ล่าสุด สำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2556 จากการเก็บรวบรวมข้อมูลทุกจังหวัด ทั่วประเทศ ระหว่างเดือน ม.ค.-ธ.ค. 2556 โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ ค่าใช้จ่าย หนี้สิน และการกระจายรายได้ของครัวเรือน พบว่าครัวเรือนในประเทศไทยมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 25,194 บาท และค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 19,061 บาท/เดือน มีหนี้สินเฉลี่ย 163,087 บาท หรือ 6.5 เท่าของรายได้
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมทั้งประเทศความไม่เท่าเทียมของรายได้มีแนวโน้มลดลง โดยเมื่อแบ่งครัวเรือนทั่วประเทศเป็น 5 กลุ่มเท่า ๆ กัน พบว่าความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ของกลุ่มที่มี รายได้ต่ำสุด และกลุ่มที่มีรายได้สูงสุด มีส่วนแบ่งของรายได้ในปี 2556 ลดลงจากปี 2554 ร้อยละ 0.5 และ 1.9 ตามลำดับ ขณะที่กลุ่มที่มีรายได้ปานกลางมีส่วนแบ่งรายได้เพิ่มขึ้น และเมื่อพิจารณาค่าสัมประสิทธิ์ของความไม่เสมอภาค มีค่าลดลงจาก 0.376 ในปี 2554 เป็น 0.367 ในปี 2556 แสดงว่าการกระจายรายได้ดีขึ้น
รายได้-ค่าใช้จ่ายครัวเรือนปี′56
จากการสำรวจพบว่าครัวเรือนทั่วประเทศมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ21,954บาท ส่วนใหญ่เป็นรายได้จาก การทำงานร้อยละ 73.8 แยกเป็นค่าจ้าง-เงินเดือนร้อยละ 40.8 ทำธุรกิจร้อยละ 18.5 ทำเกษตรร้อยละ 14.5 มีค่าใช้จ่ายเดือนละ 19,061 บาท โดยร้อยละ 34.4 เป็นค่าอาหาร เครื่องดื่ม ยาสูบ ค่าเดินทางและยานพาหนะร้อยละ 20.0 ค่าที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ภายในบ้านร้อยละ 19.2 ของใช้ส่วนบุคคล เครื่องนุ่งห่ม รองเท้าร้อยละ 5.5 การสื่อสารร้อยละ 3.1 เพื่อการศึกษา บันเทิง-การจัดงานพิธี และค่าเวชภัณฑ์-รักษาพยาบาลร้อยละ 1.7, 1.6 และ 1.5 กิจกรรมทางศาสนาร้อยละ 1.1 ค่าภาษี ของขวัญ เบี้ยประกันภัย ซื้อสลากกินแบ่ง-หวย ดอกเบี้ยสูงถึงร้อยละ 11.9
หนี้เฉลี่ย 1.63 แสนบาท/ครัวเรือน
ผลสำรวจภาระหนี้สินพบว่า จากครัวเรือนทั่วประเทศประมาณ 20 ล้านครัวเรือน เป็นครัวเรือนที่มีหนี้สิน 10.8 ล้านครัวเรือน หรือร้อยละ 53.8 โดยมีหนี้สินเฉลี่ย 163,087 บาท/ครัวเรือน ส่วนใหญ่ก่อหนี้เพื่อใช้ในครัวเรือน โดยซื้อบ้าน-ที่ดินร้อยละ 36.8 อุปโภคบริโภคร้อยละ 36.7 เพื่อการศึกษาร้อยละ 1.5 หนี้เพื่อลงทุนและอื่น ๆ ร้อยละ 25.0 โดยส่วนใหญ่เป็นหนี้เพื่อลงทุนการเกษตรร้อยละ 13.4 ทำธุรกิจและอื่น ๆ ร้อยละ 11.6
หนี้ในระบบสูงกว่านอกระบบ 49 เท่า
จากครัวเรือนที่มีหนี้สินส่วนใหญ่เป็นหนี้ในระบบ โดยมีครัวเรือนที่มีหนี้ในระบบอย่างเดียวร้อยละ 91.7 ครัวเรือนที่มีหนี้ทั้งในและนอกระบบร้อยละ 3.7 จำนวนเงินเฉลี่ยที่เป็นหนี้ในระบบสูงกว่านอกระบบถึง 49 เท่า (159,816 บาท และ 3,271 บาท) เพิ่มขึ้นจากปี 2554 ที่หนี้ในระบบสูงกว่านอกระบบประมาณ 32 เท่า (130,930 บาท และ 3,970 บาท)
ในจำนวนหนี้สินในระบบส่วนใหญ่เป็นหนี้ซื้อบ้าน-ที่ดิน เพิ่มขึ้นจากเดิมปี 2554 ที่ร้อยละ 34.5 เป็น 37.3 รองลงมาเป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคร้อยละ 36.7 ทำเกษตรร้อยละ 13.5 ทำธุรกิจร้อยละ 10.1 หนี้เพื่อการศึกษาร้อยละ 1.5 ขณะที่หนี้นอกระบบเป็นหนี้เพื่อการ อุปโภคบริโภคร้อยละ 36.4 เทียบกับปี 2554 ซึ่งเกิดวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ร้อยละ 40.5 รองลงมาเป็นหนี้ทำธุรกิจ ใช้ซื้อบ้าน-ที่ดิน ใช้ทำเกษตรร้อยละ 26.4, 15.1 และ 12.7 ส่วนหนี้เพื่อใช้ในการศึกษาร้อยละ 1.5
ธ.ก.ส.ครองแชมป์เจ้าหนี้
พิจารณาจากครัวเรือนที่มีหนี้สินพบว่าแหล่งเงินกู้ส่วนใหญ่เป็นแหล่งเงินกู้ในระบบคือ ธนาคารร้อยละ 66.7 ซึ่งธนาคารที่มีการกู้เงินมากที่สุด คือ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ร้อยละ 30.8 ส่วนใหญ่เพื่อลงทุนทำเกษตร รองลงมาเป็นการกู้กองทุนหมู่บ้าน-ชุมชนเมืองร้อยละ 23.6 แหล่งเงินกู้นอกระบบ เช่น นายทุนเงินกู้ พ่อค้าคนกลาง ญาติ เพื่อนบ้าน ฯลฯ มีเพียงร้อยละ 5.2 เท่านั้น
คน "กทม.-ปริมณฑล" หนี้ท่วม
พิจารณารายได้ ค่าใช้จ่าย และหนี้สินครัวเรือนเป็นรายภาคพบว่า กรุงเทพมหานคร (กทม.) และ 3 จังหวัด คือ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ มีรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงกว่าภาคอื่นมาก คือ 43,053 บาท แต่ค่าใช้จ่ายและหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงสุดเช่นเดียวกัน คือ ค่าใช้จ่าย 32,425 บาท หนี้สิน 273,795 บาท โดยมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ร้อยละ 75.3 ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้สูงสุดร้อยละ 78.7 ทำให้มีเงินออมหรือเงินเพื่อชำระหนี้น้อยมาก ขณะที่ครัวเรือนภาคเหนือที่สัดส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ต่ำสุดร้อยละ 73.0
แบกค่าครองชีพ-หนี้ซื้อบ้าน
ตั้งแต่ปี 2547-2556 ครัวเรือนทั่วประเทศมีรายได้เฉลี่ยมากกว่าค่าใช้จ่ายจำเป็นใน การยังชีพ โดยรายได้ตั้งแต่ปี 2547-2556 เพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยเดือนละ 14,963 บาท เป็น 25,194 บาท ค่าใช้จ่ายเพิ่มจากเดือนละ 12,297 บาท เป็น 19,061 บาท ปี 2556 พบว่ารายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายที่จำเป็นในการยังชีพ 6,133 บาท/เดือน หรือ 2,044 บาท/คน (ขนาดครัวเรือนเฉลี่ย 3 คน) ส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ชำระหนี้เพื่อการซื้อบ้าน-ที่ดิน หนี้อุปโภคบริโภค
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 13 พ.ย. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.