ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งหัวโต๊ะ เป็นประธานการประชุม มีมติอนุมัติร่าง พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรม พ.ศ.... ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจรายละเอียดเล็กน้อย ก่อนเสนอเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป
ถือเป็นการยกระดับและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของ “กองทุนยุติธรรม” ครั้งสำคัญ
1) กองทุนยุติธรรม จัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2549 เพื่อช่วยเหลือประชาชนคนยากคนจนให้สามารถเข้าถึงความยุติธรรมเป็นหลัก โดยให้การสนับสนุนเงินหรือค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือประชาชนในด้านกฎหมาย การฟ้องร้อง การดำเนินคดี การบังคับคดี การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือไม่ได้รับความเป็นธรรม เงินหรือค่าใช้จ่ายที่กองทุนยุติธรรมให้ความช่วยเหลือประชาชน เช่น การวางเงินประกันการปล่อยตัวชั่วคราว, การจ้างทนายความ, ค่าธรรมเนียมขึ้นศาลและค่าธรรมเนียมอื่นๆในคดีแพ่งและคดีปกครอง, ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการตรวจพิสูจน์, ค่าใช้จ่ายอื่นของผู้ขอรับการสนับสนุน ได้แก่ ค่าพาหนะเดินทาง ค่าที่พัก เป็นต้น, ค่าใช้จ่ายอื่นเพื่อคุ้มครองช่วยเหลือให้ได้รับความปลอดภัย, ค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากความเสียหายที่เกิดจากการกระทำความผิดทางอาญาที่มีผลกระทบต่อกลุ่มบุคคล ฯลฯ
2) การดำเนินงานของกองทุนยุติธรรม ตั้งแต่ พ.ศ.2550-2557 พบว่า กองทุนยุติธรรมได้จ่ายเงินช่วยเหลือประชาชนไปกว่า 262 ล้านบาท จำแนกเป็น ค่าประกันตัว 224 ล้านบาท, ค่าทนาย 18 ล้านบาท, ค่าธรรมเนียมศาล 10 ล้านบาท ฯลฯ
จะเห็นว่า ส่วนใหญ่ก็คือการช่วยประกันตัวชาวบ้าน อาทิ คดีชาวบ้านบุกรุกป่า คดีพนักงานเก็บขยะซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ คดีของบรรดาผู้ชุมนุมทางการเมืองกลุ่มสีต่างๆ เป็นต้น
3) ร่างพ.ร.บ.กองทุนยุติธรรมที่ผ่านการอนุมัติจากรัฐบาลพลเอกประยุทธ์นั้น จะเป็นการยกระดับการดำเนินการของกองทุนยุติธรรมจากแค่ระเบียบให้เป็นกฎหมาย โดยมีสภาพบังคับทุกรัฐบาลในอนาคต ไม่ขึ้นกับนโยบายการเมืองอย่างเดียว
จะมีการตั้ง “สำนักงานคณะกรรมการกองทุนยุติธรรม” โดยมีคณะกรรมการจากหลายภาคส่วนเข้ามาร่วมพิจารณา (จากเดิมจะเป็นคณะกรรมการที่มาจากข้าราชการส่วนเดียว)
กองทุนยุติธรรมจะมีฐานะเป็นนิติบุคคล เพิ่มความสะดวกในการบริหารจัดการกองทุน และมีสถานะเป็นบุคคลตามกฎหมายที่จะสามารถรับช่วงสิทธิทางแพ่งจากผู้เสียหายหรือจำเลยที่กองทุนให้ความช่วยเหลือได้ เพื่อจะสามารถไปฟ้องร้องไล่เบี้ยเอาค่าเสียหายจากผู้กระทำผิดทางอาญาตัวจริงต่อไปด้วย
จะมีการกระจายอำนาจการตัดสินใจออกไปสู่ระดับจังหวัด เพื่อช่วยเหลือคนยากคนจนในต่างจังหวัดให้สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที ครอบคลุมยิ่งขึ้น โดยมี “คณะอนุกรรมการประจำจังหวัด” ทุกจังหวัด ทำหน้าที่พิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ไม่ได้รับความเป็นธรรมกรณีการให้ค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงความยุติธรรม การประกันตัวบุคคล และการช่วยเหลือผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีอาญา ประชาชนสามารถยื่นคำขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายการในการเข้าถึงความยุติธรรมในคดีแพ่ง คดีอาญา คดีปกครอง หรือคดีอื่นใด โดยยื่นคำขอที่สำนักงานยุติธรรมจังหวัด
พูดง่ายๆ ว่า ช่วยให้ประชาชนผู้ยากไร้สามารถเข้าถึงได้ง่าย สะดวกขึ้น และทำให้กองทุนยุติธรรมสามารถช่วยเหลือประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
4) กองทุนยุติธรรมตามร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ เปิดทางให้สามารถจะได้รับเงินสมทบประเภทเงินและทรัพย์สินที่ได้จากการบังคับหลักประกันตัวผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญาที่หลบหนีการปล่อยชั่วคราวที่ได้รับการจัดสรรประจำปี เงินสมทบประเภทค่าปรับในคดีอาญาที่ได้รับการจัดสรร เงินหรือทรัพย์สินที่ได้จากการรับช่วงสิทธิเพื่อไล่เบี้ยกับผู้กระทำความผิดอาญาหรือผู้ก่อให้เกิดความเสียหายที่แท้จริง เป็นต้น
เปิดทางให้สามารถดำเนินการเรียกเอาเงินหรือทรัพย์สินจากคนรวยที่หลบหนีคดี หนีประกัน รวมถึงไล่เบี้ยเอาเงินจากผู้กระทำให้เกิดความเสียหายตัวจริงเข้ามาเติมใส่กองทุนยุติธรรม เพื่อเป็นทุนรอนในการช่วยเหลือประชาชนคนยากไร้ต่อไปด้วย
เรียกได้ว่า ไล่เบี้ยจากคนผิด มาช่วยคนยากไร้ให้เข้าถึงความยุติธรรม
5) ถึงวันนี้ รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติอนุมัติร่าง พ.ร.บ.กองทุนยุติธรรมไปแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือส่งร่างกฎหมายไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อพิจารณาออกเป็นกฎหมายที่มีสภาพใช้บังคับต่อไป
หากประเมินระยะเวลาที่จะสามารถผ่านเป็นกฎหมายอย่างสมบูรณ์ (ประเมินจากการทำงานของ สนช.ชุดนี้) คาดว่า น่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 3 เดือนเท่านั้น
นี่จึงเป็นอีกหนึ่ง “การกระทำ” ที่เสียงดังกว่า “คำพูด” หรือ “คำปลุกระดม” – “น้ำลายเน่า” คำโจมตีของฝ่ายที่พยายามปลุกระดมปลุกปั่นว่ารัฐบาล คสช.ไม่สนใจใยดีสุขทุกข์ของประชาชน โดยเฉพาะคนยากคนจน
พยายามสร้างภาพผ่านสื่อขี้ข้า ว่าเป็นเผด็จการที่ไม่สนใจคนจน
รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสมัยที่แล้วเสียอีก ที่ใช้อำนาจอันได้มาจากประชาชนไปกระทำการเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวของตนเองและพรรคพวก ทรยศต่อความไว้วางใจของประชาชน พยายามออกกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย พยายามแก้รัฐธรรมนูญเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของพรรคพวกตน กระทั่งเกิดการต่อต้านในสังคมอย่างกว้างขวาง
บรรดานักวิชาการ สื่อมวลชน รวมถึงเอ็นจีโอที่ไม่กระแดะ ไม่ดัดจริตจนเกินไป ไม่อคติจนหูหนวกตาบอด ไม่ใช่ขี้ข้าของนักเลือกตั้ง ไม่ใช่ข้าทาสของคนโกงที่จ้องล้มรัฐบาล น่าจะพูดถึงสิ่งดีๆ ที่รัฐบาลชุดนี้เขาทำบ้างนะ
ที่มา : แนวหน้า วันที่ 2 ธ.ค. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.