ถกทิศทางภาคเกษตรไทย ‘ศ.อัมมาร’ แนะเพิ่มความรู้เกษตรกร จี้รัฐบาลหนุนพัฒนางานวิจัยตอบโจทย์ภาพรวม ระบุช่วงราคาสินค้าเกษตรดี รัฐไม่เคยเตือนให้ออมเงินเพิ่มศักยภาพ หรือระวังความผันผวนอนาคต ‘เจน นำชัยศิริ’ เผยต้องสร้างอ่างเก็บน้ำ-ขุดบ่อบาดาลเพิ่ม
วันที่ 16 ตุลาคม 2557 สถาบันคลังสมองของชาติ ร่วมกับสำนักงานกองทนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดสัมมนา ‘ทิศทางเกษตรไทย ประสานพลัง (วิจัย) เพื่ออนาคต’ ณ โรงแรม รามาการ์เด้น กรุงเทพฯ
ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า เวลานี้ไทยปล่อยปละละเลยเรื่องนโยบายภาคเกษตรมาก โดยเฉพาะโจทย์ความพยายามเพิ่มพูนความรู้และศักยภาพโดยรวม เพื่อให้อยู่รอดภายใต้ภาวะเศรษฐกิจของโลก ซึ่งเมื่อลงลึกถึงการวิจัยพบมีการลงทุนสูง แต่ในแง่นโยบายยังไม่เห็นผลทันตา มีการสร้างนักวิจัยและชิ้นงานออกมาล่าช้า รัฐบาลจึงควรสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยให้มีผลต่อภาคเกษตรกรรมครอบคลุมคนทุกกลุ่ม มิใช่ให้ประโยชน์แก่เกษตรกรรายย่อยเท่านั้น
“นักการเมืองจะมองเกษตรกรไทยยากจน จึงต้องพยายามแก้ปัญหาดังกล่าวก่อน ซึ่งวิธีการปรับขึ้นราคาผลผลิตนั้นถือเป็นการลดศักยภาพของภาคเกษตร” นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าว และว่าหากจะเพิ่มศักยภาพไม่ควรเติมเต็มให้ราคาเหมือนเดิม เพราะอนาคตจะต้านทานไว้ไม่ไหว
ศ.ดร.อัมมาร ยังตั้งข้อสังเกตว่า มีการใช้งบประมาณผลักดันราคาผลผลิตให้สูงขึ้นหลายสิบเท่าของเงินที่ใช้วิจัย ทั้งที่ผลตอบแทนจากการวิจัยดีกว่ามาก เพราะในที่สุดศักยภาพของภาคเกษตรจะยั่งยืนและดีกับสิ่งแวดล้อมกว่า ดังนั้น จึงควรเร่งให้ความสำคัญกับเรื่องศักยภาพ
“ผลผลิตทางการเกษตรมีราคาสูงถือเป็นสิ่งที่ดีสำหรับเกษตรกร แต่ที่ผ่านมาไม่เคยเตือนกันว่าราคาดังกล่าวมีโอกาสผันผวนได้ ฉะนั้นช่วงที่ผลผลิตมีราคาสูงควรส่งเสริมเก็บออมเงินไว้หรือนำไปลงทุนเพื่อเพิ่มเติมศักยภาพ” นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าว และว่า นโยบายจัดโซนนิ่งเกษตรจะเกิดผลได้มีสิ่งเดียว คือ การใช้น้ำ ซึ่งความจริงแล้วรัฐบาลได้ดำเนินการกลาย ๆ แล้ว ดังกรณีห้ามชาวนาปลูกข้าวเป็นระยะเวลา 6 เดือน
ส่วนประเด็นจ้างชาวนาที่ยากจนเลิกทำนานั้น ศ.ดร.อัมมาร ระบุว่า เกษตรกรยากจนมักยึดอาชีพทำนายามบั้นปลายชีวิต และอาศัยรายได้ส่วนหนึ่งจากลูกหลาน ซึ่งการทำนาอยู่ก็เพียงเพื่อไม่ให้สมองเสื่อม ทั้งนี้ ต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียด เพราะบางครั้งคนยากจนเหล่านี้ไม่ได้ยึดอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก
ด้านนายเจน นำชัยศิริ รองประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า น้ำเป็นความยั่งยืนของประเทศ หากเกิดปัญหาจะนำมาสู่วิกฤติอาหารด้วยซ้ำไป ฉะนั้นการจะพัฒนาจุดยืนให้มีการผลิตอาหารเพียงพอ ประชากรเข้าถึง มีการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสม และรักษาเสถียรภาพการผลิตอาหารอย่างยั่งยืนได้นั้น การบูรณาการใช้น้ำเป็นสิ่งจำเป็น จึงเสนอให้สร้างอ่างเก็บน้ำในปริมาณที่เพียงพอและขุดบ่อน้ำบาดาลนำมาใช้อีกทางหนึ่ง จะเกิดประโยชน์มาก โดยเฉพาะภาคตะวันออกของไทย
นอกจากนี้ยังมีแนวคิดเกี่ยวกับการปิดกั้นทะเลเพื่อสร้างอ่าวน้ำจืด โดยมองยังอ่าวตัว ก ซึ่งแน่นอนว่าอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้ ฉะนั้นการจะดำเนินการจริงต้องศึกษาเพิ่มเติมอย่างรอบคอบ และเปิดการประชาพิจารณ์ หากพบข้อดีมากกว่าเสียก็ควรต้องทำ
ขณะที่นายวิชัย อัศรัสกร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ภาคธุรกิจมักให้ความสำคัญกับห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ยาวมาก โดยมุ่งต่อยอดพัฒนาผลผลิตจากอาหารสู่สินค้าประเภทอื่น เช่น ไฟฟ้า พลังงาน เครื่องสำอาง ซึ่งการเพิ่มมูลค่าผลผลิตในอุตสาหกรรมจะสามารถแบ่งปันรายได้แก่เกษตรกรได้
ทั้งนี้ การจะนำลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความยั่งยืนนั้น อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์หลัก ๆ คือ มุ่งพัฒนาข้าวและชาวนาภายใต้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยนำชาวนาที่ประสบความสำเร็จมาเป็นต้นแบบการพัฒนา สร้างเขตเกษตรเศรษฐกิจทางเลือก เพื่อเป็นมาตรการใช้หลักการตลาดนำ มีภาคเอกชนเข้ามาเป็นส่วนร่วม
นายวิชัย กล่าวด้วยว่า ควรวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ข้าวและตลาดข้าวไทย โดยต้องให้ข้าวเป็นสินค้าปลอดการเมือง ด้วยการส่งเสริมกลไกตลาดการค้าเสรี เพราะทุกวันนี้พังเพราะเราไม่มียุทธศาสตร์มาพูดคุยกัน มีแต่การเมืองคอยแทรกแซงงบประมาณ บิดเบี้ยวกลไกตลาด และขาดการวิจัยพัฒนาสายพันธุ์ข้าว .
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 16 ต.ค. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.