สตง.หวั่นนโยบายจ่ายเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละพันบาท เกิดปัญหาใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินไม่มีประสิทธิภาพ หลังตรวจพบมีการนำฐานบัญชีรายชื่อโครงการประกันรายได้มาใช้ทั้งที่ข้อมูลไม่ต้อง ไม่เป็นปัจจุบัน เปิดช่องโหว่ทุจริตเพียบ ชง "ประยุทธ์" สั่งแผนสกัดด่วน คุมเข้ม ใช้ระบบจีพีเอสช่วย -กาหัวเกษตรกร ใครไม่ซื่อสัตย์ให้ข้อมูลเท็จหวังหลอกเงินหลวง เจอดำเนินคดีตามกม.แน่
เมื่อวันที่ 18 พ.ย.57 นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบแนวทางการดำเนินงานตามขั้นตอนการจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ละ1,000 บาท จำนวนไม่เกิน 15 ไร่ หรือไม่เกินครัวเรือนละ 15,000 บาท ตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในระยะ 3 เดือนแรก (ต.ค.-ธ.ค.57) ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 1 ต.ค.57
สตง. ตรวจสอบพบว่า ฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียนเพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวดังกล่าว เป็นฐานข้อมูลเดียวกันกับที่ใช้ในการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกร ซึ่งส่วนหนึ่งไม่ถูกต้องและไม่เป็นปัจจุบัน เช่น เกษตรกรแจ้งพื้นที่เพาะปลูกมากกว่าที่เพาะปลูกจริง เกษตรกรไม่มีพื้นที่เพาะปลูกจริงแต่แจ้งว่ามีพื้นที่เพาะปลูก หรือเกษตรกรมีที่ดินทำกินจำนวนมากกว่าเกณฑ์ที่้กำหนด จึงแบ่งที่ดินของตนให้บุตรหรือญาติพี่น้องถือครองเพื่อให้จำนวนที่ดินอยู่ภายในเกณฑ์ที่กำหนด โดยที่บุตรหรือญาติพี่น้องมิได้มีอาชีพเกษตรกรตามนิยามที่กำหนด
นายพิศิษฐ์ กล่าวว่า สตง.ถือเป็นกลไกหนึ่งในการช่วยควบคุม กำกับดูแล ให้การดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาล บรรลุวัถุตประสงค์ รวมทั้งมีการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด ในกรณีนี้ สตง.เห็นว่าเป็นจุดเสี่ยงให้เกิดการทุจริตในขั้นตอนการขึ้นทะเบียนเกษตรกรและการรับรองพื้นที่ โดยอาจเป็นช่องทางให้ผู้ที่ไม่ซื่อสัตย์แจ้งข้อมูลไม่ครบตามความเป็นจริง
"สตง.ดังนั้น จึงมีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อพิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่รับผิดชอบกำหนดแนวทางหลักเกณฑ์ หรือวิธีการดำเนินงานร่วมถึงมาตรการควบคุมตรวจสอบที่รอบคอบ รัดกุม ตั้งแต่ขั้นตอนการขึ้นทะเบียนเกษตร จนถึงขั้นตอนการเบิกจ่ายเงินให้ชาวนา รวมถึงมอบหมายหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการควบคุม ติดตาม ตรวจสอบที่ชัดเจน เพื่อป้องปรามความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น"
ผู้ว่าฯ สตง. กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ สตง.ยังได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายองค์กรต่อต้านการทุจริต อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยได้กำหนดแผนปฏิบัติการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ และจัดประชุมเพื่อมอบนโยบายและซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการตรวจสอบการจ่ายเงินตามมาตรการดังกล่าวให้แก่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบในพื้นที่จังหวัดภาคกลาง จำนวน 25 จังหวัด และดำเนินการลงพื้นที่ตรวจสอบทันที
ทั้งนี้ จะเน้นความถูกต้องครบถ้วนในสามประเด็นหลัก ได้แก่ จำนวนพื้นที่เพาะปลูก กรรมสิทธิ์ในพื้นที่เพาะปลูก และความเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวจริง ตามที่เกษตรกรได้ยื่นขอใช้สิทธิรับเงินช่วยเหลือ โดยใช้ระบบกำหนดตำแหน่งบนพื้นโลกผ่านดาวเทียม(จีพีเอส) ช่วยในการตรวจสอบพื้นที่
"พร้อมกันนี้ ขอกล่าวฝากไปยังพี่น้องเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการว่า ท่านใดที่มีความซื่อสัตย์ สุจริตและแจ้งข้อมูลได้ตรงตามความเป็นจริงมิต้องวิตกกังวลแต่ประการใด แต่หากท่านใดมีเจตนาที่จะหลอกลวงเจ้าหน้าที่ โดยให้ข้อมูลที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง เมื่อ สตง. ตรวจพบก็จำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมายโดยเคร่งครัดต่อไป" ผู้ว่าฯ สตง.ระบุ
หมายเหตุ : ภาพประกอบชาวนาจาก landactionthai.org
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.