เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)จัดสัมนาเรื่อง"ภาษีที่ดินและมรดก" โดยผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ได้นำเสนอผลการศึกษาเรื่อง "ภาษีที่ดิน และมรดกใครมี ใครจ่าย ใครได้ประโยชน์"ว่า ร่างพรบ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกำลังมีการปรับปรุงในขณะนี้ โดยมีการปรับอัตราภาษีสูงขึ้นมาจากร่างเดิม โดยเฉพาะที่ว่างเปล่า แต่ในระยะแรกเริ่มจากเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำและไม่เก็บในอัตราก้าวหน้า จะยังไม่มีผลต่อการกระจายกายการถือครองที่ดิน ดังนั้นต้องอยู่ที่การเพิ่มอัตราภาษีและการเพิ่มราคาที่ดิน ซึ่งหากมีการเก็บภาษีจริงในอัตราสูงสุด 4% อาจจะลดการกักตุนที่ดินเพื่อเก็งกำไรได้บ้าง
เนื่องจากขณะนี้ พบว่า มีการกระจุกตัวในการถือครองที่ดินค่อนข้างมาก คน1% ถือครองที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ ประเภทโฉนดที่ดิน 23.74% หรือ22.5ล้านไร่ ของที่ดินที่มีเอกสารสิทธิประเภทโฉนดที่ดินทั้งหมด 95ล้านไร่ จากที่ดินทั่วประเทศ 320ล้านไร่ และค่าเฉลี่ยการถือครองที่ดิน ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฏรคนละประมาณ 71ไร่ ซึ่งอยู่ในกลุ่มที่มีที่ดิน มากที่สุดของประเทศไทย
ส่วนภาษีมรดก จากผลการศึกษาเชิงประจักษ์ ของสหรัฐ พบว่า มีการจัดการมรดกใหม่ มีการเลี่ยงภาษีเกิดขึ้นจริงประมาณ 8-11% ของการเสียภาษีทั้งหมด แต่มากน้อยแค่ไหน ยังไม่มีข้อสรุป และตอบยากมาก ว่าจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่ เพราะขึ้นอยู่กับโครงสร้างประชากร และข้อมิติต่างๆ สัดส่วนภาษีมรดก เมื่อเทียบกับรายได้ จากภาษีทั้งหมด มีค่าประมาณ 0.01% -1.3% โดยเบลเยี่ยม มีสัดส่วนสูงที่สุด คือ1.3%
ขณะที่ผลการศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาลัยธรรมศาสตร์ ได้ประมาณการปริมาณธุรกรรม รายได้ค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ และประมาณการรายได้ภาษีมรดก ปี 2556 รวมประเภทธุรกรรม 6.42แสนราย ใช้อัตราค่าธรรมเนียม การรับให้ 2%และมรดก0.5% คิดเป็นมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ 6.36 หมื่นล้านบาท และ 1.7แสนล้านบาท รวม 2.34 แสนล้านบาท ขณะที่อัตราภาษีมรดก การใช้ 10% และมรดก 10% คิดเป็นมูลค่าภาษีมรดก 6.36 พันล้านบาท และ 1.7 หมื่นล้านบาท รวม 2.34 หมื่นล้านบาท รวมทั้งเมื่อประมาณรายได้การจัดเก็บภาษีมรดกในปี 2556 จากทรัพย์สินสุทธิทั้งหมด จะมีมูลค่าถึง 2.69 หมื่นล้านบาท บนจำนวนครัวเรือนที่ต้องเสียภาษี 5.17 พันราย ทั้งนี้ในแต่ละปี จะเก็บภาษี มรดกได้น้อยกว่านี้ เนื่องจากไม่ได้เสียชีวิตพร้อมกัน โดยอัตราการตายอยู่ ที่ประมาณ 0.66%
"เมื่อใช้ภาษีมรดก จะเกิดการหลบเลี่ยงภาษีแน่นอน ซึ่งรัฐควรปิดช่องโหว่ แม้รัฐจะบอกว่าเก็บภาษีมรดก ไม่เน้นรายได้ แต่ลดความเหลื่มล้ำ แต่มองว่า เมื่อไม่มุ่งสร้างรายได้ ก็ไม่สามารถดึงความมั่งคั่งได้ ทำให้รัฐไม่มีรายได้มากระจายในระดับล่างอยู่ดี สุดท้ายภาษีมรดกก็ไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ และคนไม่ได้ตายเยอะให้รัฐเก็บภาษีได้ ด้านภาษีที่ดินฯ มองว่า ไม่ควรแยกเก็บภาษีที่ดิน กับสิ่งปลูกสร้าง และควรให้อปท. เป็นผู้จัดเก็บภาษี จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้มากกว่า ประมาณการรายได้จากภาษีที่ดินฯ เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 3-4 หมื่นล้านบาท ต่อปี ดังนั้นจึงไม่ควรมีความคิดให้สรรพากรเก็บเด็ดขาด เพราะไม่สามารถเก็บได้ดีกว่าท้องถิ่นแน่นอน "
ดังนั้น ผศ. ดร. ดวงมณี ให้ข้อเสนอแนะว่า สำหรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รัฐบาลและสนช. ควรให้ความสำคัญก่อนเป็นอันดับแรกในการปฏิรูปภาษีของไทย ทั้งนี้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ควรมีข้อยกเว้น ลดหย่อน ให้น้อยที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้มีรายได้น้อย และที่ดินราชการ ที่ปล่อยรกร้างว่างเปล่า ควรต้องเสียภาษีที่ดินฯ ด้วย หรือควรจะถูกเรียกคืน เพื่อนำมาให้ผู้ด้อยโอกาสได้ใช้ประโยชน์ต่อไป และควรมีการกำกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเลี่ยงภาษีขึ้น และควรสนับสนุนการประเมินราคาที่ดินรายแปลงให้เสร็จโดยเร็ว
รวมถึงอปท. ควรทำความเข้าใจประชาชน ให้เห็นถึงความสำคัญและเห็นถึงประโยชน์ ในการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ในระยะแรกจะยังไม่ส่งผลต่อการกระจาย การถือครองที่ดิน แต่จะมีผลในการนำที่ดินมาใช้ประโยชน์มากขึ้น
ขณะที่ภาษีมรดกนั้น มองว่า จะไม่มีผลกระทบ กับคนระดับล่างหรือผู้มีรายได้น้อย แต่อาจจะมีผลกับเศรษฐี มากกว่าคนที่เป็นมหาเศรษฐี หรืออภิมหาเศรษฐี สามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ไม่มาก เนื่องจากไม่ได้เก็บในอัตราก้าวหน้า และต้องจัดเก็บภาษีการให้ ควบคู่กัน ในอัตราภาษี และยกเว้นภาษีที่เทียบเคียงกันได้กับภาษีมรดก เพื่อไม่ให้เกิดช่องโหว่ในการเลี่ยงภาษีได้ง่าย เพราะอาจมีการเลี่ยงภาษีโดยหันมาถือครองอสังหาริมทรัพย์มากขึ้น สามารถสืบค้นได้ยาก เช่น ลดการถือครองที่ดินลง โดยไปถือครองเพรชนิลจินดาแทน จะส่งผลให้คนที่ต้องการใช้ที่ดิน เพื่อประกอบอาชีพหรือที่อยู่อาศัย สามารถเข้าถึงที่ดินได้มากขึ้น แต่อีกด้านหนึ่งก็เป็นการถือครองทรัพย์สินที่ไม่ได้เกิดผลิตภาพ
นอกจากนี้ รายได้ภาษีมรดกที่จะเก็บได้มีจำนวนไม่มากนัก ดังนั้น ต้องมีการวางระบบการจัดเก็บให้มีประสิทธิภาพมีการบริหารจัดการที่ดี มีระบบการตรวจสอบที่ดี ไม่เช่นนั้นจะเกิดต้นทุนสูงและไม่คุ้มที่จะจัดเก็บ และที่สำคัญ รายได้จากภาษีมรดก ควรกำหนดให้เป็นรายได้แหล่งใหม่ของอปท. และเป็นแหล่งรายได้ของธนาคารที่ดิน เมื่อมีการจัดตั้งธนาคารที่ดิน
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 2 ธ.ค. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.