นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารกสิกรไทย กล่าวในงานสัมมนาเรื่องภาคการเงินกับการเติบโตที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยว่า ธนาคารพาณิชย์ไม่สามารถให้สินเชื่อไมโครไฟแนนซ์ หรือสินเชื่อที่ปล่อยกู้ให้กับกลุ่มรากหญ้าในต่างจังหวัดได้ เนื่องจากไม่เข้าใจวัฎจักรและเข้าใจชีวิตของกลุ่มคนในชนบท จึงจำเป็นต้องให้เกิดสุญญากาศ ขณะที่ภาครัฐและธนาคารเฉพาะกิจยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้เช่นกัน แม้ว่าจะมีกฎกติกาออกมาแต่ไม่สามารถทำได้ จึงทำให้ภาครัฐต้องเข้าไปอุ้มกลุ่มคนเหล่านี้ไว้ด้วยการช่วยเหลือเป็นครั้งคราว ส่วนการปล่อยสินเชื่อให้กับกลุ่มคนทำงานในเมืองนั้นเป็นเรื่องปกติที่ธนาคารพาณิชย์ได้ดำเนินการอยู่แล้วเป็นปกติ
“บุคคลที่มีความรู้ด้านไมโครไฟแนนซ์ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ทำกิจการค้าพืชไร่ ค้าปุ๋ย ซึ่งคนกลุ่มนี้มีความรู้ชีวิตคนในชนบทเป็นอย่างดี และใช้เงินทุนของตัวเองในการปล่อยกู้ให้กับเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา และไม่ได้ถูกกำกับดูแลจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)”
สำหรับการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี ทำได้ในกรอบที่จำกัด ไม่สามารถปล่อยกู้ได้ทั้งหมด เนื่องจากไม่แน่ใจเกี่ยวกับกระแสเงินสดของธุรกิจว่า หากปล่อยสินเชื่อไปแล้วอีก 1 ปีข้างหน้า ไม่รู้ว่าจะได้รับเงินคืนหรือไม่ ขณะเดียวกันการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ยังถูกตลาดทุนควบคุมอยู่ ทั้งผู้ถือหุ้นและนักวิเคราะห์ ดังนั้นการทำธุรกิจเอสเอ็มอีที่อยู่ได้ต้องทำอะไรที่แตกต่าง ที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ไม่ทำ เพราะถ้าทำเหมือนรายใหญ่เมื่อถึงจุดหนึ่งกลุ่มนี้ต้องรอวันตาย
ส่วนทิศทางเศรษฐกิจไทยปีหน้าเติบโตในระดับ 5% ซึ่งเป็นระดับปานกลาง ตามโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนของรัฐ ส่วนการส่งออกแม้ว่าปรับตัวดีขึ้นแต่การแข่งขันยังมีอยู่สูง ด้านการบริโภคเจอปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน และหากกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตมากกว่านี้ด้วยการอัดฉีดเงินหรือปั๊มเงินเข้าระบบมากเกินไปจะกลายเป็นฟองสบู่ได้
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ได้ทำหนังสือเปิดผนึกให้กับซุปเปอร์บอร์ด และผู้ว่าการธปท. เพื่อเสนอแนวทางในการปฏิรูปธนาคาร เนื่องจากจุดอ่อนของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ คือการทำงานที่ผิดวัตถุประสงค์การก่อตั้งในอดีต เห็นได้จากการแข่งขันปล่อยกู้รายใหญ่กับธนาคารพาณิชย์ เช่น ธนาคารออมสินปล่อยกู้รายละ 1,000 ล้านบาท ขณะที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) หันไปปล่อยกู้โรงสีขนาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นการทำนอกพันธกิจ
“สัดส่วนสินทรัพย์ในปัจจุบันขึ้นมาถึง 24% ของมูลค่าในระบบจาก 20 ปีก่อน ที่แบงค์รัฐมีสัดส่วนเพียง 12% ขณะเดียวกันหากเทียบกับ 10 อันดับของสถาบันการเงินทั้งระบบ พบว่าแบงค์รัฐติดอันดับใหญ่ที่สุดถึง 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารออมสินอยู่ในอันดับที่ 4 ธ.ก.ส. อันดับที่ 6 และธนาคารอาคารสงเคราะห์ อยู่อันดับที่ 9 นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดช่องให้นักการเมืองเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ จนนำไปสู่ผลขาดทุนของแบงค์รัฐในปัจจุบัน”
ด้านนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธปท. ได้รับหนังสือจากนายธีระชัยแล้ว แต่ไม่สามารถลงลึกในรายละเอียดเพราะการปฏิรูประบบธนาคารเฉพาะกิจเตรียมเสนอให้นายสมหมาย ภาษี รมว.การคลัง และม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีพิจารณา
ที่มา : เดลินิวส์ วันที่ 18 ต.ค. 2557