ทีดีอาร์ไอฉายภาพอนาคตไทยอีก 30 ปีใน 3 สถานการณ์ อยู่แบบเดิม ประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า และประเทศเกษตรทันสมัยและบริการฐานความรู้ มองแนวโน้มต้องพัฒนาไปสู่แบบที่ 3 แนะภาครัฐประสานนโยบายภาพรวม มีวินัยและกระจายอำนาจ วางแผนรองรับสังคมคนชราในไทย
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2557 ของ TDRI ในหัวข้อ “สู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพ : ความท้าทายและโอกาสของประเทศไทยใน 3 ทศวรรษหน้า” โดยระบุว่า ความขัดแย้งทางการเมืองที่ยืดเยื้อ ทำให้รัฐบาล ภาคธุรกิจ และประชาชนสนใจเฉพาะปัญหาระยะสั้นมากกว่าปัญหาในเชิงโครงสร้าง เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้พ้นกับดักรายได้ปานกลาง, การปฏิรูปการศึกษา และการรักษาสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ทั้งนี้ มองว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2568 และอีก 30 ปีหรืออีก 3 ทศวรรษหน้า ประเทศไทยจะมีคนสูงอายุถึง 36% ซึ่งหากไม่สามารถหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้ทัน ไทยจะกลายเป็นประเทศแรกๆ ในเอเชียที่แก่ก่อนรวย และแก่โดยไม่มีสวัสดิการเพียงพอ เพราะกองทุนประกันสังคมอาจจะมีปัญหาถึงขั้นล้มละลายในอีกประมาณ 30 ปีข้างหน้าหากไม่มีการปฏิรูปอย่างทันการณ์
นายสมเกียรติ ยังได้ยกตัวอย่างสถานการณ์ประเทศไทยในอีก 3 ทศวรรษหน้าที่เป็นไปได้ไว้ 3 แนวทาง คือ สถานการณ์แรก : ประเทศไทยไปเรื่อยๆ ซึ่งสถานการณ์นี้คล้ายกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่ไทยเป็นอยู่ แต่การเติบโตทางเศรษฐกิจจะเฉลี่ยลดลงเหลือปีละ 3.55% คนไทยมีรายได้เฉลี่ย 17,000 ดอลลาร์ในปี 2588 และหลุดพ้นจากระดับรายได้ปานกลางในปี 2579 หรือหลังจากเข้าสู่สังคมสูงอายุกว่าทศวรรษ
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกอย่างรุนแรง จะทำให้การเปลี่ยนผ่านล่าช้าไปอีก 2 ปี, หากรัฐใช้นโยบายประชานิยมโดยใช้เงินราวปีละ 1 แสนล้านบาท จะทำให้ไทยเปลี่ยนผ่านช้าออกไปอีก 4 ปี หรือหากเกิดวิกฤติอัตราแลกเปลี่ยน การเปลี่ยนผ่านจะล่าช้าไปอีก 2 ปี แต่ที่สำคัญที่สุดคือ หากเกิดวิกฤติทางการเมือง การเปลี่ยนผ่านจะยิ่งล่าช้าออกไปอีกมาก ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่ใหญ่มากสำหรับสังคมไทย ดังนั้นประเทศไทยจะไปเรื่อยๆ แบบนี้คงไม่ได้
สถานการณ์ที่ 2 : สู่ประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า เศรษฐกิจไทยจะถูกขับเคลื่อนจากการยกระดับผลิตภาพในภาคอุตสาหกรรม มีการทำ R&D การพัฒนาแบรนด์สินค้า ตลอดจนการย้ายฐานการผลิตในสินค้าที่มูลค่าเพิ่มต่ำไปยังประเทศเพื่อนบ้าน สถานการณ์นี้คาดว่าคนไทยจะมีรายได้ต่อหัว 23,700 ดอลลาร์ จากเติบโตเฉลี่ยปีละ 4.6% และทำให้พ้นระดับรายได้ปานกลางในปี 2571 หรือหลังจากเข้าสังคมสูงอายุเล็กน้อย อุตสาหกรรมจะมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเป็น 64% ของจีดีพี แต่ทั้งนี้การเน้นพัฒนาอุตสาหกรรมจะทำให้มีปัญหาสิ่งแวดล้อมสูงขึ้นและความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น เพราะประโยชน์ตกอยู่กับเจ้าของทุน ดังนั้น ในสถานการณ์นี้ รัฐบาลต้องมีนโยบายที่เหมาะสม ขณะที่รัฐบาลไม่ควรดึงดูดแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำเข้ามาในไทย เพราะจะทำให้อุตสาหกรรมพึ่งพาแรงงานราคาถูกต่อไป
สถานการณ์ที่ 3 : สู่ประเทศเกษตรทันสมัยและบริการฐานความรู้ ซึ่งสถานการณ์นี้การพัฒนาเศรษฐกิจไทยจะเน้นการพัฒนาเกษตรดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย พัฒนาภาคบริการให้เป็นบริการฐานความรู้ โดยเปิดเสรีภาคบริการ ใช้ระบบ IT และพัฒนาแรงงานทั่วไปให้มีทักษะมีคุณภาพสูง ซึ่งคาดว่าจะทำให้คนไทยมีรายได้ในปี 2588 สูงขึ้นถึง 28,400 ดอลลาร์ โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ยปีละ 5.2% ทำให้ไทยพ้นระดับรายได้ปานกลางในปี 2571 ภาคบริการมีมูลค่าเพิ่มเป็น 59.3% ของจีดีพี ขณะที่ภาคเกษตรเล็กลงเหลือ 3.8% ของจีดีพี แต่สถานการณ์นี้รัฐบาลจะต้องไม่มีนโยบายอุดหนุนราคาสินค้าเกษตรมากจนทำให้เกษตรกรมุ่งผลิตสินค้าในเชิงปริมาณโดยไม่สนใจคุณภาพ และต้องไม่คุ้มครองบริการที่ผูกขาด ซึ่งก่อให้เกิดต้นทุนสูงต่อเศรษฐกิจ
เมื่อเปรียบเทียบประเทศไทยใน 3 สถานการณ์ จะเห็นว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่เกษตรทันสมัยและบริการฐานความรู้น่าจะเป็นภาพที่พึงปรารถนาที่สุด เพราะจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสูงสุด ทำให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางในปี 2571 หลังเข้าสู่สังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ไม่กี่ปี ทั้งนี้ การเปลี่ยนผ่านจะเกิดขึ้นได้อย่างราบรื่นจำเป็นต้องมีภาครัฐที่เปิดกว้าง มีวินัยและกระจายอำนาจ ขณะที่ยังสามารถประสานนโยบายภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น ความท้าทายที่สำคัญที่สุดในการเปลี่ยนผ่านของไทยในอีก 3 ทศวรรษคือ การปฏิรูปภาครัฐ ซึ่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตที่พึงปรารถนาดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อปัจจัย 4 ด้านนี้เกิดขึ้น คือ มีทุนมนุษย์คุณภาพสูง, การจัดสรรเงินทุนก่อให้เกิดผลิตภาพ, รัฐมีประสิทธิภาพ และระบบเศรษฐกิจต้องเปิดกว้าง
ที่มา : บ้านเมือง วันที่ 25 พ.ย. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.