ประวัติศาสตร์ความยากจนและการพัฒนาฉบับย่อ ผ่านปาฐถาของ "วรวิทย์ เจริญเลิศ" ในงานสัมมนารำลึก 19 ปีสมัชชาคนจน ย้ำปฏิรูปโดยไม่มีประชาธิปไตยเป็นไปไม่ได้ ที่ผ่านมาคนจนมีโอกาสเติบโตและมีส่วนร่วมทางการเมืองในยุคที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน
4 ธ.ค. 2557 - ที่ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารเอนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการจัดเวทีสาธารณะหัวข้อ "เหลียวหลังแลหน้าสถานการณ์คนจน" เพื่อรำลึกถึงการก่อตั้งสมัชชาคนจนปีที่ 19 โดยการประชุมดังกล่าวจัดโดย สมัชชาคนจน ร่วมกับ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยหลังการปาฐกถาเปิดของ สมเกียรติ พ้นภัย แกนนำพ่อครัวใหญ่สมัชชาคนจน เป็นการปาฐกถาของ วรวิทย์ เจริญเลิศ รองศาสตราจารย์ ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีรายละเอียดดังนี้
การปาฐกถาเปิดของวรวิทย์ เจริญเลิศ ในเวทีสาธารณะหัวข้อ "เหลียวหลังแลหน้าสถานการณ์คนจน"
ถ้าจะทำความเข้าใจเรื่องคนจน ต้องโยงกับโครงสร้างใหญ่ และที่ผ่านมาการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ส่งผลกระทบอย่างไร ใครเป็นคนเสียสละของการพัฒนานี้ เวลาจะพูดถึงเศรษฐกิจไทย เราพูดแค่ไทยไม่ได้ จะต้องมองไปไกลอีก คือเศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่โดดเดี่ยว มีปฏิสัมพันธ์กับประเทศอื่น ตอนนี้เราก็พูดว่า เราเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน ก็คือประชาคมโลก อยู่ใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ เวลาเราพูดถึงคนจนต้องมองทั้งสถานการณ์คนจน มองทั้งเศรษฐกิจ สังคม การเมืองประเทศไทย และมองโยงไปสู่ข้างนอกด้วย ดังนั้นเราจะมองเรื่องที่ไกล มากกว่าที่จะพูดเรื่องปัญหาใกล้ตัว เพราะปัญหาใกล้ตัวนั้นสมัชชาคนจนได้ขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ มาโดยตลอด
ผมจะเริ่มพูดเรื่องเศรษฐกิจไทยก่อน และมาดูผลกระทบ ก่อนที่มาดูว่าคนจนคือใคร
เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจ คนมักพูดว่าเราจะดูจากที่ไหน บ้างก็ว่า จีดีพี ซึ่งก็คือการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดูผลผลิตมวลรวม ตอนนี้รัฐบาลก็บอกว่าแย่แล้ว เศรษฐกิจชะลอตัว การเติบโตของจีดีพีอยู่ที่ 1-2% โดยเฉลี่ย เราจะโตประมาณ 7-8% แต่ตอนนี้ชะลอตัว และยิ่งสถานการณ์การเมืองหลังรัฐประหารย่อมมีปัญหาแน่นอน เพราะเราเป็นระบบเศรษฐกิจเปิด ย่อมส่งผลกระทบหลีกเลี่ยงไม่ได้
นักเศรษฐศาสตร์ รัฐบาล ชอบพูดเรื่องจีดีพี แต่เมื่อเราดูในต่างประเทศเขาพูดมากกว่า จีดีพี เขาบอกว่า พูดถึงเศรษฐกิจอย่างเดียวไม่ได้ ตอนนี้ต้องพูดถึง “จีดีพีในมิติทางสังคม” หมายถึง ถ้าเราจะพูดถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจ ต้องมองว่าประชาชนในประเทศมีชีวิตดีขึ้นหรือไม่ ต้องดูว่าคนมีรายได้ดีขึ้นหรือไม่ มีงานทำที่มั่นคง ที่ดี มีการทำงานที่ปลอดภัยหรือไม่ หรือในประเทศนี้มีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมหรือไม่ พอเรามาดูมิติทางสังคม ไทยเป็นอย่างไร ผมคิดว่ายังสอบตก 40 ปีของการพัฒนา ในขณะนี้เราเป็นประเทศอุตสาหกรรม มีการเติบโตทางเศรษฐกิจบางช่วงสูงมาก เราเอาคนออกจากภาคชนบท มาทำงานในเมือง เป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรม แต่เราก็ยังเผชิญกับปัญหาใหญ่ๆ ที่ไม่ได้รับการแก้ไข ปัญหาใหญ่นี้มีสามประการ ผมเรียกว่า ความเหลื่อมล้ำในสังคมสามประการ
หนึ่ง ความเหลื่อมล้ำระหว่างภาคอุตสาหกรรม และเกษตรกรรม ที่เราเห็นว่าโตนี้คือ ภาคอุตสาหกรรม แต่ที่ถูกทิ้งห่างไป คือภาคเกษตรกรรม ทั้งที่มีคนอยู่ค่อนข้างเยอะ คือ 40% ของกำลังแรงงาน และความเหลื่อมล้ำนี้ขยายตัว เพราะรัฐบาลมุ่งส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก
สอง ความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองกับชนบท แม้เราจะบอกว่ามีการพัฒนาภูมิภาค มีการกระจายของนิคมอุตสาหกรรมออกไป แต่เราจะพบว่ามีการนิคมอุตสาหกรรมที่สร้างขึ้นกระจุกที่ จ.ชลบุรี หรือ จ.ระยอง คือเป็นผลของการเติบโตของกรุงเทพฯ เท่านั้นเอง เป็นการกระจายการกระจุกตัว หรือแม้จะมีการกระจายอุตสาหกรรม เช่น ไปนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จ.ลำพูน แต่เราจะเห็นว่าการกระจายนี้ไม่จริง อำนาจยังกระจุกตัว ไม่มีการกระจายอำนาจ ยิ่งยุคปัจจุบันไม่ต้องพูดถึง อำนาจก็ยังรวมศูนย์ที่กรุงเทพฯ
สาม ความเหลื่อมล้ำอันที่สามที่ไม่ได้รับการแก้ไข คือ ความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น พูดโดยรวมๆ คือเป็นความเหลื่อมล้ำ ช่องว่างของการกระจายรายได้ระหว่างคนรวยและคนจนในสังคมไทย ในการเติบโตทางเศรษฐกิจทุกครั้ง คนรวยจะได้ส่วนแบ่งมากที่สุด อย่างรายได้ประชาชาติ ส่วนแบ่งของรายได้ประชาชาติกว่า 50% ตกอยู่ในมือของคนรวย 20% ของประเทศ คนจน 20% ล่างสุด มีส่วนแบ่งเพียง 4-5% ของรายได้ประชาชาติ ซึ่งน้อยมาก เขาก็พูดว่า รวยกระจุก แต่กระจายความจนให้คนทั่วไป ทั้งๆ ที่สังคมไทย มีโอกาสดีกว่านั้น ไม่น่าจะมีปัญหาเรื่องคนจน แต่คนจนเกิดขึ้นไม่ใช่ปัญหาตัวบุคคล แต่เป็นปัญหาที่สมัชชาคนจนก็รู้ว่าเป็นปัญหาโครงสร้าง และนโยบาย
ดังนั้นเราจะแก้ปัญหาเรื่องคนจน เราอาจจะโยงว่าใครจะปฏิรูป ในเมื่อเราไม่มีประชาธิปไตย ถ้าเราไปดูรายละเอียดยิ่งขึ้น การพัฒนาเศรษฐกิจของไทยที่ผ่านมา คือมุ่งความเป็นอุตสาหกรรม ทิ้งภาคเกษตรกรรม
อุตสาหกรรมเราแบ่ง 2 ยุค ยุคแรกปี พ.ศ. 2503 – 2517 อุตสาหกรรมทดแทนการนำเข้า ลดการนำเข้า ผลิตเอง ใช้เอง ทำสิ่งทอเอง ขายเองในประเทศ เครื่องใช้ไฟฟ้า แต่มาหลังปี พ.ศ. 2528 เราก็เปลี่ยน เพราะขายเองคนจนไม่มีตลาด เราก็เน้นส่งออก คือการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก เราใช้กลยุทธ์นี้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด คือเน้นอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก พอเน้นการส่งออก รัฐก็ลำเอียงต่อการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรม เพราะฉะนั้น ในยุคการส่งออก ก็มีการส่งเสริมการลงทุนต่างชาติ เพราะคิดว่าลงทุนมาก ก็ทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อน การลงทุนก็มาลงทุน ผลิต แล้วส่งออก
ตัวหนึ่งที่เราหวังเป็นตัวขับเคลื่อนคือ การท่องเที่ยว ดังนั้นเศรษฐกิจในยุคส่งออก เราก็เปิดเสรีหมด เปิดเสรีทั้งตลาด อุตสาหกรรม บริการ รับการลงทุนต่างชาติ แต่ทุกอย่างส่งออก ไม่ต้องคำนึงการขายในประเทศ ไม่คำนึงเรื่องการกระจายรายได้ คนไม่ต้องมาซื้อเราขายต่างประเทศ
แนวคิดนี้เขามองว่า การลงทุนเพื่อส่งออก การลงทุนข้ามชาติ การท่องเที่ยว ทำให้เม็ดเงินไหลเข้า การไหลเข้าของเงิน ทำให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ ทำให้คนไทยเรียนรู้ ในที่สุดจะทำให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี เมื่อต่างชาติเอาทุนมาลง เราจะได้รับการถ่ายทอดฝีมือ เราคิดอย่างนี้ว่าสิ่งนี้เองจะทำให้ไทยขับเคลื่อนไปสู่แนวหน้าของประเทศอุตสาหกรรม เราพูดว่าจะเป็นเสือตัวที่ 5 เสือ 4 ตัว มีเกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง เราเรียกว่า 4 เสือเอเชีย แต่เมื่อกี้คุยกัน เขาบอกมันไม่น่าจะเป็นเสือตัวที่ห้า เพราะตอนนี้โตช้ากว่าเวียดนาม กัมพูชา
เมื่อเราเน้นการส่งออก รูปแบบอุตสาหกรรมแบบนี้ จะเกิดปัญหาอะไร ผมแยกสองส่วน
ปัญหาปัจจัยภายนอก เมื่อเราไปโยงข้างนอก ปัญหาที่เราจะเผชิญก็คือ ในขณะที่ประเทศอื่นเป็นประชาธิปไตย และเราทำรัฐประหาร มันมีอุปสรรคต่อการส่งออกแน่นอน นี่เป็นปัญหาทางการเมือง เพราะฉะนั้นการกลับคืนสู่ประชาธิปไตยนี้จึงสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย แต่อย่างไรก็ตามถ้าเรายังเน้นส่งออก เราก็มีข้อจำกัดเรื่องปัจจัยภายนอก เรามีคู่แข่งมาก ทุกประเทศก็ต้องการส่งออกทั้งนั้น ทั้งกัมพูชา เวียดนาม ที่สำคัญคือจีน คือส่งออกทั้งหมด และต้นทุนต่ำ คือค่าแรงถูก ดังนั้นคู่แข่งในตลาดโลกมีมาก
เราอยากส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ยุโรป ที่มีกำลังซื้อสูง แต่ประเทศเขาก็มีวิกฤตเศรษฐกิจ เศรษฐกิจชะลอตัว คนไม่ซื้อ ยิ่งในยุโรปมีคนตกงานมาก และที่เราหวังการถ่ายทอดเทคโนโลยี ก็ไม่จริง เพราะทุนใหญ่ ทุนข้ามชาติ เขาไม่ได้เอาโรงงานมาผลิตทุกขั้นตอนในไทย เขาซอยขั้นตอน และจ่ายขั้นตอนให้ประเทศต่างๆ ทำเฉพาะส่วน นี่เราเรียกว่า ห่วงโซ่สินค้า เพราะฉะนั้น ไทยทำอะไร เช่น รถยนต์ อิเล็คทรอนิกส์ เราก็นำเข้าชิ้นส่วนมาประกอบ คือใช้แรงงานอย่างเดียว ประกอบแล้วก็ส่งออก ไม่ได้ใช้ทักษะฝีมือสูง เพราะฉะนั้นเราจะไปหวังถ่ายทอดเทคโนโลยีได้อย่างไร
สมัชชาคนจนก็เป็นเกษตรกร เราจะเห็นชัด เกษตรพันธะสัญญา ทุนใหญ่อยู่ที่ต้นน้ำ คุมเมล็ดพันธุ์ และอยู่ปลายน้ำที่ตลาด เราได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีไหม ไม่มีทาง เกษตรกรในเกษตรพันธะสัญญาเป็นผู้มีที่ดิน แต่ใช้แรงงานบนที่ดินของตน ขายสินค้าตามราคาที่เขากำหนด เมื่อไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี เราก็เป็นแรงงานอย่างเดียว ทุนข้ามชาติเวลาผลิต เขาก็กุมความคิด ไม่ปล่อยเรื่องนี้
ส่วนปัจจัยภายใน ที่สร้างข้อจำกัด และเราใช้แนวทางพัฒนาแนวนี้ไม่ได้ ก็คือ เมื่อเราเน้นอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ต้นทุนต้องถูก เมื่อต้นทุนถูกเราจะขายได้ดี เพราะฉะนั้นที่ผ่านมา 30-40 ปีของการพัฒนา การพัฒนาอุตสาหกรรมไทยที่ผ่านมา ใช้แรงงานราคาถูก ค่าแรงถูก ซึ่งค่าแรงถูกนั้นเชื่อมโยงกับภาคเกษตรกรรม เพราะนายทุนจ่ายค่าแรงถูกเพื่อให้แรงงานมีค่าจ้างเพียงยังชีพได้ เพราะภาคเกษตรกรรมผลิตอาหารราคาถูก ค่าครองชีพถูก เมื่อค่าครองชีพถูก อาหารถูก เขาก็จ่ายค่าแรงถูก เพราะฉะนั้นผมอยากพูดว่า ภาคเกษตรกรรมเป็นผู้ผลิตความมั่งคั่ง แต่เป็นผู้แบกรับผลของการพัฒนา ภาคเกษตรกรรมเป็นแหล่งผลิตอาหารราคาถูก ทำให้ค่าครองชีพถูก ค่าจ้างถูก เป็นแหล่งแรงงานป้อนภาคอุตสาหกรรม คนที่ไปทำงานภาคอุตสาหกรรม ก็เป็นแรงงานวัยหนุ่มสาวไม่ได้อพยพไปทั้งครอบครัวแบบตะวันตก ของไทยคือหัวหน้าครอบครัวอยู่ชนบท แต่คนอพยพเคลื่อนย้ายคือแรงงานหนุ่มสาวในครอบครัว เพราะฉะนั้นภาคเกษตรเป็นแหล่งแรงงานป้อนภาคอุตสาหกรรม และภาคเกษตรยังจัดสวัสดิการดั้งเดิมให้กับคนจนด้วย
ช่วงปี 2540 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เราอยากศึกษาว่าวิกฤตเศรษฐกิจส่งผลกระทบต่อคนงานอย่างไร ผมไปสัมภาษณ์คนที่ตกค้างในกรุงเทพฯ ตามไปดูแรงงานจาก จ.บุรีรัมย์ ที่กลับชนบท คนงานบอกว่าเขากลับมาชนบทไม่ได้มาหางาน แต่ชนบทเป็นที่ “พักพิงกาย พักพิงใจ” กลับมาแล้ว อย่างน้อยยังรู้ว่ามีหลังพิง ยังมีอาหารกิน ถามว่าอยู่นานไหม หลายคนบอกว่าเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นก็จะกลับมาทำงานในเมือง เพราะฉะนั้น ภาคชนบทไทย เป็นภาคที่จัดสวัสดิการให้กับคนงานด้วย เพราะฉะนั้น นี่คือความสำคัญของภาคเกษตรกรรม แต่ชาวนาไทย 40% ของกำลังแรงงานยังเป็นคนที่ยากจน
อาหารถูก เพราะถูกกดราคาสินค้าเกษตร ซื้อปัจจัยการผลิตแพง ปุ๋ย เคมี เครื่องจักรแพง ส่งออกรัฐเก็บภาษีพ่อค้าส่งออก พ่อค้าก็ผลักภาษี มากดราคารับซื้อของชาวนา ชาวนาไทยเวลาไปทำงานวิจัยก็ไม่เข้าใจ ที่เขาบอกว่า “รายได้ต่ำกว่ารายจ่าย” ผมสัมภาษณ์เมื่อ 15-20 ปีที่แล้ว ช่วงนั้นยังพูดแบบนั้น เพราะฉะนั้นโดยสรุปแล้ว ปัญหาเกษตรกรรมของไทย ยังเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมไทยที่ยังไม่ได้รับการเหลียวแล
หันมาพิจารณาคนจนกลุ่มใหญ่ คนจนอีกกลุ่มที่สำคัญในสังคมไทย คือ คนงาน เพราะฉะนั้นชาวนา คนงาน เป็นคนชั้นล่างในสังคมไทย ผมอยากไปดูสถานการณ์ของคนงาน หรือแรงงานที่ทำงานในโรงงานเป็นอย่างไร ผมเคยไปสัมภาษณ์ช่วงวิกฤตหลัง 2540 ก็ไปถาม ไปดูคนจนภาคอุตสาหกรรม
ผมไปสัมภาษณ์คนงานที่ทำงานในโรงงาน คำหนึ่งที่ผมแปลกใจมาก แต่จริงๆ ไม่แปลก ก็รู้อยู่แล้ว เขานิยามตัวว่าเขาเป็นคนจน ถ้าไม่จน ก็คงไม่มาทำงานในโรงงาน คนงานส่วนใหญ่ที่มาทำงานในโรงงาน มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่ คนงานมักมีปัญหาเพราะขาดอำนาจต่อรอง ไม่มีการรวมกลุ่มกัน สหภาพแรงงานมีน้อย คนงานจะมีปัญหาถูกกดค่าแรง ไม่พอกิน วิธีที่คนงานจะพอกินและส่งกลับได้ เขาต้องทำงานโอที คือทำงานรวมวันละ 12 ชั่วโมง แถมทำงานเสาร์ อาทิตย์ เวลามานับชั่วโมงการทำงานแล้ว เราทำงานสูงที่สุดในโลก
แม้แต่ กัมพูชามีกฎหมายอนุญาตให้ทำโอทีแค่ 2 ชั่วโมงต่อวัน ของไทยทำ 4 ชั่วโมง สำหรับคนงานไทยไม่เป็นธรรม เพราะไม่มีโอกาสพักผ่อน ไปทำกิจกรรม หรือไปสหภาพ หรือไปหาความรู้ ทำงานทั้งวันอยู่ในห้องสี่เหลี่ยม สิ่งแวดล้อมไม่ดี
นอกจากทำงาน 12 ชั่วโมงแล้ว ไม่ใช่ทำตามใจชอบ มันเป็นระบบเร่งการผลิต ทิ้งสายพานไม่ได้ ถูกตั้งเป้า เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราพบคือ คนงานถ้าไม่ประสบอุบัติเหตุการทำงาน ก็เป็นโรคจากการทำงานเมื่ออกจากงาน
แรงงาน และเกษตรกร คนสองกลุ่มนี้เป็นคนชนชั้นล่างของสังคม ถ้าเราเห็นอย่างนี้ คนสองกลุ่มเป็นคนจน ถ้าผมจะเสนอนโยบายของรัฐ ผมจะเสนออย่างไร ก็ต้องเปลี่ยนการพัฒนา จากแนวทางพัฒนาที่มุ่งสู่เมือง มาให้ความสำคัญต่อชนบท หรือการพัฒนาภาคเกษตกรรม ทิ้งไม่ได้ เพราะ 40-50% ของกำลังแรงงานอยู่ภาคการเกษตร
ภาคเกษตรสำคัญในกระแสโลกในขณะนี้ ประเด็นหนึ่งในการค้าระหว่างประเทศ ไม่ใช่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เป็นเรื่องความมั่นคงทางอาหาร เกี่ยวข้องกับการค้าด้วย เพราะฉะนั้น เราจะทำให้ภาคการเกษตรอยู่รอดได้อย่างไร เกษตรกรต้องยืนอยู่ได้ ข้อเสนอแรกคือ ผมว่าต้องประกันราคาข้าว นักเศรษฐศาสตร์ไม่ชอบ เพราะหาว่าประกันราคาข้าว รัฐไปแทรกแซงตลาด แต่ต้องทำ ต้องทำให้ชาวนาอย่างน้อยขายข้าวได้อย่างน้อยไม่ใช่ 6-7 พันบาท แต่ต้องเกวียนละ 15,000 บาท ต้องกำหนดระยะเวลาว่าประกันราคาข้าวกี่ปี ใช้งบประมาณเท่าไหร่ เพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ ทุกประเทศทำแบบนี้ ยุโรปทำแบบนี้ แต่สหรัฐอเมริกาไม่ได้ทำแบบนี้เพราะเกษตรกรเป็นเกษตรกรแบบทุนนิยม
ในการจะทำให้ชาวนาอยู่ได้ ทำให้สังคมไทยซึ่งวัฒนธรรมโตมาจากภาคเกษตรกรรมไม่ถูกทำลาย เราต้องมีนโยบายประกันราคาพืชผลทางการเกษตร ชาวนาจะมีหลักประกันเรื่องรายได้ สอง รัฐต้องเข้าไปสนับสนุน จะทำอย่างไรให้เกษตรกรผลิตที่เน้นคุณภาพ
สาม 40% ของกำลังแรงงานอยู่ในภาคการเกษตร ยิ่งอยู่มากรายได้จะต่ำ เพราะฉะนั้นต้องเอาคนออกมาบ้าง เราต้องส่งเสริมอาชีพหลากหลายเข้าไปในภาคเกษตร
สี่ สังคมไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ เพราะฉะนั้นเกษตรกรไทยในอนาคต เป็นผู้ที่มีอายุมากขึ้น เพราะฉะนั้นในเรื่องการให้สวัสดิการรักษาพยาบาลมันจำเป็นมาก เพราะเวลาคนสูงอายุ จะมีค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลที่สูง เพราะคนที่มีอายุมักจะมีโรคเรื้อรัง เช่น ความดัน เบาหวาน นี่คือต้องรักษาแบบปลายเปิด คือมีค่าใช้จ่ายสูง เพราะฉะนั้นชาวนาต้องมีหลักประกันสุขภาพทั่วหน้า ต้องเป็นโครงการ เอาเงินมาสนับสนุนให้มีคุณภาพ และยกเลิกไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องมี และบัตรทอง 30 บาทต้องมี และไปสู่การประกันชราภาพ ถึงจะทำให้ภาคเกษตรกรรมไม่ถูกทำลาย
นี่คือภาคเกษตรกรรมว่าเราจะทำให้ยั่งยืนได้อย่างไร
เมื่อมาดูในส่วนของผู้ใช้แรงงาน รัฐบาลต้องดำเนินนโยบายค่าจ้างสูง ต่อจากรัฐบาลที่แล้ว คนงานต้องมีค่าจ้างสูง ต้องไม่ใช่แค่ประกอบชิ้นส่วนแล้วส่งออก แต่ต้องมีโอกาสในการศึกษา ได้รับการพัฒนาทักษะ และมีสวัสดิการที่ดีขึ้น
สิ่งที่เหมือนกันในทุกสังคมทั่วโลก แต่จะช้าหรือเร็วนั้นต่างกัน สิ่งที่เหมือนกันคือ ในทุกสังคม กำลังเปลี่ยนเป็นสังคมแรงงาน ประเทศอุตสาหกรรมใหญ่ๆ 80-90% ของคน เป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ในประเทศเอเชีย ก็อยู่ในแนวโน้มนี้ ที่ว่า เกษตรกรจะลดความสำคัญลงในเรื่องการจ้างงาน แต่การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมจะเพิ่มขึ้น ประเทศไทยก็อยู่ในแนวโน้มนี้ เพราะการจ้างงานภาคอุตสาหกรรมและบริการเพิ่มขึ้น เพราะภาคอุตสาหกรรมและบริการขยายตัว
แรงงานอิสระ หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เป็นเกษตรกรก็มีแนวโน้มลดลง แต่ไม่ได้ลดแบบรวดเร็ว เรากำลังพัฒนาไปสู่สังคมแรงงาน เมื่ิอเราพัฒนาไปสู่สังคมแรงงาน การที่เราจะใช้สวัสดิการที่ชุมชนกำกับไม่ได้ ต้องเป็นสวัสดิการโดยรัฐ
ในทุกประเทศที่เขาพัฒนาไปสู่สังคมแรงงาน รูปแบบแรงงานเปลี่ยนเป็นแรงงานรับจ้างภาคอุตสาหกรรม เขาก็มุ่งสู่รัฐสวัสดิการ เพราะฉะนั้น เราก็ต้องไปสู่จุดนั้นได้ ณ วันหนึ่ง ก็คือรัฐสวัสดิการ รัฐสวัสดิการเป็นการจัดสวัสดิการเบ็ดเสร็จให้กับทุกคน จะเห็นว่าตลอดเส้นทางชีวิตที่เรามีอยู่ เราอยู่ในสถานภาพหลายอย่างที่จะอยู่ในความเสี่ยงต่างๆ เราเกิดขึ้นมา ต้องมีคนดูแล ไปทำงานโรงงาน แต่ไม่มีใครอยู่โรงงานตลอดชีวิต ทำงานส่วนหนึ่งออกมาเป็นแรงงานนอกระบบ ภาคเกษตรกรรม ช่วงชีวิตเราเป็นแบบนี้มีความเสี่ยง บางทีทำงานไปก็อาจตกงาน รัฐสวัสดิการคือจะสร้างหลักประกันต่อความเสี่ยง เพราะฉะนั้นรัฐสวัสดิการคือ มีสิทธิการลาคลอด เงินดูแลบุตรและครอบครัวให้อยู่ได้อย่างมีคุณค่า มีโอกาสเรียนฟรี เมื่อจบแล้วทุกคนต้องมีงานทำ มีโอกาสเรียนรู้พัฒนาตัวเองอย่างสม่ำเสมอ ตกงานมีการประกันการว่างงาน ถ้าบาดเจ็บหรือประสบอุบัติเหตุก็มีกองทุนเงินทดแทน มีประกันสังคม มีบ้านที่อยู่อาศัย เมื่อแก่ตัวลงก็ต้องมีบำนาญ รัฐสวัสดิการต้องทำเรื่องนี้ แต่จะเอาเงินมาทำก็ต้องเก็บภาษีมรดก เก็บภาษีทรัพย์สิน
คำถามอีกเรื่องหนึ่ง “เราจะฟื้นฟูประชาธิปไตยอย่างไร?” เพราะถ้าเราไม่ฟื้นฟู เราต้องเข้าใจว่าฟื้นฟูประชาธิปไตย อย่างไร เราต้องมีความคิดที่ตรงกัน เมื่อพันปีที่แล้วเขาเริ่มต่อสู้เพื่อเสรีภาพทางความคิด เขาเรียกยุคแสงสว่าง ต่อสู้กับความเชื่อ แต่ก่อนบอกว่ามนุษย์ต้องเชื่ออย่าใช้เหตุผล เขาต่อสู้ว่า ไม่ เราใช้เหตุผล เราเป็นมนุษย์ เราเกิดมาเสมอภาค เพราะฉะนั้น เสรีภาพทางความคิดเป็นสิทธิเบื้องต้น เขาต่อสู้แบบนี้เมื่อพันปีที่แล้ว มาอีกหกร้อยปีต่อมา ศตวรรษที่ 18 ฝรั่งเศสเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สร้างระบอบประชาธิปไตย สถาปนาสาธารณรัฐ เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยมีการเลือกตั้ง มีการพัฒนาสิทธิทางการเมือง และเมื่ออังกฤษปฏิวัติอุตสาหกรรมมีการเข้ามาของทุนนิยม ความขัดแย้งหลักเลยกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างทุนกับแรงงาน
ดังนั้นแรงงานหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 เลยลุกขึ้นมาเพราะตัวเองถูกกระทำ จึงมาสร้างอำนาจต่อรองผ่านการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และไปขับเคลื่อนเรียกร้องกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ค่าจ้าง ประกันสังคม คุ้มครองการทำงานในโรงงาน นำมาสู่เรื่องสิทธิทางสังคม
ผมย้อนถาม ไทยเป็นแนวนี้ไหม ของไทยนั้นกลับกัน สิทธิทางสังคมของเราไปไกล มีกฎหมายประกันสังคม มีประกันสังคมสำหรับนอกระบบ มีขบวนการทางสังคมเกิดขึ้น เหมือนสิทธิทางสังคมขับเคลื่อนไป แล้วสิทธิทางการเมืองของเราล่ะ มีไหม สิทธิในการแสดงออกล่ะมีไหม มันท้ายสุดเลย เพราะฉะนั้นนี่ยังเป็นปัญหาของไทยอยู่นะ ถ้าเราไม่ชัดสังคมไทยจะสับสนกัน ว่าปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง หรือเลือกตั้งก่อนปฏิรูป
ผมคิดว่าถ้ามวลชนยังไม่ชัดเจนเรื่องนี้ แล้วมาแตกแยก สู้กันในเรื่องที่ว่าอะไรควรมาก่อนหลังโดยที่ไม่เข้าใจ จะเป็นอุปสรรคในการสร้างพลังชี้นำการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นเราต้องทำความคิดให้ชัด สำหรับผม ผมคิดว่าจะปฏิรูปโดยไม่มีประชาธิปไตยไม่ได้ คนจน ชนชั้นล่างมีโอกาสเติบโตได้และมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ ในยุคที่ประชาธิปไตยเบ่งบาน เราไปดูเลย สิทธิทางสังคมที่ก้าวหน้า ข้อเรียกร้องของคนจนจะได้ในสภาพที่สังคมเป็นประชาธิปไตย
ประเด็นสุดท้ายที่ฝากไว้ เป็นประเด็นชนชั้นแรงงาน ชนชั้นที่ถูกมอบหมายให้เป็นผู้กระทำการเปลี่ยนแปลงทางสังคมตลอด เรามองว่าจะเป็นชนชั้นแรงงาน นี่เป็นแนวคิดแบบตะวันตก แนวคิดที่เชื่อว่าชนชั้นแรงงานจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงมันตั้งอยู่บนฐานความคิดใด ชนชั้นแรงงานเกิดขึ้นได้เมื่อคนอพยพจากชนบทเข้ามาทำงานในเมือง ในโรงงาน ดังนั้นการทำงานในโรงงานจะทำให้คนงาน มีความสมานฉันท์เกิดขึ้น เพราะเมื่อทุกคนเข้าสู่กระบวนการผลิต จะเจอปัญหาขูดรีดเหมือนกัน เช่น ตั้งเป้า กดค่าจ้าง ปัญหาที่คนงานเผชิญ ในท้ายที่สุดคนงานจะเรียนรู้ การที่นายทุนพยายามสร้างความแตกแยกให้คนงานแข่งขัน ในท้ายที่สุดคนงานจะเรียนรู้ว่า เขาควรสร้างอำนาจต่อรองโดยการรวมกลุ่ม บนผลประโยชน์เดียวกัน เพราะฉะนั้นการทำงานในโรงงานมันสร้างเงื่อนไข ให้เกิดคนอัตลักษณ์เดียวกัน ผลประโยชน์ร่วมกัน และคนพวกนี้แน่นอนเป็นคนที่ไร้กรรมสิทธิ์ ไม่มีอะไรต้องสูญเสียแล้ว เขาจะกล้าสู้ เปลี่ยนแปลงมากที่สุด
ถามว่า การมองว่า ชนชั้นแรงงานจะเป็นผู้นำเปลี่ยนแปลงนี้จริงไหม ผมว่าจริง แต่เป็นความจริงในประวัติศาสตร์ยุโรป อย่างชนชั้นแรงงานในอังกฤษมันโตมาอย่างนี้จริง สร้างความเข้มแข็งในโรงงานจริง แต่เราเอาความคิดนี้มาใส่สังคมแบบเอเชีย กับไทย มันเป็นแบบนั้นไหม ไม่ใช่ เพราะเราต้องมองว่า ในปัจจุบันนี้ทุนนิยมเวลาเขาผลิต เขาไม่ได้ผลิตในโรงงานอย่างเดียว แต่เขาเอางานในโรงงาน ไปแจกทำกันที่บ้านด้วย เขาเรียกว่าระบบรับช่วง อย่างงานบางงานอยู่ในโรงงาน อย่างแหอวนอยู่ในโรงงาน และอีกส่วนหนึ่งรับไปทำที่บ้าน เพราะฉะนั้นคนงานจึงไม่ใช่คนงานในโรงงานอย่างเดียว การผลิตสินค้ามันอยู่นอกโรงงาน
เพราะฉะนั้น ชนชั้นคนงานจะนิยามแค่คนงานในโรงงานอุตสาหกรรมไม่ได้ ต้องมองกว้างกว่านั้น ชนชั้นคนงานคงไม่ใช่แค่คนที่มีงานประจำทำ มีงานที่มั่นคง แต่ในโรงงานมีแรงงานหลากหลาย เช่น คนงานเหมาค่าแรง ลูกจ้างชั่วคราว รายวัน รายชั่วโมง และคนงานเหล่านี้เขาได้ค่าจ้างต่ำ ไม่มีสวัสดิการ ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน
เพราะฉะนั้นคนงานเหล่านี้เป็นคนงานในโรงงาน ไม่ใช่แค่คนงานประจำเท่านั้น และรวมทั้งคนงานที่ทำที่บ้าน ผู้รับงานไปทำที่บ้าน เขาก็โยงกลับมาในการผลิตภาคอุตสาหกรรม ประเด็นอีกอัน เกษตรกรเป็นผู้ใช้แรงงานไหม แม้เกษตกรมีที่ดิน มีบ้าน แต่เกษตรกรบางคนทำนาแบบแบ่งผลผลิตกับเจ้าของที่ดิน บางคนเช่านาทำ เมื่อหมดฤดูทำนา ก็ต้องไปเป็นแรงงานภาคอุตสาหกรรม หรือทำงานนอกภาคชนบท หรือทำอาชีพเสริมอย่างค้าขาย เพราะฉะนั้นมิติของชนชั้นแรงงาน จึงไม่ใช่แค่คนงานในโรงงานแต่กว้างกว่านั้น นี่คือชนชั้นแรงงานในสังคมไทย
เพราะฉะนั้นในระบบทุนนิยม ภายใต้กระแสทุนโลกาภิวัฒน์ ชนชั้นแรงงานจึงหลากหลาย มีตัวตนต่างกัน มีความต้องการต่างกัน แล้วคนงานจะทำงานชั่วชีวิตในโรงงานหรือไม่ ไม่มีเลย ชั่วชีวิตหนึ่งทำ พอเกิดวิกฤต 40 ก็มาทำงานนอกระบบ หรืออาจมาทำเกษตรก็ได้ เส้นทางชีวิตคนมาเป็นแบบนี้ เพราะฉะนั้น เราจึงขับเคลื่อนเรื่องสิทธิทางสังคม
ที่ต้องฝากไว้สุดท้าย ก็คือเราจะตั้งองค์กรมวลชนที่หลากหลายแบบนี้ได้อย่างไร องค์กรที่จะจัดตั้งคนเหล่านี้เข้ามาต้องยอมรับความหลากหลาย ความแตกต่าง การยอมรับความแตกต่างเป็นบทเรียนพื้นฐานของความเป็นประชาธิปไตย ความคิดเห็นที่แตกต่าง เป็นขัดแย้งที่หาข้อยุติได้ผ่านกระบวนการประชาธิปไตย ผมคิดว่าเป็นวิธีการแสวงหาความเห็นร่วมกันในการเคลื่อนไหว และสมัชชาคนจนทำอยู่แล้ว เมื่อนั้นจะเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูป แต่การปฏิรูปขณะนี้เป็นบนลงล่าง เราต้องปฏิรูปจากล่างไปบน และต้องเป็นประชาธิปไตย
ที่มา : ประชาไท วันที่ 5 ธ.ค. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.