กฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง
สศค.พิจารณาเกณฑ์ยกเว้นภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มเติม ขยายมูลค่าบ้านเป็น 1.5-2 ล้านบาท จากเดิม 1 ล้านบาท
หลังกระทรวงการคลัง นำเสนอกฎหมายการจัดเก็บภาษีมรดก ผ่านการพิจารณาคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว กฎหมายการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะเป็นกฎหมายอีกฉบับ ที่กระทรวงการคลังจะเร่งนำเสนอครม.ในต้นปีหน้า
นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้หารือกับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสมหมาย ภาษี เบื้องต้นสรุปว่า ร่างพ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะยังคงจัดเก็บที่อัตราเพดาน พื้นที่เกษตรกรรม ไม่เกิน 0.5% ที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 1% ส่วนที่ดินว่างเปล่าและเพื่อการพาณิชยกรรม ไม่เกิน 4%
ส่วนอัตราการเก็บจริง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเริ่มพิจารณาเก็บฐานต่ำในอัตราเดิมก่อนหน้านี้ที่ สศค. เคยนำเสนอไว้ คือ ที่เกษตรกรรม ไม่เกิน 0.05% และ ที่อยู่อาศัย ไม่เกิน 0.1% ซึ่งอัตราเก็บจริงจะเก็บครั้งเดียวปีต่อปี ส่วนที่ว่างเปล่าและเพื่อการพาณิชยกรรม ไม่เกิน 0.5% จะทยอยปรับทุก 3 ปี 2 ครั้ง
เพิ่มเติมข้อยกเว้น"ขยายมูลค่าบ้าน"
อย่างไรก็ตาม แนวทางปฏิบัติยังต้องพิจารณาเพิ่มเติมใน กรณี "ข้อยกเว้น" ซึ่งจะต้องพิจารณา "ขยายมูลค่าบ้าน" ที่ได้รับการยกเว้นเสียภาษีเพิ่มขึ้นจาก "ไม่เกิน 1 ล้านบาท" เป็น "ไม่เกิน 1.5- 2 ล้านบาท" เพื่อให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจ และให้นำมูลค่าบ้านมาหักลดหย่อนตามข้อยกเว้นก่อน แล้วถึงจะนำมูลค่าบ้านที่เหลือไปคิดเป็นมูลค่าของฐานที่จะต้องเสียภาษี
เช่น คนมีบ้านราคา 2 ล้านบาท มีข้อยกเว้นที่จะต้องเสียภาษีราคา 1.5 ล้านบาท ให้นำมูลค่าบ้านมาหักก่อน ดังนั้นจะเสียภาษีบนฐาน 5 แสนบาทเท่านั้น เพราะต้องการให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการเสียภาษีปีละครั้งเดียวเท่านั้น แต่ฐานที่ใช้คำนวณภาษีก็ไม่ได้สูงกว่าที่กำหนดไว้
"ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จะมีความชัดเจนและเสนอเข้าครม.ได้ประมาณมกราคมปีหน้า ซึ่งเป็นกฎหมายฉบับที่ 2 ซึ่งกระทรวงการคลังต้องการผลักดันแน่นอน"
ทริส หวั่นเก็บภาษีมรดกกระทบกำลังซื้อ
ด้านนายสันติ กีระนันทน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริส เรตติ้ง จำกัด เปิดเผยว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือการที่รัฐบาลมีแนวคิดจะจัดเก็บภาษีมรดกที่อาจได้ไม่คุ้มเสีย เพราะเงินที่จะได้รับจากการจัดเก็บภาษีมีสัดส่วนคิดเป็น 0.5 % ของจีดีพีเท่านั้น สิ่งที่สังคมต้องทำความเข้าใจ คือ เงินมรดก เป็นเงินที่ประชาชนทำงาน และเก็บเงินไว้ให้ลูกหลาน เงินเหล่านี้ผ่านการเสียภาษีมาแล้ว 1 ครั้ง อย่างการเสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคล การเก็บภาษีมรดกคือการเก็บภาษีครั้งที่ 2 ดังนั้นหากรัฐบาลจะทำจริง ต้องอธิบายกับสังคมให้ได้ถึงเหตุผลในการจัดเก็บ
เขากล่าวอีกว่าในขณะนี้ประเทศไทยกำลังประสบปัญหากำลังซื้อของระดับล่างขาดหายไป และคนกลุ่มนี้คือคนที่มีกำลังซื้อ รัฐบาลเข้าไปตัดกำลังซื้อของพวกเขา อาจเป็นปัญหาในระยะต่อไปได้
แนะรับสร้างบ้านผนึกกำลังรับเออีซี
นายสุทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน กล่าวในงานสัมมนาทางวิชาการ "ทิศทางตลาดที่อยู่อาศัย'58 @ ส่องธุรกิจรับสร้างบ้านยุค AEC" ในหัวข้อ "ส่องธุรกิจรับสร้างบ้านยุค AEC" ว่า การที่ผู้ประกอบการไทยจะเข้าไปเปิดตลาดรับสร้างบ้านในอาเซียนได้นั้น จะต้องร่วมมือกันระหว่างผู้ประกอบการไทยด้วยกัน เพราะที่ผ่านมาสมาชิกยังไม่เข้มแข็ง นอกจากนี้ยังควรตั้งรับมากกว่าตั้งรุก เน้นการสร้างตลาดและกลุ่มลูกค้า เพื่อสร้างจุดแข็งให้กับตัวเอง ทำตัวเองให้เป็นตัวเลือกให้กับนักลงทุนจากประเทศต่างๆ อาทิ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และสวีเดน ซึ่งจะเข้ามาลงทุนในไทย ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็นการเจรจากันบ้างแล้ว
ส่วนกลยุทธ์หากจะรุกตลาดอาเซียน ต้องไปกันเป็นกลุ่ม ที่ผ่านมาสมาคมฯ เน้นการสร้างผู้ประกอบการที่มีคุณภาพและเชื่อมโยงกันระหว่างภูมิภาค ซึ่งในปีหน้าจะเน้นส่งเสริมให้แก่ผู้ประกอบการขยายตลาดผ่านการจัดกิจกรรมต่างๆ
ชี้ศึกษากฎ-ระเบียบลงทุนให้ชัด
นายสุทธิพร ยังกล่าวว่า นอกจากการรวมกลุ่มช่วยกันรุกตลาดแล้ว ผู้ประกอบการจะต้องศึกษากฎและระเบียบต่างๆ ในการเข้าไปลงทุนธุรกิจนี้ในอาเซียน โดยเฉพาะสัญญาการลงทุนต่างๆ เพราะแต่ละประเทศจะแตกต่างกัน อาทิ สัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติ ในประเทศนั้นๆ
โดยกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน หรือซีแอลเอ็มวี ประกอบด้วย กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม ถือเป็นประเทศที่น่าสนใจเข้าไปลงทุน เนื่องจากมีการพัฒนาที่ช้ากว่าไทยหลายสิบปี ทำให้ขยายเศรษฐกิจมีโอกาสขยายตัวได้อีกมาก
"พม่าถือเป็นประเทศที่น่าสนใจเข้าไปทำธุรกิจ ขณะเดียวกันต้องระวังปัญหาที่จะเกิดขึ้น โดยเฉพาะการเข้าไม่ถึงนักลงทุนที่แท้จริง แต่จะต้องผ่านตัวแทนหรือนายหน้า ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่ต้องรอบคอบ" นายสุทธิพร กล่าว
ขณะที่ความต้องการสร้างบ้านในประเทศลาวและกัมพูชานั้นถือว่ามีสูง แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มคนที่มีฐานะ และกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจชาวต่างชาติ ซึ่งชื่นชอบในฝีมือแรงงานและรูปแบบการออกแบบของคนไทย โดยระดับราคารับสร้างบ้านเฉลี่ยเริ่มต้นตั้งแต่ 20-30 ล้านบาทสำหรับผู้มีฐานะ และ 5-10 ล้านบาท สำหรับนักธุรกิจชาวต่างชาติ
มั่นใจปีหน้าธุรกิจสร้างบ้านโต
ส่วนภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้านในปีนี้ ถือว่าตลาดไม่ปกติ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2 และ 3 ของปี ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัญหาการเมือง ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ ทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่น ทำให้ชะลอการใช้จ่ายโดยเฉพาะผู้บริโภคระดับรากหญ้า
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เริ่มเห็นสัญญาณกำลังซื้อปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการลงทุนภาครัฐที่เริ่มขับเคลื่อน ทำให้มีการเบิกจ่ายงบประมาณมากขึ้น ปัจจุบันพบว่าประชาชนเริ่มมีความเชื่อมั่น ทำให้เชื่อว่าในช่วงปลายปีและต้นปีหน้าธุรกิจรับก่อสร้างบ้านจะฟื้นตัวดีกว่าปีนี้
ทั้งนี้ ปริมาณและมูลค่าตลาดรับบ้านสร้าง ที่สร้างผ่านบริษัทรับสร้างบ้านปี 2557 ทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด มีมูลค่า 1.78 แสนล้านบาท และในปี 2558 คาดว่าจะมีมูลค่า 1.89 แสนล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาพบว่า บริษัทรับสร้างบ้านได้ขยายสาขาและบริษัทไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น ทำให้ตลาดรับสร้างบ้านมีการขยายตัว โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามหัวเมืองหลักซึ่งมีการเติบโตสูง ขณะที่การแข่งขันเน้นที่ราคาและรูปแบบ ระบบ คุณภาพ
ข้อเสียแรงงานไทยอายุมาก
นายสราวุธ ไพฑูรย์พงษ์ นักวิชาการอาวุโส ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคม สถาบันการวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ตลาดแรงงานก่อสร้างในไทยส่วนใหญ่มาจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะแรงงานระดับล่าง ซึ่งส่วนใหญ่มาจากกัมพูชา ซึ่งที่ผ่านมามีทั้งรูปแบบที่ถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่เข้ามาในรูปแบบนักท่องเที่ยวแต่แอบมาทำงานในไทย
ปัจจุบันแรงงานไทยมี 38 ล้านคน เป็นแรงงานก่อสร้าง 2.4 ล้านคน เป็นแรงงานระดับล่าง 2 ล้านคน หรือคิดเป็น 82% ขณะที่แรงงานต่างด้าว อาทิ พม่า กัมพูชา และลาว อยู่ที่ 6.71 แสนคน คิดเป็น 34% ซึ่งแรงงานเวียดนามมีความต้องการที่จะเข้ามาทำงานในไทยมากกว่าแรงงานจากชาติอื่น
"แรงงานระดับล่างหากแข่งขันกันจริง เราไม่ได้ส่งแรงงานระดับล่าง แค่เรานำเข้าจากซีแอลเอ็มวี ขณะที่ลาวและกัมพูชาใช้แรงงานจากกัมพูชาและจีน เพราะค่าแรงไม่สูง ขณะที่ปัญหาของแรงงานระดับล่างของไทยคือ เป็นแรงงานผู้สูงอายุ รวมถึงแรงงานไทยทำงานเป็นฤดูกาล ซึ่งจะต้องหาแรงงานต่างชาติเข้ามาชดเชยซึ่งถือเป็นข้อเสียเปรียบ ขณะที่แรงงานต่างด้าวเป็นวัยหนุ่มสาว"
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 22 พ.ย. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.