โดย...สิทธิณี ห่วงนาค
นับแต่รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา เร่งคืนความสุขให้ชาวนาโดยการจ่ายเงินชดเชยต้นทุนการปลูกข้าว1,000 บาท/ไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ หรือไม่เกิน1.5 หมื่นบาท/ครัวเรือน ภายใต้กรอบวงเงิน 4 หมื่นล้านบาท ไม่ว่าการแจกเงินครั้งนี้จะมีเหตุผลเพื่อสกัดม็อบชาวนาเข้ากรุงฯ หลังรัฐบาลยกเลิกโครงการแทรกแซงราคาข้าวโดยสิ้นเชิง หรือเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อจากฐานรากในยามเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะฝืดเคืองก็ตาม แต่จะพบว่าการแจกเงินครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาให้ชาวนาในระยะยาวและยั่งยืนแม้แต่น้อย
วรนุช มหิพันธ์ อายุ 42 ปี ชาวนา ต.โพธิ์สามต้นอ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งนั่งตากแดดเฝ้าเครื่องสูบนํ้าที่กำลังสูบนํ้าเข้านาที่แห้งผากกับพ่อและน้องชาย ให้สัมภาษณ์กับ"โพสต์ทูเดย์" ว่า ได้เช่าที่ดินทำนา 48 ไร่ อัตราค่าเช่า 1,000 บาท/ไร่/รอบ และตอนนี้ได้ใช้สิทธิขึ้นทะเบียนขอรับเงินช่วยเหลือ 1,000 บาท/ไร่ เรียบร้อยแล้ว แต่สิ่งที่ชาวนาต้องการมากกว่าเงินที่รัฐบาลแจกคือ ชาวนาอยากให้ราคาข้าวเปลือกเพิ่มขึ้น เพราะข้าวเปลือกรอบที่แล้วขายได้ 6,000 บาท/เกวียนเท่านั้น ส่วนข้าวเปลือกที่เพิ่งเกี่ยวไปรอบนี้ขายได้ราคา
6,700 บาท/เกวียน แต่ต้นทุนปลูกข้าวอยู่ที่ 5,000-6,000 บาท/ไร่
"ตอนนี้ 1 ไร่ ปลูกข้าวได้ไม่เคยถึง 1 เกวียน ได้แค่ 85-90 ถัง ซึ่งเงินที่ขายข้าวบวกกับเงินที่รัฐบาลแจกให้ เมื่อนำไปหักค่าเช่านาและต้นทุนอื่นๆ จะเหลือเงินใช้จ่ายในครัวเรือนไม่มาก ส่วนที่ทหารบอกว่าให้เจ้าของดินลดค่าเช่า 200 บาท/ไร่ เวลาทหารมาเขาก็บอกจะช่วยลดให้ แต่พอทหารกลับก็เหมือนเดิม แต่เราก็ต้องยอม ยอมง้อเจ้าของที่ดิน เพราะถ้าไม่ยอม เดี๋ยวไม่มีที่ดินทำนาก็จะลำบากกันทั้งบ้าน" วรนุช กล่าว
วรนุช เล่าอีกว่า ต้นทุนการปลูกข้าวนับวันมีแต่จะสูงขึ้น อย่างการสูบนํ้าเข้านา 20 ไร่ จะต้องเสียค่าสูบนํ้าวันละ 1,000 บาท ใช้เวลาสูบ 3 วัน และกว่าจะเกี่ยวข้าวได้ต้องสูบนํ้าประมาณ 5 รอบ ค่าใช้จ่ายตกหลายหมื่นบาท ยิ่งตอนนี้กรมชลประทานงดปล่อยนํ้าแล้วบอกให้ไปปลูกผัก ปลูกถั่วเขียว ตรงนี้ก็ต้องคิดกันหลายรอบ เพราะไม่รู้ว่าปลูกแล้วจะขายให้ใคร ชาวนาส่วนใหญ่จึงยอมเสี่ยงที่จะลงทุนทำนาต่อไป
ด้าน จำนง มหิพันธ์ อายุ 68 ปี บิดาของวรนุชเล่าเพิ่มเติมว่า เงินที่ได้จากการขายข้าวรอบนี้ หลังหักค่าหนี้ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) แล้ว เหลือเงินกลับบ้านไม่ถึง 3 หมื่นบาท/การทำนา 1 รอบ ส่วนเงินที่รัฐบาลให้มา 1.5 หมื่นบาท คงเพียงพอที่จะเก็บไว้ซื้อข้าวซื้อนํ้ากินเท่านั้นไม่สามารถนำไปจ่ายหนี้ที่ค้างกับ ธ.ก.ส.ได้เลย
"ฉันไม่ได้ดูถูกเงินนะ แต่ที่ให้มาใช้หนี้ ธ.ก.ส.ยังไม่ได้เลย เก็บเอาไว้ซื้อนํ้าซื้อข้าวกินเท่านั้น แต่สิ่งที่รัฐควรช่วยคือการไปรับซื้อข้าวจากชาวนาเกวียนละ 1 หมื่นบาท เพราะจะช่วยชาวนาได้ทุกรายและทุกคนจะได้มีเงินเหลือบ้าง" จำนง กล่าว
ขณะที่ชาวนาตัวจริงอีกคนหนึ่งอย่าง ชาญ โตสัมฤทธิ์ อายุ 50 ปี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 8 ต.นาคูชาวนา ต.ผักไห่ อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา พูดเสียงดังฟังชัดว่า เงินที่รัฐบาลให้ไร่ละ 1,000 บาทคงไม่มีใครไม่เอา แต่สิ่งที่ทำให้ชาวนาเดือดร้อนในขณะนี้ คือ ราคาข้าวเปลือกที่ตกตํ่าต่อเนื่อง ส่วนเงินที่ได้มาจะช่วยได้ในระยะสั้น
"เหมือนเติมนํ้าลงทะเลทราย เพราะชาวนาเงินหายจากมือไปเยอะ แถมต้องควักเนื้อทำนากันอีก มันเหมือนชาวนาต้องกู้เงินมาปลูกข้าวเลี้ยงคน อย่างครอบครัวผมทำนา 15 ไร่ ที่นาต้องเช่าทั้งหมดเพราะที่ดินส่วนใหญ่อยู่กับนายทุนหมดแล้ว ต่างคนก็ต่างไปเช่านาทำกินกันไป และแม้ว่านาปรังปีนี้กรมชลประทานจะไม่ปล่อยนํ้า แต่ชาวนาส่วนมากยังเดินหน้าทำนา ยอมเสียค่านํ้ามันสูบนํ้าเข้านา ผมก็เข้าใจหัวอกเขานะว่า ที่จะต้องกู้เงินแสนแพง ทั้งที่ราคาข้าวแสนถูก เพราะเขาไม่รู้จะทำอะไร ยอมเสี่ยงกันทั้งนั้น"
สำหรับชาวนาในจังหวัดใกล้เคียง เช่น สายใจ นิลแสวง อายุ 38 ปี ชาวนา อ.เมือง จ.สุพรรณบุรีเล่าว่า วันนี้เธอมาคุมรถเกี่ยวข้าวและเธอเป็นอีกคนที่เช่าที่ดิน 38 ไร่เพื่อทำนา รวมทั้งได้สิทธิได้รับเงินช่วยเหลือ 1.5 หมื่นบาทเหมือนกัน แต่เงินที่ได้รับแจกมาไม่น่าจะเพียงพอกับเงินที่ลงทุนปลูกข้าวในรอบนี้ เพราะปีนี้เกิดปัญหาภัยแล้ง ทำให้ต้องสูบนํ้าเข้านา เสียค่าใช้จ่ายวันละ 2,000 บาท ยิ่งทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าการทำนารอบนี้จะมีเงินเหลือกลับบ้านไม่ถึง 5 หมื่นบาท แต่ต้องใช้เป็นค่าใช้จ่ายในบ้านเกือบทั้งปี
นี่คือเสียงสะท้อนจากใจชาวนาตัวจริงถึง พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ที่มา : โพสต์ทูเดย์ วันที่ 23 ต.ค. 2557