลาซิว อ.ภูพาน จ.สกลนคร เจ้าหน้าที่เข้าไล่รื้อที่อยู่อาศัยของชายชราคนหนึ่ง ทั้งที่กรมป่าไม้ได้กันออกจากพื้นที่ป่าแล้ว แต่เนื่องจากรัฐบาลมีคำสั่งให้ฝ่ายปกครองใช้ดุลยพินิจ ทำให้นายอำเภอภูพานมองว่า บ้านใหญ่กว่าฐานะผู้ยากไร้ เพราะมีเสา 9 ต้น จึงต้องรื้อออก
ชาวบ้านจึงลงขันทำเพิงเล็ก ๆ ในที่สาธารณะของชุมชน เพราะหาคนรับผิดชอบไม่ได้ อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้เรียกทุกฝ่ายขึ้นมาชี้แจงแล้ว และจากการได้ฟังเทปบันทึก นายอำเภอภูพานกล่าวว่า ไม่มีใครทำอะไรเขาได้ เพราะได้รับอำนาจจากรัฐบาลให้เป็นผู้มีดุลยพินิจ หากในพื้นที่ ชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิจะจับใครติดคุกก็ได้
“คนอีสานประกาศชัดเจน จะปล่อยให้เกิดเรื่องแบบนี้ไม่ได้ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด เพราะชาวบ้านไม่มีทางเลือกแล้ว ทั้งนี้ คงไม่ต้องพูดถึงเรื่องไร้ที่ทำกินหรือไร้ความเป็นธรรม” ตัวแทนกลุ่มสมัชชาคนจน กล่าว
ขณะที่นายจำนง จิตรนิรัตน์ ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) กล่าวว่า ชาวบ้านจะรวมตัวเป็นกลุ่มเล็กเพื่อเข้าไปเจรจากับรัฐบาลก็ทำไม่ได้ หากรวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่ก็ยิ่งไม่ได้ ดังนั้นทุกข์จึงเกิดขึ้น เพราะไม่สามารถจะพาเท้าเข้าไปแสดงตัวได้ ทั้งนี้ เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับที่ดินทำกินแล้วไม่สามารถร้องเรียนได้ ประเทศจะอยู่อย่างไร
ส่วนน.ส.พงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ กลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน กล่าวว่า การไล่รื้อชาวบ้านออกจากพื้นที่ถือเป็นการรังแกกันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ทางออกจึงควรหันหน้ามาพูดคุยกัน โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน มิฉะนั้นปัญหาก็จะไม่จบ และจะทำให้ชาวบ้านต้องลุกขึ้นมารวมตัวเพื่อให้มีพลังต่อไป เพื่อจะทำสิ่งที่ถูกต้องและเป็นธรรม นั่นคือ การอยู่ในพื้นที่มาก่อนก็สมควรต้องได้อยู่อาศัยต่อไป
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 20 ธ.ค. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.