ใน บรรดากฎหมายที่ "รัฐบาลประยุทธ์" กำลังผลักดัน ไม่ว่าร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างหรือพร็อพเพอร์ตี้แท็กซ์และภาษีการรับมรดก หรือภาษีมรดก เป็นกฎหมายไฮไลต์ที่ได้รับความสนใจไม่น้อย
วัตถุประสงค์ของการบังคับใช้ "พร็อพเพอร์ตี้แท็กซ์" เพื่อใช้ทดแทนภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดิน ที่บังคับใช้มายาวนานนับสิบ ๆ ปี ไม่สอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน และกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นเป็นผู้จัดเก็บ ขณะนี้อยู่ระหว่างรอเสนอ ครม.-คณะรัฐมนตรี พิจารณา
ส่วน "ภาษีมรดก" นำมาใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เก็บภาษีจาก "คนรวย" เอามาพัฒนาประเทศ ล่าสุดผ่านการพิจารณาจาก "ครม." กำลังรอจัดคิวให้ "สนช.-สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" พิจารณาวันที่ 18 ธ.ค.นี้ จากที่เจอโรคเลื่อน
เมื่อเร็ว ๆ นี้ "ดร.ดวงมณี เลาวกุล" อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ศึกษาเรื่องพร็อพเพอร์ตี้แท็กซ์มาร่วม 10 ปี ได้เปิดเผยผลวิจัยและมุมมองเรื่อง "ภาษีที่ดินและมรดก" "ใครมี ใครจ่าย ใครได้ประโยชน์"
ภาษีที่ดินเก็บรายได้ 3-4 หมื่น ล.
"ดร.ดวงมณี" กล่าวว่า ตัวร่างล่าสุดกำหนดประเภทที่ดินและสิ่งปลูกสร้างถูกจัดเก็บภาษีเป็น 4 กลุ่ม พร้อมทั้งปรับเพดานจัดเก็บภาษีให้สูงขึ้นจากร่างเดิม ได้แก่ 1)ที่ดินเกษตรกรรม จากร่างเดิมไม่เกิน 0.05 ของราคาประเมินทุนทรัพย์ ปรับเพดานภาษีเป็นไม่เกิน 0.5% 2)ที่อยู่อาศัย จากเดิม 0.1% ปรับเป็นไม่เกิน 1%
3)ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั่วไป เช่น ใช้ปล่อยเช่าเชิงพาณิชย์ โรงงานอุตสาหกรรม จากเดิมไม่เกิน 0.5% ปรับเพดานภาษีเป็น 4% และ 4)ที่ดินรกร้างว่างเปล่า จัดเก็บไม่ต่ำกว่าอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทั่วไป และกรณีปล่อยรกร้างต่อเนื่องทุก 3 ปี จะปรับภาษีขึ้น 1 เท่าตัว แต่เพดานสูงสุดไม่เกิน 4% นอกจากนี้สามารถหักค่าบำรุงรักษาสิ่งปลูกสร้างหรือห้องชุดได้ 1% ต่อปี แต่สูงสุดไม่เกิน 10%
"ประมาณการว่าพร็อพเพอร์ตี้แท็กซ์จะเพิ่มรายได้เข้ารัฐอีกไม่ต่ำกว่า 30,000-40,000 ล้านบาท จากปี"56 เก็บภาษีบำรุงท้องที่และภาษีโรงเรือนและที่ดินได้ 25,644 ล้านบาท"
จี้รัฐบาลเร่งพร็อพเพอร์ตี้แท็กซ์
ดร.ดวงมณีมองว่า การบังคับใช้พร็อพเพอร์ตี้แท็กซ์มีข้อดี เช่น จะกระตุ้นให้เจ้าของที่ดินนำมาใช้ประโยชน์, ลดการกักตุนที่ดินเพื่อเก็งกำไร แต่อาจจะไม่เห็นผลทันทีในช่วงแรก, กระจายอำนาจการคลังให้ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีนำมาพัฒนาพื้นที่ โดยราคาประเมินที่ดินทั่วประเทศของกรมธนารักษ์ระหว่างปี"55-58 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 5.3% หากจัดเก็บภาษีเต็มเพดาน 4% อาจช่วยลดการกักตุนที่ดินได้บ้าง อย่างไรก็ตามอาจจะไม่มีผลกับที่ดินตามแนวรถไฟฟ้า ซึ่งราคาขยับขึ้นเร็ว
"มีความเห็นว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นอันดับแรก ในกระบวนการปฏิรูปภาษี เพราะช่วยกระจายรายได้และหลบเลี่ยงภาษีได้ยากกว่าภาษีมรดก"
ชี้ภาษีมรดกไม่ตอบโจทย์
ขณะที่ผลวิจัยร่างภาษีมรดก "ดร.ดวงมณี" บอกว่า กำหนดให้กรมสรรพากรเป็นหน่วยงานจัดเก็บ มีสาระสำคัญคือ 1)มรดกที่ได้รับจากคู่สมรสไม่ต้องเสียภาษี 2)ผู้ที่ต้องเสียภาษีคือผู้ที่มีสัญชาติไทย หรือผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทยแต่มีภูมิลำเนาหรือสำนักงานใหญ่อยู่ในประเทศไทยติดต่อกัน 3 ปีถึงวันที่มีสิทธิได้รับมรดก และผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย แต่ได้รับมรดกที่เป็นทรัพย์สินอยู่ในประเทศไทย
ส่วนการคิดภาษี จะคำนวณจากมูลค่าทรัพย์สินที่ได้รับเป็นมรดก หักด้วยหนี้สินที่ตกทอดมากับมรดก จากนั้นจะคิดภาษีอัตราคงที่ 10% จากมรดกส่วนที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท โดยเก็บจากอสังหาริมทรัพย์ หลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เช่น หุ้น และสามารถผ่อนจ่ายได้ไม่เกิน 5 ปี
ขณะที่ผลศึกษาการจัดเก็บภาษีมรดกในต่างประเทศมีประมาณ 30 ประเทศ ส่วนใหญ่เก็บจากการรับมรดก แต่พบว่าบางประเทศได้ยกเลิกกฎหมายแล้ว เช่น แคนาดายกเลิกเมื่อปี"15 และนำภาษีที่เก็บจากกำไรการขายทรัพย์สินมาใช้แทน, สิงคโปร์ยกเลิกปี"51 เพื่อจูงใจต่างชาติเข้ามาลงทุน, นอร์เวย์ยกเลิกปีนี้เพื่อลดภาระการโอนธุรกิจให้ลูกหลาน โดยหลายประเทศเก็บภาษีมรดกได้เพียง 0.01-1.3% ของรายได้จากภาษีทั้งหมด
เปิด 5 ข้อเสนอ
ทั้งนี้มีความเห็นและข้อเสนอว่า 1)ภาษีมรดกจะลดความเหลื่อมล้ำได้ไม่มากเนื่องจากไม่ได้เก็บในอัตราก้าวหน้า 2)ควรจัดเก็บภาษีจากการให้มรดกควบคู่กับภาษีการรับมรดก เพื่อไม่ได้เกิดช่องโหว่เลี่ยงภาษี 3)อาจมีการเลี่ยงภาษีโดยถือครองทรัพย์สินที่ไม่ต้องขึ้นทะเบียน เช่น เพชร ฯลฯ 4)รายได้จากภาษีมรดกถือว่าไม่สูง ควรคำนึงต้นทุนการจัดเก็บให้ดี และ 5)ควรให้ อปท.เป็นผู้จัดเก็บ
นอกจากนี้ เชื่อว่าอาจมีผู้พยายามเลี่ยงภาษีโดยการโอนทรัพย์สินไปต่างประเทศ ทำให้ตรวจสอบยาก ต้องมีค่าใช้จ่ายจัดเก็บ กรณีที่เก็บภาษีได้น้อยอาจไม่คุ้มค่า
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 18 ธ.ค. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.