เล็งตั้งกองทุน-ช่วยเกษตรกรกู้เงินจากแบงก์ง่ายขึ้น แก้กฎหมายให้ที่ดินส.ป.ก.จำนองได้
รมว.เกษตรฯ เล็งตั้งกองทุนค้ำประกันเกษตรกรนำที่ดินส.ป.ก.ไปกู้ธนาคาร โดยจะเข้าไปดูแลหากเกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้ กองทุนจะใช้หนี้แทนและยึดที่ดินมาแจกจ่ายให้เกษตรกรรายอื่น
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ เตรียมสร้างกลไกให้ที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) ที่เกษตรกรถือครองอยู่ให้มีมูลค่า สามารถนำไปค้ำประกันเงินกู้ได้ เพื่อให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยกองทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม จะต้องเข้ามามีบทบาท เป็นตัวกลาง หรือค้ำประกัน การซื้อ-ขายที่ดิน ส.ป.ก. เพราะขณะนี้ที่ดินมีมูลค่าที่ดินสูงขึ้น
ที่ดินส.ป.ก.บางแห่ง ตั้งอยู่ในทำเลที่มีมูลค่าสูงจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนแหล่งเงินทุน หากสามารถแก้ปัญหาให้ที่ส.ป.ก.สามารถนำไปค้ำประกันเงินกู้ได้ ก็จะขจัดปัญหาการขาดสภาพคล่องของเกษตรกรได้บางส่วน หากธนาคารสามารถรับที่ดินส.ป.ก.ไว้เพื่อค้ำประกันเงินกู้
"ปัญหาเกษตรกรในพื้นที่คือขาดแหล่งทุน เพราะขณะนี้ไม่สามารถนำที่ส.ป.ก.ไปค้ำประกันเงินกู้ได้ เพราะไม่มีธนาคารใดยอมรับ เนื่องจากยึดพื้นที่ไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องแก้กฎหมายเพื่อให้กองทุนเข้ามามีบทบาทเป็นตัวเชื่อมระหว่างเกษตรกรกับเอกชน โดยจะเป็นผู้รับความเสี่ยงไว้เอง ที่ดินที่ซื้อคืนมาจะขายให้เกษตรกรได้ แต่ห้ามจำหน่ายจ่ายโอน เพราะทั้งหมดยังเป็นที่ดินของส.ป.ก."
หากเกษตรกรนำที่ดินส.ป.ก.ไปค้ำประกันเงินกู้กับธนาคารพาณิชย์ กรณีที่เกษตรกรไม่สามารถชำระหนี้ได้ กองทุนจะ เป็นผู้ซื้อที่ดินคืนและเจรจากับธนาคารแทนเกษตรกร แต่ที่ดินที่ถูกซื้อคืนนั้นจะนำไปจัดสรรให้กับเกษตรกรรายอื่นต่อไป การดำเนินการลักษณะนี้จะเป็นการเพิ่มเครดิตให้กับเกษตรกร
นอกจากนี้ ได้สั่งให้ส.ป.ก.ตรวจสอบการใช้ที่ดินของส.ป.ก. ใน 2 กรณีคือ 1.การใช้พื้นที่ไม่ตรงกับข้อบังคับในกฎหมาย
ที่ระบุให้ใช้พื้นที่เพื่อการเกษตรกรรมเท่านั้น 2.ผู้ครอบครองที่ดินอยู่ในปัจจุบันมีคุณสมบัติครบตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งให้พิจารณาถึงข้อจำกัด เช่น อายุมาก กรณีให้เช่า เหล่านี้เหมาะสมที่จะครอบครองที่ดินได้หรือไม่
"การตรวจสอบทั้งหมดส.ป.ก.จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนฤดูกาลเพาะปลูกปีหน้า ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2558 เป็นต้นไป ขั้นตอนการตรวจสอบ เจ้าหน้าที่จะเข้าไปในพื้นที่เพื่อเรียกเกษตรกรที่ครอบครองอยู่มารายงานตัว เข้าไปดูแปลงที่น่าสงสัยโดยขอความร่วมมือกับผู้บริหารส่วนท้องถิ่น หลังจากนั้นให้เสนอให้คณะกรรมการการปฏิรูปที่ดินระดับจังหวัด(คปจ.) พิจารณา หากให้ความเห็นชอบตามเสนอจะถือว่าที่ดินดังกล่าวสิ้นสิทธิ์ทันที"
ที่มา : ข่าวสด วันที่ 15 ธ.ค. 2557