ปัญหาหนี้สินท่วมหัว เอาตัว (แทบ) ไม่รอด เป็นเรื่องใหญ่และสั่งสมมานานในสังคมไทย จากผลสำรวจโดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่าครัวเรือนไทยเป็นหนี้เฉลี่ยครอบครัวละ 219,158.20 บาท มีภาระผ่อนชำระเฉลี่ยเดือนละ 13,358.35 บาท เป็นการกู้ในระบบ (ธนาคารพาณิชย์และน็อนแบงก์) 51% กู้นอกระบบ (นายทุนเงินกู้, ญาติพี่น้อง, เพื่อน) 49%
โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อยคือ รายได้ต่ำกว่า 5,000 บาทต่อเดือน และรายได้ 5,000-10,000 บาทต่อเดือน เป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนหนี้นอกระบบมากที่สุดถึง 44.6% และ 41.8% ของยอดหนี้รวม อีกทั้งในกลุ่มตัวอย่างการสำรวจ 1,200 คน ยังพบด้วยว่าประชาชนที่กู้ยืมเงินมาจากนายทุนเงินกู้ เมื่อกู้มาแล้วจะเป็นหนี้เพิ่มขึ้นจากยอดหนี้เริ่มต้นเกือบ 50% ต่างจากผู้ที่กู้จากสถาบันการเงินในระบบที่จะสามารถลดหนี้ลงจากยอดหนี้เริ่มต้นได้ถึง 40-60%
บ่งชี้ว่าลูกหนี้นอกระบบ ยิ่งนานวันยิ่งทุกข์ทนจมกองหนี้ สลัดไม่หลุดง่าย ๆ เกิดเป็นเรื่องเศร้า คนเผาตัวเพราะหนี้ท่วม ก็เคยปรากฏมาแล้ว
คลังวางเกณฑ์ "นาโนไฟแนนซ์"
ล่าสุดได้มีข้อเสนอจากกระทรวงการคลังเพื่อบรรเทาปัญหาหนี้นอกระบบผ่านมาตรการ"สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์" โดย "สมหมาย ภาษี" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า เมื่อ 24 ต.ค.ได้เสนอมาตรการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ให้แก่ "ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล" รองนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วโดยมาตรการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จะมีวงเงินไม่เกิน 100,000-120,000 บาทต่อราย โดยผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตจะต้องจัดตั้งบริษัทสินเชื่อรายย่อย (บย.) สามารถคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ได้ไม่เกิน 36% ต่อปี สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยไมโครไฟแนนซ์ที่ให้คิดไม่เกิน 28% ต่อปี และวงเงินรายละไม่เกิน 200,000 บาท
ส่วนคุณสมบัติผู้ได้รับใบอนุญาต "ขุนคลัง" ยังไม่ได้สรุปว่าผู้ประกอบการที่มาขอใบอนุญาตนาโนไฟแนนซ์ต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำเท่าใด แต่ที่ผ่านมาสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เสนอว่า ต้องมีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 10 ล้านบาท และหลักการคือผู้ประกอบการต้องอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง โดยจะมอบหมายให้คลังจังหวัดรับผิดชอบ รวมทั้งจะให้ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และกรมสรรพากรเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
นอกจากนี้ยังมีแนวคิดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตที่มีรายได้/กำไรจากการให้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์เสียภาษีนิติบุคคลเพียงครึ่งเดียว
"มาตรการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จะเป็น 1 ในมาตรการที่จะดำเนินการเพื่อแก้ความทุกข์ เพิ่มความสุข ให้แก่ประชาชนในเรื่องหนี้นอกระบบ แต่ไม่ใช่มาตรการสำหรับกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ" รมว.คลังกล่าว
ทั้งนี้ ผลศึกษาของ สศค.ระบุว่า มาตรการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์เป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ขอสินเชื่อรายย่อยได้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นโดยมีกลุ่มเป้าหมายกว่า 2.94 ล้านครัวเรือน เป็นครัวเรือนที่ใช้บริการหนี้นอกระบบ 1.6 แสนครัวเรือน ส่วนอีก 1.34 ล้านครัวเรือนเป็นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงบริการทางการเงินใด ๆ
ตัดกำลังนายทุนโขกดอกเบี้ยแพง
"ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย" ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า มาตรการนี้จะช่วยให้คนเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้มากขึ้น แต่จะทำได้เมื่อไหร่ ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอจะประเมินผลได้ชัด โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจประเมินว่า ปัจจุบันหนี้นอกระบบมีจำนวน 2-3 ล้านล้านบาท ถ้าสามารถดำเนินมาตรการให้เกิดขึ้นได้ภายใน 1 ปี คาดว่าจะมีลูกหนี้เข้าถึงสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ได้ประมาณ 3 ล้านคนในปีแรก และน่าจะลดหนี้นอกระบบได้ราว 4-5 แสนล้านบาท
มาตรการนี้น่าจะเป็นการแก้ปัญหาได้ตรงประเด็น เพื่อลดภาระดอกเบี้ยหนี้นอกระบบ และโดยหลักการก็เห็นควรให้เข้าสู่ระบบเครดิตบูโรด้วย
"ต้องรอดูรายละเอียดของมาตรการอีกครั้งว่าการค้ำประกันเงินกู้จะทำอย่างไร จะต้องใช้บุคคลค้ำหรือไม่ แล้วจะมีการปล่อยสินเชื่อได้เร็วแค่ไหน ส่วนนายทุนเงินกู้ที่พร้อมปล่อยกู้จะเป็นบุคคลธรรมดาได้มั้ย หากมีความชัดเจน ท้ายที่สุดแล้ว ก็อาจช่วยตัดทอนนายทุนเงินกู้รายย่อย ๆ ที่มีทุนน้อย ๆ ให้จำต้องลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอาจเก็บสูงถึง 100-200% ได้ด้วย" ดร.ธนวรรธน์กล่าว
"เอดีบี" แนะปิดช่องโหว่เชื่อมฐานข้อมูล
ด้าน "ดร.ลัษมณ อรรถาพิช" เศรษฐกรอาวุโส ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ประจำประเทศไทย กล่าวว่า นาโนไฟแนนซ์เป็นนวัตกรรมของ สศค. แม้จะคิดอัตราดอกเบี้ยสูงถึง 36% ต่อปี แต่ก็เข้าใจได้ เพราะการดำเนินกิจการให้สินเชื่อประเภทนี้มีต้นทุนสูง ผู้ประกอบการก็จำเป็นต้องคิดดอกเบี้ยสูงด้วย อีกทั้งสินเชื่อประเภทนี้ยังเป็นการปลดล็อก ทำให้เกิดผู้ให้บริการสินเชื่อแก่รายย่อยได้หลากหลายและเข้ามาอยู่ในการกำกับดูแลมากขึ้น
ทั้งนี้ จากที่เอดีบีเป็นส่วนหนึ่งของคณะผู้ศึกษาวิจัยเรื่องการพัฒนาระบบการเงินภาคประชาชนให้กับกระทรวงการคลัง พบว่าจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 6,000 ครัวเรือนในประเทศไทย การให้สินเชื่อแก่รายย่อยยังมีช่องว่างของอุปสงค์และอุปทานอยู่มาก
ดร.ลัษมณชี้ว่า ปัจจุบันการให้สินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ที่มีทั้งธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ที่กระทรวงการคลังกำกับดูแล หรือกองทุนต่าง ๆ ที่กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดูแลก็ยังมีช่องว่างในการกำกับและเชื่อมต่อข้อมูล ยังต่อภาพไม่ติดในระหว่างหน่วยงานราชการ ซึ่งหากสามารถพัฒนาตรงจุดนี้ได้ก็น่าจะทำให้การให้สินเชื่อไม่ว่าจะเป็นไมโครไฟแนนซ์ หรือนาโนไฟแนนซ์มีประสิทธิภาพมากขึ้น
"หากภาพใหญ่สามารถลดช่องว่างในการกำกับดูแลของแต่ละหน่วยงาน พร้อมกับเชื่อมโยงข้อมูลให้รู้ว่า คนคนหนึ่งกู้เงินจากกี่แหล่ง มีการเก็บออมในอะไรบ้างได้ ก็น่าจะทำให้มาตรการเหล่านี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น" ดร.ลัษมณกล่าว
"เครดิตบูโร" ชี้เป็นทางเลือก
ส่วนหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่รวบรวมสถานะข้อมูลเครดิตของลูกหนี้ในระบบ"สุรพล โอภาสเสถียร" ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือเครดิตบูโร ให้ความเห็นว่า นาโนไฟแนนซ์เป็นมาตรการที่น่าส่งเสริมและควรสนับสนุน เพราะจะช่วยแก้ปัญหาหนี้นอกระบบที่ทำให้ลูกหนี้จ่ายดอกเบี้ยแพงเกินความสมเหตุสมผล แล้วถ้าทำให้ลูกหนี้นอกระบบสามารถปรับสถานะมีการชำระหนี้ได้สม่ำเสมอจนเป็นลูกหนี้ที่ดีได้ ก็จะเป็นการสร้างโอกาสให้คนกลุ่มนี้มีเครดิต มีความน่าเชื่อถือ และเข้ามาขอสินเชื่อในระบบได้ง่ายขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบกิจการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จะเข้ามาเป็นสมาชิกของเครดิตบูโรหรือไม่ก็ได้ เพราะการเป็นสมาชิกเป็นระบบสมัครใจ แต่หัวใจสำคัญที่ผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อต้องคำนึงถึงคือ 1) รู้จักลูกค้าแค่ไหน รู้วงจรการใช้ชีวิต การหารายได้ กระแสเงินสดของลูกหนี้ขนาดไหน และ 2) มีกระบวนการเรียกเก็บหนี้อย่างมีประสิทธิภาพบนต้นทุนที่ค่อนข้างต่ำหรือไม่
ทั้งหมดนี้ยังเป็นโจทย์ของรัฐบาล "ประยุทธ์ 1" ว่าทำอย่างไรให้มาตรการ "สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์" เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและสัมฤทธิผลในการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบได้จริง
ที่สำคัญต้องไม่ลืมว่า "นาโนไฟแนนซ์" ไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ แต่เป็นเพียงทางเลือกและส่วนประกอบหนึ่งของการแก้ปัญหาเท่านั้น
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 30 ต.ค. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.