"สมหมาย" รับเลื่อนเสนอ ครม.พิจารณาภาษีมรดกเป็นสัปดาห์หน้า โวเดินเครื่องจัดทำภาษีที่ดินเพิ่ม 6-7 เท่า บอกร่างกฎหมายชงที่ประชุม ครม.เดือนธันวาคม ขณะที่นักวิชาการแนะต้องคำนึงถึงคนจน ผู้มีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบ "หม่อมอุ๋ย" เผย 4 จุดอ่อนฉุดเศรษฐกิจไทย
เมื่อวันอังคาร นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังเลื่อนเสนอ พ.ร.บ.ภาษีมรดกให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ จากเดิมจะนำเข้าที่ประชุม ครม. ในวันที่ 12 พฤศจิกายน เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ติดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก (APEC) ครั้งที่ 22 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 9-11 พ.ย.2557 ซึ่งเดินทางกลับมาช้ากว่ากำหนด ทำให้ถูกเลื่อนออกไปเป็นการประชุม ครม.ในสัปดาห์หน้า พร้อมชี้แจงว่าไม่ได้ติดปัญหาด้านรายละเอียดของ พ.ร.บ.แต่อย่างใด
ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การเก็บภาษีมรดกมีอัตราสูงสุด 10% จัดเก็บจากผู้รับมรดกในส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท จากการพูดคุยกับผู้ที่มีฐานะ ส่วนใหญ่พร้อมที่เสียภาษีมรดกให้กับรัฐบาล ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดี ทำให้คนที่มีรายได้ปานกลางและรายได้น้อยพร้อมที่จะเสียภาษีให้รัฐบาลในอนาคต
นายสมหมายเผยว่า ขณะนี้ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างกระทรวงการคลังพิจารณาเสร็จแล้ว พร้อมเสนอ ครม.เดือนธันวาคมนี้ หลังจากนั้นจะเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาและมีผลบังคับใช้ จะยกเว้นการเสียภาษีที่ดินไปอีก 1 ปีครึ่ง เพราะต้องทำการประเมินที่ดินทั้งหมด 32 ล้านแปลงให้เสร็จสิ้นก่อน ทั้งนี้ เมื่อการเก็บภาษีที่ดินใหม่ จะทำให้เก็บภาษีเพิ่ม 6-7 เท่า ของภาษีโรงเรือนและภาษีที่ดินในปัจจุบัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ซึ่งจัดเก็บในปัจจุบันโดยองค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น โดยทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษี ได้แก่ อาคาร โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างต่างๆ กับที่ดินต่อเนื่อง ซึ่งใช้ปลูกสร้างอาคาร โรงเรือน สิ่งปลูกสร้างนั้นๆ ซึ่งเจ้าของกรรมสิทธิ์ได้นำทรัพย์สินดังกล่าวออกหาผลประโยชน์ตอบแทนนอกเหนือจากการอยู่อาศัยของตนเอง โดยจะเก็บภาษีในอัตรา 12.5% ของค่ารายปี
นอกจากนี้กระทรวงการคลังยังมีแผนปฏิรูปภาษีของกรมสรรพสามิต ซึ่งจะมีแนวคิดแปลกใหม่ เช่น ขณะนี้มีการหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าไวน์จำนวนมาก มีแนวคิดจะเก็บเป็นอัตราเดียว ขณะที่การปฏิรูปภาษี กรมศุลกากรจะต้องมีการปรับปรุงพิกัด ระเบียบ การดำเนินการต่างๆ ที่ทำให้การเก็บภาษีไม่มีประสิทธิภาพ ส่วนการปฏิรูปภาษี กรมสรรพากรจะต้องปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) ในปลายปีงบประมาณ 2558 แต่จะปรับเพิ่มขึ้นเท่าไร ต้องดูสภาพเศรษฐกิจ โดยจะต้องปรับปรุงไปพร้อมกับการปิดช่องโหว่เก็บภาษีแวตที่มีอยู่มาก
รมว.การคลังกล่าวด้วยว่า การปฏิรูปครั้งใหญ่จะทำให้การเก็บรายได้ปี 2559 เพิ่มขึ้นพอสมควร และปี 2560 จะเก็บได้เต็มที่ จะทำให้รัฐบาลสามารถไปเพิ่มรายจ่ายในการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มรายจ่ายในการพัฒนาสังคม การศึกษา สาธารณสุข สำหรับปัญหาเรื่องหนี้จากโครงการรับจำนำข้าวที่มีอยู่ถึง 6-7 แสนล้านบาท ขณะนี้ต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน โดยการตั้งงบประมาณมาจ่ายดอกเบี้ย และทยอยจ่ายเงินต้น ซึ่งต้องใช้เวลาชำระหนี้อีกระยะยาว
นอกจากนี้กระทรวงการคลังได้สรุปร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่จะให้ใช้กรอบของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ 3% ต่อปี บวกลบ 1.5% ในการดูแลเศรษฐกิจปี 2558 ซึ่งจะมีการเสนอให้ ครม.พิจารณาเร็วๆ นี้ การเปลี่ยนแปลงจากเงินเฟ้อพื้นฐานมาเป็นเงินเฟ้อทั่วไป จะไม่กระทบต่อการดูแลเศรษฐกิจ คาดว่าการปรับลอยตัวราคาพลังงานในขณะนี้จนถึงปีหน้า จะไม่กระทบต่อเงินเฟ้อจนสูงเกินกรอบที่ ธปท.กำหนดไว้
นอกจากนี้มีความต้องการดำเนินนโยบายการคลังจากการทำงบประมาณแบบขาดดุลต่อเนื่อง จนถึงปี 2560 เพื่อนำไปใช้พัฒนา ใช้หนี้ของประเทศ รวมถึงการลงทุน และการดูแลภาคสังคม เนื่องจากมีการจัดเก็บภาษีคนจนมากขึ้น ต้องมีการดูแลสังคมมากขึ้น โดยในปี 2559 คาดว่าจะทำงบประมาณแบบขาดดุลอยู่ที่ ประมาณ 3.5 แสนล้านบาท จากปีนี้ที่ 2.55 แสนล้านบาท โดยการขาดดุลยังอยู่ในกรอบ 20% ของงบประมาณ หรือสามารถทำงบประมาณได้สูงถึง 5 แสนล้านบาท
นอกจากนี้กระทรวงการคลังเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเพิ่มค่าหักลดหย่อนสำหรับการ วิจัยและพัฒนา จากเดิม 200% หรือ 2 เท่า เป็น 300% หรือ 3 เท่า โดยหลักเกณฑ์ต้องมีความชัดเจน เพื่อให้หักภาษีได้ง่ายรวดเร็ว และตรวจสอบได้ว่าเป็นการใช้จ่ายเพื่อการพัฒนา
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยยั่งยืนได้ต้องแก้จุดอ่อนในโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้ได้ ซึ่งประกอบด้วย 1.จุดอ่อนด้านพลังงานมีการใช้ฟุ่มเฟือย ภาครัฐมีการอุดหนุนราคาพลังงานต่ำกว่าความเป็นจริง คิดเป็นมูลค่าการใช้พลังงานในไทยสูงถึง 18% ของจีดีพี ทำให้ต้องลดการอุดหนุนพลังงาน หากไม่แก้ไขประเทศไทยยิ่งพัฒนายิ่งแพ้
2.จุดอ่อนโครงสร้างภาษี ทำให้การจัดเก็บรายได้ลดลง ส่งผลให้งบลงทุนน้อยลงทุกที จากสูงถึง 30% เหลือ 17% ที่ผ่านมาพึ่งภาษีการค้าและภาษีรายได้ ต่อไปจะมีการเก็บภาษีมรดกเพื่อให้เกิดความยุติธรรม ที่สำคัญต้องเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมีฐานการเก็บภาษีกว้าง และต้องมีการเก็บภาษีสรรพสามิตตัวใหม่ๆ ให้รายได้เพิ่มขึ้น เมื่อมีรายได้มากพอจะมีโอกาสได้เห็นการจ่ายเงินคืนภาษีให้กับผู้มีรายได้น้อย (negative income tax) กรณีที่รัฐบาลจ่ายเงินให้ชาวนาไร่ละ 1 พันบาท วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท ก็ถือเป็น negative income tax
3.จุดอ่อนต้นทุนขนส่งสินค้า ที่ปัจจุบันมีการขนส่งทางถนน 75% มีต้นทุน 2 บาทต่อตันต่อกิโลเมตร ขณะที่การขนส่งทางรางมีไม่ถึง 2% มีต้นทุนเพียง 0.30 บาทต่อ กม. หากไม่แก้ไขจุดนี้ ยิ่งพัฒนาต่อไปก็ยิ่งฟุ่มเฟือย 4.จุดอ่อนด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านการศึกษา จะต้องมีการกระจายครูที่มีคุณภาพ กระจายไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น รวมถึงต้องมีการผลิตบัณฑิตสาขาวิชาชีพมากกว่าสายวิชาทั่วไป
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวอีกว่า การดูแลเศรษฐกิจที่ยั่งยืนมีโจทย์สำคัญอยู่ว่าจะทำอย่างไรให้คนในชนบทมีรายได้สูงขึ้น และสนับสนุนให้นำพืชผลไปใช้ประโยชน์มากขึ้น เช่น การผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลังและอ้อย รวมถึงการทำไบโอดีเซล ก็มีน้ำมันปาล์มอยู่ด้วย
นอกจากนี้ต้องพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอลให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง ต้องมีการแก้กฎหมายอีกเยอะ คาดว่าจะให้เสร็จภายใน 1 ปี ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยพัฒนาก้าวไปได้อย่างรวดเร็ว เศรษฐกิจดิจิตอลเป็นเรื่องเก่าของประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่เป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย
วันเดียวกัน ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี ถนนวิทยุ ได้มีการจัดงานสัมมนาทางเศรษฐกิจปี 2558 “ก้าวข้ามความเหลื่อมล้ำเศรษฐกิจไทย” หัวข้อ "กับดัก : ค่านิยม คุณธรรม คอร์รัปชัน" นางปัทมวดี โพชนุกูล นักวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต้องการให้คำนึงถึงผลกระทบต่อคนจน คนมีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ในเมืองหลัก เพราะเมื่อเช่าอาศัยอาจต้องมีภาระค่าเช่าสูงขึ้น และควรสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ตั้งกองทุนขึ้นมาดูแลชาวบ้านในท้องถิ่น เพื่อไม่ให้ที่ดินตกไปอยู่ในมือของนายทุน เพื่อให้กองทุนซึ่งตั้งขึ้นมาเองตามความต้องการของท้องถิ่นดูแลที่ดินในพื้นที่
นางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ที่ผ่านมาในทุกรัฐบาลให้ความสำคัญอย่างมากกับการเข้าถึงแหล่งทุน แต่ยังไม่ค่อยให้ความสำคัญกับโอกาสที่จะได้รับความสำเร็จหลังจากที่เข้าถึงแหล่งทุนได้แล้ว ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างโอกาสในการประสบความสำเร็จทางธุรกิจให้มีเท่าๆ กันระหว่างธุรกิจที่มีทุนขนาดเล็กกับธุรกิจที่มีทุนขนาดใหญ่
“การที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเข้าถึงแหล่งทุนมาก แต่ขาดการวางยุทธศาสตร์การส่งเสริมธุรกิจอย่างบูรณาการนั้น ได้ส่งผลทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำของกลุ่มธุรกิจมากขึ้น โดยธุรกิจที่มีทุนขนาดเล็กก็ยิ่งเล็กลง ขณะที่ทุนขนาดใหญ่ก็ยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น” นางเดือนเด่นกล่าว
นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานหอการค้าไทย กล่าวยอมรับว่า ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในภาคเอกชนยังไม่ประสบความสำเร็จ เพราะยิ่งต่อต้านการคอร์รัปชันยิ่งมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น แต่ก็เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ประชาชนมีความตื่นตัวและมีจิตสำนึกในการร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันมากขึ้น โดยสิ่งสำคัญที่มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันคือ การจัดระบบให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากยิ่งขึ้น โดยเชื่อว่าหากแก้ไขปัญหาได้เร็วอาจจะกระทบต่อการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจในระยะสั้นเท่านั้น
นายวิชัยกล่าวว่า ที่ผ่านมาได้ทำงานอย่างต่อเนื่องในการต่อต้านการคอร์รัปชันมาโดยตลอด และเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะการที่ประชาชนออกมาคัดค้านการนิรโทษกรรมให้กับนักการเมืองที่ทุจริตคอร์รัปชัน แต่มองว่ากับดักที่สำคัญที่มองเห็นจากหลายรัฐบาลที่ผ่านมาคือ ช่วงแรกที่นายกรัฐมนตรีเข้ารับตำแหน่งจะให้ความจริงใจในการต่อต้านคอร์รัปชัน แต่กลับขาดความจริงจังกับการนำนโยบายขจัดการคอร์รัปชันไปสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง นี่คือกับดักถ้าเราไม่สามารถเปลี่ยนนโยบายเป็นรูปธรรมได้
นายกนก วงษ์ตระหง่าน อดีตนักวิชาการ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การพัฒนาบุคลากรที่เป็นต้นทุนของมนุษย์ต่อระบบเศรษฐกิจของไทยนับว่ามีปัญหาในการพัฒนาคุณภาพเด็กนักเรียน เนื่องจากพบว่าคะแนนการสอบเฉลี่ยโอเน็ตของนักเรียนมัธยมศึกษาสอบตกทุกวิชา ขณะที่เด็กนักเรียนที่เก่งจะคะแนนสูงมาก แต่ยังมีความเห็นแก่ตัว ทำให้อนาคตนำไปสู่ปัญหาใช้ความเก่งในการทุจริต
นายสกนธ์ วรัญญูวัฒนา นักวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต้องคำนึงถึงคนจน ผู้มีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบ โดยถูกผลักภาระไปให้กลุ่มดังกล่าว ควรพิจารณาว่าการจัดเก็บภาษีที่ดินกลุ่มที่ได้รับการยกเว้น จะพิจารณาจากสัดส่วนของมูลค่าทรัพย์สิน หรือประเมินจากปริมาณทรัพย์สิน หรือคำนวณโดยเริ่มอัตราต่ำ เพราะที่ดินในเมืองจะมีมูลค่าสูง นอกจากนี้ควรแยกให้ชัดเจนในการเก็บภาษีโรงเรือน เพราะอาคารพาณิชย์ในเมืองชั้นล่างใช้ประกอบกิจการ แต่ใช้ประโยชน์ชั้นบนเป็นที่อยู่อาศัย และภาษีที่ดินจะเป็นกลไกสำคัญในการใช้เป็นเครื่องมือจัดทำโซนนิ่งปลูกพืชเศรษฐกิจของรัฐบาล เพื่อให้ที่ดินเกิดประโยชน์สูงสุด
ด้านบรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงมาตรการที่จะมีส่วนช่วยป้องกันการคอร์รัปชันได้ด้วยการลดอำนาจและลดบทบาทของรัฐให้มากขึ้น และเพิ่มเครื่องมือในการให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนช่วยในการตรวจสอบ พร้อมทั้งต้องให้มีการเปิดเผยข้อมูลของสถาบันต่างๆ อย่างไร้เงื่อนไขเพื่อให้มีการตรวจสอบได้ พร้อมทั้งควรผลักดันให้มีกฎหมายที่ควบคุมการโฆษณาจากภาครัฐให้เกิดผลสำเร็จ เพื่อลดการนำงบประมาณของแต่ละกระทรวงมาโปรโมตงานของรัฐมนตรีเพียงอย่างเดียว รวมถึงจะต้องมีการเพิ่มโทษและความเข้มงวดในการตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชันให้มากยิ่งขึ้น
ที่มา : ไทยโพสต์ วันที่ 12 พ.ย. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.