มหาดไทยชี้ ร้องทุกข์ศูนย์ดำรงธรรม ปชช.อ่วมหนี้นอกระบบมากสุด โซนอีสานครองแชมป์หนี้ 1725 เรื่อง เหตุ ขาดการยั้งคิด นิดหน่อยๆ จนดินพอกหางหมู แจง "เจ้าหนี้" ยังมาร้อง โดนพรรคพวก เชิดเงินหาย ไร้วี่แวว โอด บุคลากรไม่เพียงพอ ทำจนท.เครียด ทยอยลาออก-เกิดปัญหาไม่สนิทใจ ลั่นยังเป็นความหวังรัฐบาล อ้าง ผลโดยรวมชาวบ้านพึงพอใจ เผย เเผนงาน ปี58-59 เตรียมขยายระบบเชื่อมโยงต่อทุกกระทรวง - กรม ลงยัง เทศบาล - ท้องถิ่น
วันที่ 10 ธ.ค. 57 - แหล่งข่าวระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึง ปัญหาที่ประชาชนร้องเรียนผ่านศูนย์ดำรงธรรมเข้ามามากที่สุด คือในเรื่อง "หนี้นอกระบบ" ทั้งความเป็นอยู่ เเละปากท้องของประชาชน ที่เข้ามาขอความช่วยเหลือ บางครั้งอาจจะไปร้องที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาลมาแล้ว และพบว่าเป็นคนกลุ่มเดียวกัน เมื่อมาร้องที่ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย ซึ่งจากสถิติ ปัญหาในเรื่องหนี้นอกระบบ พบว่า มีประชาชนทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้ามาร้องเรียน ในเรื่องดังกล่าวมากที่สุด ถึง 1725 เรื่อง ของผู้มาติดต่อทั้งหมด
แหล่งข่าว กล่าวอีกว่า ตั้งแต่มีประกาศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ฉบับที่96/2557 เรื่อง การจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานระดับจังหวัดและให้การปฏิบัติงานของส่วนราชการในจังหวัดสามารถให้บริการประชาชนได้อย่างเสมอภาค มีคุณภาพ รวดเร็ว ลดขั้นตอนการปฏิบัติงานและประชาชนได้รับความพึงพอใจจนถึงปัจจุบัน ปัญหาหนี้นอกระบบ สะท้อนให้เห็นถึง สภาพเศรษฐกิจ ที่เป็นภาพในลักษณะ คนที่มีอำนาจเงิน มีอิทธิพล ยังมีการเอาเปรียบคนที่ด้อยโอกาสอยู่ ต่อมา คือผู้ที่ตกเป็นทาสของหนี้นอกระบบซะเอง ซึ่งมีหลายกลุ่มหลายประเภท อาทิ กู้มาเพื่อลงทุน โดยรู้เท่าไม่ถึงการ ถึงดอกเบี้ยที่หฤโหด และกรณีที่มีความจำเป็นต้องกู้ เนื่องจาก เสียผลประโยชน์ส่วนตัวบางอย่าง หรือเงินจำนวนมากที่ต้องเสียไป
"สาเหตุที่ทำไมยอดประชาชนในภาคอีสานถึงสูงสุด เพราะว่า เขายังขาดวิธีในการคิด คิดว่ามันนิดหน่อยเอง ส่วนหนึ่งเข้าใจว่าเขาก็มีความจำเป็น บางทีก็ไปลงทุนตามเขาโดยไม่ศึกษา พอมากขึ้นๆ มันก็สะสมก่อตัวทำให้หนี้สูงขึ้น การพนันก็มีส่วนเหมือนกันที่ทำให้เกิดปัญหา” แหล่งข่าวกล่าว และว่า สำหรับการตอบสนองการทำงานของเจ้าหน้าที่ต่อประชาชนที่มาร้องเรียนนั้น ถือว่ามีทิศทางที่ดีขึ้น ประชาชนมีความเชื่อมั่น และทยอยเข้ามาร้องเรียนเยอะขึ้นเป็นเท่าตัว ส่วนใหญ่เป็นเรื่องหนี้ ถ้าปัญหาที่หนักจริงๆ ก็จะต้องดำเนินการก่อน โดยการแจ้งตำรวจ เพื่อดำเนินการตามกฎหมาย ความรุนแรงก็จะพิจารณาลดหลั่นกันไป ตามภาระหนี้ ความหนัก-เบา ในการทวงถามของเจ้าหนี้
"อย่าว่าแต่ลูกหนี้เลย เจ้าหนี้บางคนก็ยังเข้ามาร้องเรียน ในกรณีที่พรรคพวกกัน กู้เงินไป แล้วไม่ใช้คืน ก็มี แต่น้อย ส่วนแนวทางการดำเนินการต่อเจ้าหนี้ ถ้าพบว่า เป็นเจ้าหน้าที่รัฐทำตัวเป็นเจ้าหนี้ซะเอง ก็ต้องแจ้งไปยังผู้บังคับบัญชาเขา เพื่อตักเตือน ทำบันทึกสัญญา หักเงินเดือนทยอยทีละน้อย แต่ถ้าไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐก็จะลำบากหน่อย” แหล่งข่าว กล่าว และยังระบุถึง ปัญหาในการดำเนินงานของศูนย์ดำรงธรรม ก็คือ ในเรื่องของบุคลากร หรือเจ้าหน้าที่ที่จะมาปฏิบัติงานในส่วนนี้ ถือว่ายังมีไม่เพียงพอ เมื่อเทียบกับปริมาณ และกรอบการดำเนินงาน ที่เยอะขึ้น เมื่อไม่เพียงพอ ประกอบกับภาระงานที่หนักขึ้น ก็เกิดความเครียด และลาออกกันไป เพราะงานแบบนี้ถือว่าต้องใช้ทักษะ และไหวพริบสูง ในการพูดคุยเจรจา ต่อประชาชนที่มาร้องเรียน
สำหรับแนวทางแก้ไข ตามประกาศคสช.ฉบับดังกล่าว ที่มอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดกำกับดูแล ทั้งบุคคลากร และงบประมาณ แต่ในทางปฏิบัติกลับเกิดความเกรงใจ ระหว่างหน่วยงานอื่น นอกจากจะสนิทใจกันจริงๆ จึงจะขอตัวบุคลากรเพื่อมาทดแทนกันได้ ล่าสุด กระทรวงได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อจ้างบุคลากร ช่วงนี้ก็ได้มาจังหวัดละ2คน ถือว่าพอแก้ไขได้ส่วนหนึ่ง แต่ก็ไม่ทั้งหมด เพราะปริมาณงานก็ยังเยอะอยู่
“เราเป็นความหวังของรัฐบาลนะ ที่เขาอยากจะแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้เกิดผล ก็ต้องพยายามกันต่อไป จากผลสำรวจถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพึงพอใจ ประชาชนพอใจมากขึ้น เมื่อวัดจากโพลล์สำนักต่างๆ แต่มันอาจสวนทางกับความสุขของเจ้าหน้าที่นะ มันอาจเป็นความทุกข์ทางใจ อย่างน้อยก็ได้ช่วยประชาชนเมื่อเขาเดือดร้อน ค่อยๆให้มันคลี่คลายไป หากแก้ไม่ได้จริงๆ อย่างน้อย คุยดี พูดจาดี แนะนำดี เขาก็สบายใจแล้ว” แหลงข่าว กล่าว และ ระบุถึง การวัดผลประเมินงานของเจ้าหน้าที่ และการทำงานของศูนย์ดำรงธรรม และแผนงานต่อไปที่เตรียมจะเสนอรัฐบาลเพื่อสร้างประสิทธิภาพในอนาคต ว่า เฉพาะส่วนกลาง การวัดผลจะมีการประเมินทุกๆ6เดือน อาทิ มีเรื่องร้องเรียนกี่เรื่อง สามารถแก้ปัญหาได้ไปกี่เรื่อง จะวัดเป็นคะแนน ที่มีผลถึงค่าตอบแทน หรือใช้ประกอบต่อการรับเงินเดือนอีกด้วย ซึ่งการวัดจะเป็นเฉพาะรายบุคคล อีกทั้งยังมีการวัดผลในแบบกลุ่มใหญ่อีกด้วย
ขณะที่แผนงานเตรียมเสนอรัฐบาล ในปี 2558 นี้ เรามีแผนโครงการที่จะพัฒนาบุคลากร พัฒนาระบบข้อมูลร้องทุกข์แบบออนไลน์ เพื่อประมวลผล เเละเชื่อมโยงลงไปยังระดับอำเภอ รวมถึงในทุกกระทรวง ส่วนในปี 2559 ก็จะเชื่อมโยงลงไปในระดับกรมทุกกระทรวง เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.) และองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) โดยตอนนี้ได้เสนอต่อรัฐบาลไปแล้ว เพียงแต่จะต้องรายงานผลการดำเนินงานให้ทราบล่วงหน้าเป็นระยะต่อไป
ที่มา : สยามรัฐ วันที่ 10 ธ.ค. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.