เกษตรกร 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กว่า 4 หมื่นราย ลุ้นตัวโก่ง รอรัฐบาลเคาะต่ออายุโครงการพักหนี้อีก 3 ปี รายละไม่เกิน 2 แสนบาท เผย รมว.เกษตรฯเตรียมจ้าง "ทีดีอาร์ไอ" ศึกษาแก้หนี้เกษตรกรทั้งระบบ คาด 6 เดือนเสร็จ
นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า เร็ว ๆ นี้เตรียมจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบให้พักหนี้เกษตรกรใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เป็นหนี้ไม่เกิน 2 แสนบาท/ราย รวมทั้งสิ้นกว่า 4 หมื่นรายต่อไปอีก 3 ปี เนื่องจากเหตุการณ์ในพื้นที่ยังไม่สงบ ซึ่งรัฐบาลจะรับภาระดอกเบี้ยให้ทั้งหมด หลังจากมาตรการเดิมได้สิ้นสุดไปแล้ว เนื่องจากโครงการพักหนี้ที่รัฐบาลชุดที่แล้วต่อเวลามาก็กำลังจะ สิ้นสุดลง ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรทุกคนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงน่าจะขยายเวลาพักชำระหนี้ออกไปอีก 3 ปีตามที่เกษตรกรขอขยายเวลามา
ส่วนโครงการพักหนี้เกษตรกรรายย่อยและ ประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่มีหนี้ (เอ็นพีแอล) คงค้างต่ำกว่า 5 แสนบาท ระยะเวลา 3 ปีที่ดำเนินการโดยรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งสิ้นสุดโครงการเมื่อสิ้นเดือน ก.ย. 2557 จึงอยู่ระหว่างให้เจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องการให้ลูกหนี้ออกจากโครงการ เป็นการพิจารณารายละเอียดของลูกหนี้แต่ละราย
"กำลังให้ดูว่าใครที่มี ความเข้มแข็งกลับคืนมา ก็ถือว่าเป็นลูกค้าปกติ โดยให้เริ่มกลับมาชำระหนี้ตามปกติตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2558 ส่วนใครที่ยังคิดว่าต้องดูแลเขาอีกช่วงหนึ่ง ก็จะใช้มาตรการทางด้านสินเชื่อเข้าไปช่วย เช่น อาจปรับโครงสร้างหนี้ให้ต่อ 3-5 ปี แต่ให้เขาผ่อนชำระ เพราะเวลานี้ส่วนการพักหนี้ไม่มีแล้ว"
นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีแนวคิดเรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรทั้งระบบ โดยนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ ต้องการทราบภาระหนี้สินของเกษตรกรทั้งระบบ ซึ่งเป็นหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งได้มีการร่างทีโออาร์เพื่อให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เข้ามาช่วยศึกษา เพื่อดูถึงความหนักเบาของปัญหาหนี้ โดยจะจำแนกออกมาเป็นกลุ่ม ๆ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีมาตรการในการเข้าไปจัดการที่แตกต่างกันไป
ทั้งนี้ การศึกษาส่วนนี้จะต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหา ซึ่งคงใช้วิธีปรับภาระหนี้ให้เหมาะสมกับขีดความสามารถในการทำรายได้ของ เกษตรกรลูกหนี้ ซึ่งคงจะต้องมีแนวทางช่วยเพิ่มรายได้ให้ด้วย
"ยังมีอีกส่วนที่นายกรัฐมนตรีเป็นห่วง คือเกษตรกรบางส่วนที่ตอนนี้ไม่ได้ทำนาปรัง แต่มีหนี้ที่มีอยู่กับ ธ.ก.ส. หรือสถาบันการเงินอื่นจะดูแลภาระตรงนี้อย่างไร อยากจะให้มีการดูแล ซึ่งก็จะมีมาตรการออกมา แต่ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างพิจารณามาตรการอยู่" นายลักษณ์กล่าวและว่า ขณะนี้ยังประเมินตัวเลขลูกหนี้ทั้งหมดไม่ได้ โดยเฉพาะหนี้นอกระบบ ซึ่งต้องรอให้ทีดีอาร์ไอเก็บข้อมูลมาก่อน ส่วนลูกหนี้ ธ.ก.ส.โดยตรงมีอยู่ประมาณ 4.5 ล้านครัวเรือน มูลหนี้กว่า 9 แสนล้านบาท แต่ส่วนใหญ่เป็นหนี้ปกติ มีที่เป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่กว่า 4 หมื่นล้านบาท
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 27 พ.ย. 2557