กรมบังคับคดีดันขายทรัพย์สินทอดตลาดกว่า9.8หมื่นล. ดึงเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ3.4หมื่นล. ปีหน้าตั้งเป้าแสนล้าน
น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี แถลงผลการผลักดันทรัพย์สินออกจากระบบบังคับคดีในปี 2557 ว่าสามารถผลักดันทรัพย์ได้มูลค่ากว่า 98,000 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงเป้าหมายที่ตั้งไว้ 100,000 ล้านบาท ซึ่งทรัพย์สินที่ผลักดันออกไปคิดเป็นราคาที่ขายทรัพย์ได้กว่า 34,000 ล้านบาท โดยมีข้อน่าสังเกตในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีศักยภาพผลักดันทรัพย์ได้เกินเป้าหมาย เช่น นราธิวาส ผลักดันได้ 205% ยะลา 182% และอ.เบตง 165% ปัจจุบัน มีทรัพย์ที่รอขายทอดตลาดมูลค่ากว่า 223,000 ล้านบาท กว่า 163,000 รายการ แบ่งเป็นที่ดินกว่า 82,000 ล้านบาท ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างกว่า 78,000 ล้านบาท และห้องชุดกว่า 62,000 ล้านบาท สำหรับการสะสางคดีดำเนินการแล้วเสร็จกว่า 183,000 เรื่อง แบ่งเป็น บังคับคดีแพ่งกว่า 150,000 เรื่อง คดีล้มละลายกว่า 30,000 คดี คดีฟื้นฟูกิจการลูกหนี้กว่า 1,000 เรื่อง ที่เหลือเป็นกรณีวางทรัพย์กว่า 1,000 เรื่อง
อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณ 2558 ยังคงตั้งเป้าหมายผลักดันทรัพย์ให้ได้ 100,000 ล้านบาทเช่นเดิม แต่จะเน้นการสะสางคดีเก่าที่มีความซับซ้อน โดยตรวจสอบพบว่ามีคดีค้างเก่าจำนวนมาก หลายคดีไม่สามารถขายทรัพย์ได้เพราะปัญหาสภาพทรัพย์ เช่น เป็นที่ตาบอด ยกตัวอย่างในพื้นที่อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ตรวจสอบแล้วเกิดจากการนำโฉนดที่ดินไปวางทรัพย์ยื่นเป็นหลักประกันคดีอาญา เมื่อจำเลยหลบหนีจึงถูกบังคับคดียึดที่ดิน แต่ทรัพย์เหล่านี้เป็นทรัพย์ที่ไม่เหมาะกับการอยู่อาศัยหรือเป็นที่ตาบอด เดิมกำหนดราคาทรัพย์ที่ตารางวาละ 500 บาท แม้ลดลงตารางวาละ 300 บาท ก็ยังขายไม่ได้ จำเป็นต้องหากลยุทธ์อื่นเพิ่ม ขณะที่จังหวัดท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต และสมุย ส่วนใหญ่ทรัพย์คือโรงแรม รีสอร์ทขนาดใหญ่ มีทุนทรัพย์สูง และปลูกทับที่ดินหลายแปลงกลายเป็นการโต้แย้งประเด็นกรรมสิทธิ์ ทำให้เปิดขายตลาดไม่ได้ อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลบางพื้นที่เริ่มผลักทรัพย์ได้คล่องขึ้น เช่น จ.บุรีรัมย์ มีกรณีบุรีรัมย์พลาซ่า คดีค้างนานกว่า 20 ปี มูลค่าทรัพย์สูงกว่า 300 ล้านบาท ที่ผ่านมายังขายไม่ได้เพราะจำเลยร้องคัดค้าน แต่ล่าสุดมีผู้สนใจซื้อคาดว่าจะผลักดันทรัพย์ออกได้ในปี 58
อธิบดีกรมบังคับคดี กล่าวถึง เป้าหมายนโยบายเร่งด่วนระยะ 3 เดือน(ต.ค-ธ.ค) ว่าวางไว้ 6 เป้าหมาย 9 วิธีการ โดยเป้าหมายเช่น เร่งผลักดันทรัพย์สินออกจากระบบบังคับคดี ลดสถิติการบังคับคดี การใช้โทษปรับคดียาเสพติด และการแก้ไขกฏหมายเพิ่มเติม โดยภายในเดือนต.ค.นี้ จะเสนอรมว.ยุติธรรม พิจารณาร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมป.วิ.แพ่ง (ร่างมาตรา 309 จัตวา) เรื่อง การยกเว้นไม่นำเรื่องค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ค้างชำระต่อนิติบุคคลอาคารชุดมาบังคับใช้กับผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด หลังเกิดปัญหาขายทอดตลาดห้องชุดชะลอตัวเพราะผู้ซื้อใหม่ไม่ต้องการรับภาระค่าใช้จ่ายส่วนกลางที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อ นอกจากนี้ยังจะทำหนังสือถึงผอ.กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.)ให้ร่วมทำการไกล่เกลี่ยหนี้ค้างชำระเพื่อขยายระยะเวลาชำระหนี้ให้นานขึ้น เพราะเชื่อว่าลูกหนี้กยศ.ส่วนใหญ่ไม่มีเจตนาเบี้ยวหนี้
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 21 พ.ย. 2557