ทำความรู้จักเกษตรกรตัวอย่างในแนวคิดสมาร์ท ฟาร์เมอร์ (Smart Farmer) จากโครงการเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดปี 2557 ผู้ที่ปั้นอนาคตด้วย 2 มือของตัวเอง...
หากพูดถึง "การเพาะปลูก"ในสายตาต่างชาติอาจมองว่าการเกษตรของไทยนั้นยังล้าหลัง ไม่ทันยุคทันสมัย! แต่ใครจะรู้ว่า... วันนี้เกษตรกรไทยได้เปลี่ยนโฉมแล้ว! แม้จะยังไม่มากหรือเป็นจำนวนทั้งหมดแต่ก็มีเริ่มต้นแล้วกลุ่มหนึ่ง ที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนารูปแบบการเกษตรของพวกเขา
เพราะ...มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด และดีแทค ได้ร่วมกันสานฝันให้เกษตรกรไทย ผ่านโครงการ "เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด" ประจำปี 2557 ซึ่งจัดการประกวดต่อเนื่องมาเป็นครั้งที่ 6 เพื่อเฟ้นหาต้นแบบเกษตรกรต้นแบบภายใต้แนวคิดสมาร์ท ฟาร์เมอร์ โดยเน้นความสร้างสรรค์ในการวางแผน พัฒนา และต่อยอดผลิตภัณฑ์ของตน รวมถึงเตรียมพร้อมสำหรับการค้าขายออนไลน์... และจากการประกาศเกษตรกร 10 ท่านสุดท้ายที่ผ่านการเข้ารอบในโครงการดังกล่าว รางวัลชนะเลิศก็ตกเป็นของเกษตรกรยุคใหม่ "เอกสิทธิ์ จันทกลาง" ชาวลำพูน ที่สรรสร้างค์ผลิตภัณฑ์ด้วยการประยุกต์แนวคิดทางธุรกิจด้วย "ชาสมุนไพรอบน้ำผึ้ง"
รับรางวัลชนะเลิศ...
หนี้สิน! เป็นจุดเริ่มต้น
เกษตรกรพันธุ์ใหม่ เล่าว่า... ในอดีตพ่อแม่ก็ทำอาชีพเกษตรกรสวนลำไยมาก่อน ด้วยเนื้อที่กว่า 200 ไร่ แต่วันหนึ่งกลับประสบปัญหาและถูกโกง จนทำให้เกิดหนี้สินกว่า 10 ล้านบาท ตนจึงตัดสินใจทิ้งอาชีพทนายและนำความรู้ด้านกฎหมาย กลับมาช่วยพ่อแม่ทำสวนลำไยเพื่อล้างหนี้สิน
วิถีเกษตรกรต้นแบบ!
แต่จากวิถีการเป็นเกษตรกรสวนลำไยและทำลำไยอบแห้ง เอกสิทธิ์ บอกว่า มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้แปลกใหม่และเพิ่มมูลค่ามากขึ้น จนเป็นต้นกำเนิดสู่สินค้าแรก คือ น้ำผึ้งจากดอกลำไย โดยใช้วิธีการเลี้ยงผึ้งด้วยดอกลำไย ทำให้ได้รสชาติน้ำผึ้งที่หวานเป็นธรรมชาติและแปลกใหม่สู่ตลาด นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาสินค้าอื่นๆ เช่น ชาสมุนไพรอบน้ำผึ้งและสบู่น้ำผึ้งอีกด้วย ส่วนสินค้าที่ใช้นำเสนอในโครงการเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ได้แก่ การพัฒนาชาสมุนไพรที่แปรรูปจากน้ำผึ้ง ซึ่งเดิมทำร่วมกับกลุ่มเกษตรกรในชุมชนอยู่แล้ว 4 แบบ แต่ต้องการพัฒนาเพิ่มขึ้นอีก 3 แบบ โดยทำเป็นชา 7 สี 7 วัน เพื่อสร้างจุดเด่นให้สินค้า และด้วยความที่เป็นคนรุ่นใหม่ จึงมีความเข้าใจเทคโนโลยีมากกว่าเกษตรกรและชาวบ้านคนอื่น ตนและน้องสาวจึงช่วยกันนำสินค้าเข้าสู่การขายออนไลน์ ขณะเดียวกันตนก็เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายให้กับเพื่อนบ้านในชุมชนด้วย
รวมทีมเกษตรกรคนเก่งที่ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก เพิ่มยอดขาย
จริงจัง! ด้วยออนไลน์
ผมเริ่มต้นอาชีพเกษตรกรเมื่อปี 2551 แต่เริ่มใช้ช่องทางออนไลน์ในการขายตั้งแต่ปี 2553 เนื่องจากมองเห็นโอกาสในการขายผ่านระบบออนไลน์ที่สะดวกกว่าและไม่ต้องมีพื้นที่ตั้งร้าน ผ่านเว็บไซต์www.sangphueng.com และโซเชียลเน็ตเวิร์กอย่างเฟซบุ๊ก โดยปัจจุบันยอดขายของเราแบ่งเป็นการขายผ่านหน้าร้าน 30% และขายผ่านออนไลน์ 70% ซึ่งสามารถทำรายได้ราว 600,000 บาท ในปีที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อว่าแนวโน้มรายได้จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ
3 อันดับสินค้าขายดี...
สินค้าขายดี คือ น้ำผึ้งจากดอกลำไย ชาสมุนไพร และสบู่น้ำผึ้ง ซึ่งนอกจากการขายผ่านหน้าร้านซึ่งส่งสินค้าให้กับร้านค้าและห้างสรรพสินค้าราวๆ 3-4 แห่ง ก็ยังมีผู้รับไปขายต่ออีกด้วย ส่วนการขายในตลาดต่างประเทศนั้น ปัจจุบันเราสามารถบุกตลาดไต้หวันได้แล้ว ซึ่งสินค้าที่ชาวไต้หวันนิยมก็คือน้ำผึ้ง แม้ปัจจุบันยอดขายจากต่างประเทศจะมีเพียง 10% ของยอดขายทั้งหมด แต่เรามั่นใจว่าในปีหน้าจะเพิ่มยอดขายในต่างประเทศได้เป็น 30%
แฟนเพจน้ำผึ้ง ตราแสงผึ้ง
เพิ่มมาตรฐาน สู่ปลายทางแห่งฝัน
จากความสำเร็จที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ตนมองว่ายังไม่น่าพอใจ เพราะยังต้องการสร้างมาตรฐานเพื่อให้ได้รับการยอมรับในระดับสากล แม้ว่าขณะนี้จะสามารถได้รับมาตรฐานระดับประเทศแล้วก็ตาม เนื่องจากต้องการนำสินค้าไปขายตลาดต่างประเทศให้ได้หลายๆ แห่ง ส่วนสิ่งที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการนี้ก็คือการสนับสนุนด้านการตลาด เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้การค้าและสินค้า
นี่แหละมั้งที่โบราณท่านว่า... อย่าอายทำกิน! แค่คุณมุ่งมั่นและตั้งใจ สิ่งที่คุณคิดว่าแย่ที่สุดก็อาจจะกลับกลายเป็นเรื่องดีๆ ในชีวิตก็เป็นได้...!
เว็บไซต์แสงผึ้ง
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 17 ธ.ค. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.