มีรายงานผลการวิจัยของกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน (Local Action Links) ร่วมกับศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่ผ่านหนังสือพิมพ์มติชน เกี่ยวกับสภาพหนี้สินของชาวนา จ.ชัยนาทและอ่างทองในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2557 พบว่า ชาวนามีหนี้สินสูงกว่ารายได้ถึง 29 เท่า และ 20 เท่า ตามลำดับ โดยภาพรวมแล้วชาวนาเป็นหนี้ในระบบหรือสถาบันการเงินมากกว่าหนี้นอกระบบหลายเท่า ทั้งนี้ ชาวนาไม่มีเงินหมุนเวียนใช้จ่ายในครอบครัว จึงต้องไปกู้เงินมาใช้ ชาวนาอ่างทองนำเงินกู้ร้อยละ 36 ไปลงทุนทำการเกษตร ร้อยละ 44 นำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น เป็นค่าเล่าเรียนลูก ค่ารักษาพยาบาล ที่เหลือนำไปใช้คืนหนี้ ส่วนชาวนาชัยนาทนำเงินกู้ร้อยละ 43 ไปลงทุน ใช้จ่ายในชีวิตประจำวันร้อนละ 46 ที่เหลือร้อยละ 11 ใช้คืนหนี้
จะว่าไปแล้ว ไม่ว่าจะสำรวจวิจัยเกี่ยวกับปัญหาของชาวนากี่ครั้งกี่หน ทั้งในเชิงตัวเลขปริมาณหนี้สิน และคุณภาพชีวิตของชาวนา ก็จะได้ผลออกมาในทำนองเดียวกันคือ ทุกครอบครัว ทุกชีวิตจมอยู่ในกองทุกขเวทนาไม่ได้ลืมตาอ้าปาก หนี้สินล้นพ้นตัว สุดท้ายต้องสูญเสียที่ดินทำกินที่เคยถือครองกันมาหลายชั่วอายุ ผลงานการวิจัยที่ผ่านมา มักมีข้อเสนอที่คล้ายๆ กัน อย่างเช่น ภาครัฐจะต้องเข้ามาแทรกแซงเพื่อให้ชาวนาสามารถพึ่งพิงตัวเองได้ ขณะเดียวกันสถาบันการเงินของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการชดเชยสินเชื่อด้วยการยึดหลักทรัพย์ที่เป็นที่ดินของชาวนา มาเป็นการประนอมหนี้ ต้องสนับสนุนให้ชาวนาหันมาทำเกษตรอินทรีย์แทนสารเคมีที่มีต้นทุนการผลิตทั้งสุขภาพ ชีวิตและเงินทอง ขณะที่ฝ่ายการเมืองก็ใช้นโยบายต่างๆ นัยว่า เพื่อให้ชาวนามีรายได้มั่นคงไปจนถึงขั้นปลดหนี้ ทั้งประกันราคา และล่าสุด คือ โครงการจำนำข้าวทุกเมล็ด ที่สุดท้ายก็คือ การจำแลงแฝงตัวมาของประชานิยม สร้างความวิบัติย่อยยับให้แก่ชาวนาอีกวาระหนึ่ง
กระนั้นก็ตาม กล่าวสำหรับต้นทุนการผลิตของเกษตรกรรมทำนา นับได้ว่ามีความสลับซับซ้อนเป็นอย่างยิ่ง ถ้าหากไม่นับรวมเอาค่าแรงงานในครัวเรือน ค่าดำรงชีพในแต่ละวันของคนในครอบครัวแล้ว ชาวนาในยุคนี้มีต้นทุนการทำนาสารพัดรูปแบบนับตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี ค่าจ้างหว่านข้าวเพื่อเพาะปลูก ค่าจ้างพ่นสารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช ค่าจ้างรถเกี่ยวข้าว ค้าจ้างสูบน้ำเข้านา ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับรถไถนาและเครื่องสูบน้ำ ประมาณการกันว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ในภาคกลางสูญเสียต้นทุนการผลิตเช่นว่านี้ไปคิดเฉลี่ยไร่ละเกือบ 1 หมื่นบาท บางปีต้นทุนการผลิตต่อไร่สูงกว่าราคาข้าวเปลือกด้วยซ้ำ ขณะที่ผลการสำรวจพบว่า เกษตรกรที่หันหลังให้สารเคมีมาทำนาข้าวอินทรีย์ มีต้นทุนการผลิตลดลงเหลือเพียงประมาณไม่เกินร้อยละ 20 จากต้นทุนเดิม ซึ่งทุกวันนี้เกษตรอินทรีย์น่าจะไปไกลได้เกินกว่าเกษตรทางเลือกในหมู่เกษตรกรกลุ่มเล็กๆ เท่านั้นแล้ว
รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสนใจอยู่ไม่น้อย กับแนวทางการปฏิรูปอาชีพเกษตรกรรม อย่างเช่น การจัดโซนนิ่งพืชเศรษฐกิจ การปฏิรูปที่ดินเพื่อจัดสรรให้เกษตรกรและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายป่า แต่ในสภาพความเป็นจริง ทุกวันนี้เกษตรกรรมอาชีพหลักถูกครอบงำด้วยระบบทุน ทั้งในด้านการตลาด และต้นทุนการผลิตที่ยังต้องพึ่งพิงสารเคมีจำนวนมหาศาลในแต่ละปี หนทางที่ภาครัฐจะใช้นโยบายช่วยให้ชาวนามีชีวิตที่ดีขึ้นได้นั้น น่าจะต้องขับเคลื่อนทุกองคาพยพเพื่อฉุดดึงพวกเขาออกจากกับดักของทุน การพึ่งพิงแหล่งเงินกู้ที่มากจนเกินไป และที่สำคัญคือ จะต้องหยุดยั้งนโยบายประชานิยมที่แอบแฝงมากับมาตรการช่วยเหลือเกื้อกูลชาวนาต่างๆ ลงอย่างสิ้นเชิงทันที
่ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 19 ธ.ค. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.