วันนี้ (11ธ.ค.) ที่รัฐสภา นายสมชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง แถลงถึง ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรม ว่า ข้อเสนอสำหรับการคลัง การงบประมาณ และการภาษีอากร ต้องมีการออกมาตราการป้องกันการใช้นโยบายประชานิยม เพื่อป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง ที่อาจก่อให้เกิดผลเสียหายต่อระบอบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว โดยจะให้มีการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่สร้างความนิยมทางการเมือง ที่อาจก่อให้เกิดความเสียต่อระบอบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว เพื่อป้องกันการออกนโยบายประชานิยมที่คิดแต่ง่ายๆ โดยไม่คิดถึงผลระยะยาว
กฎหมายลูกฉบับดังกล่าวจะ มีการวิเคราะห์ถึงผลกระทบระยะยาวของนโยบายประชานิยม ซึ่งนโยบายประชานิยมที่จะออกมา ต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น ว่าจะต้องไม่เป็นนโยบายที่สร้างความเสียหาย เช่น โครงการรับจำนำข้าว ถ้าจะเสนอมาอีกครั้งก็ต้องไปศึกษาถึงกระทบต่อระบบเศรษฐกิจการคลังของประเทศ
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการฯ ยังมีความเห็นว่า การพิจารณางบประมาณในส่วนที่ถูกตัดไปนั้น ไม่สามารถนำไปแจก ส.ส. เพื่อให้นำงบประมาณไปตั้งผ่านหน่วยงานของรัฐได้ หากมีการฝ่าฝืนจะมีบทลงโทษไม่ให้กลับมาเป็นนักการเมืองอีก
ข้อเสนอกมธ.การปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง มีทั้งหมดดังนี้ สำหรับการคลัง การงบประมาณ และการภาษีอากร มี 11 ข้อ คือ 1. บุคคลพึงแสดงรายได้ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้มีรายได้ไม่เพียงพอได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ และให้ผู้เสียภาษีได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย 2.บุคคลมีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมาย รัฐต้องจัดระบบภาษีอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน 3. ต้องมีการจัดตั้งองค์กรอิสระ ที่เรียกว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังและภาษีอากรแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์ นโยบายการเงิน การคลังและภาษีอากร และกำหนดมาตราฐานคุ้มครองสิทธิผู้เสียภาษี 4. ต้องมีการจัดตั้งสำนักงบประมาณแห่งรัฐสภา เพื่อทำหน้าที่ศึกษาและวิเคราะห์การจัดทำงบประมาณภาครัฐ 5.จัดระบบภาษีเป็น 2 ระบบ คือ ภาษีระดับชาติและภาษีท้องถิ่น 6.แผนการจัดหารายได้และแผนรายจ่ายของภาครัฐ ให้จัดทำเป็นพระราชบัญญัติเสนอต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ 7. การใช้จ่ายเงินแผ่นดินจะทำได้เฉพาะที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่า ด้วยงบประมาณรายจ่าย 8.เงินรายได้ของหน่วยงานใดที่ไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน ให้หน่วยงานนั้นรายงานการรับและการใช้จ่ายเงินดังกล่าวต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ 9. ให้มีพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดความหมายของคำว่า “หนี้สาธารณะ” ป้องกันการก่อนหนี้สาธารณะมากเกินควร 10.ต้องมีการออกมาตราการป้องกันการใช้นโยบายประชานิยม เพื่อป้องกันการบริหารราชการแผ่นดินที่มุ่งสร้างความนิยมทางการเมือง และ11. ส.ส.จะตั้งงบประมาณผ่านหน่วยงานของรัฐไม่ได้
สำหรับระบบการเงินและสถาบันการเงิน มี 4 ข้อคือ 1.ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการเงิน 2.รัฐต้องจัดให้มีการกำกับดูแลระบบสถาบันการเงิน 3. รัฐควรส่งเสริมระบบการออมเพื่อการชราภาพ และจัดให้มีสวัสดิการสังคมแก่ประชาชน และ 4 . รัฐควรส่งเสริมประชาชนให้มีความรู้ทางการเงิน
ข้อเสนอสำหรับตลาดทุน มี 4 ข้อ 1. รัฐมีหน้าที่ส่งเสริมและขจัดอุปสรรคต่างๆเพื่อทำให้ตลาดทุนเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ 2. รัฐต้องให้ประชาชนมีความรู้ทางการเงินและการลงทุน 3.รัฐต้องจัดให้มีระบบบำเหน็จบำนาญของประชาชน 4. รัฐต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจนในการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพ
ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และประเด็นอื่นทางเศรษฐกิจ มี 3 ข้อ คือ 1.รัฐต้องจัดทำยุทธศาสตร์โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้ว 2.รัฐต้องจัดระบบรวมศูนย์การบริหารการเชื่อมต่อเศรษฐกิจต่างประเทศในภูมิภาคและในโลก และ 3. รัฐต้องปรับปรุงพัฒนากฎหมายเพื่อเอื้อต่อยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ
ส่วนการลดวามเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ มี 9 ข้อ คือ 1. ต้องจัดให้มีหน่วยงานกลาง รับผิดชอบแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ 2. ต้องดำเนินการสร้างความเท่าเทียมในเชิงโอกาสให้ประชากรกลุ่มต่างๆ 3. การจัดสรรงบประมาณประจำปี ต้องดำเนินให้ผู้ที่ยากจนได้รับการดูแล 4.ต้องดำเนินการปฏิรูปภาคการเกษตรเพื่อให้มีประสิทธิภาพ 5. ดำเนินการให้เกษตรกรโดยรวม เข้าถึงที่ดินทำกินและสามารถรักษาไวได้ 6. จัดเก็บภาษีอย่างเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ 7. ต้องไม่ให้เกิดการผูกขาดตัดตอน ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ในการทำธุรกิจต่างๆ ที่ต้องมีความเสรีเป็นธรรม 8.ต้องจัดให้มีระบบสวัสดิการขั้นพื้นฐาน และ 9. สนับสนุนให้ภาคเอกชนและประชาชนมีส่วนร่วมแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 11 ธ.ค. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.