Future is ours ประจำวันที่ 8 ตุลาคม 2557 เสนอสกู๊ปพิเศษชุด "แผ่นดินไทย แผ่นดินใคร" เป็นตอนที่ 3 ว่าด้วยสถานการณ์ที่ดินในประเทศไทย ซึ่งส่งผลกระทบไม่เพียงในภาคชนบทเท่านั้น แต่ยังสร้างปัญหามากมายในเมืองใหญ่
จำนวนประชากรในกรุงเทพมหานครฯ มีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมตั้งแต่ทศวรรษ 2500 ส่วนใหญ่ เป็นผลพวงมาจากการย้ายถิ่นฐาน เมื่อการขยายตัวของประชากรในชนบท ไม่เพียงพอต่อปริมาณที่ดินที่มีอยู่ในปัจจุบัน
การสำรวจล่าสุดโดยนักวิจัยหลาย สำนัก ชี้ให้เห็นว่าที่ดินกว่าร้อยละ 61 ที่เอกชนถือครองทั่วประเทศ อยู่ในมือของคนเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น โดยบุคคลธรรมดา ที่มีที่ดินมากที่สุด อยู่ถึง 6 แสนไร่ ในขณะที่ประชากรกว่าร้อยละ 80 หรือคนส่วนใหญ่ ถือครองที่ดินอยู่ไม่เกินคนละ 5 ไร่เท่านั้น การกระจุกตัวของที่ดินส่วนใหญ่ ในมือของคนส่วนน้อยเช่นนี้เอง ที่เป็นสาเหตุของปัญหา ไร้ที่ดินทำกินของประชากร นำมาสู่การบุกรุก การย้ายถิ่นฐาน การกระจุกตัวของประชากร และความยากจนในเมืองใหญ่หลายแห่ง
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทย มีความพยายามผลักดันการปฏิรูปที่ดินอยู่หลายครั้ง แต่ส่วนใหญ่ ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ปัญหาสำคัญ คือภาครัฐ จะหาที่ดินจากไหนมาให้แก่ราษฎรผู้ไม่มีที่ดิน เมื่อที่ดินส่วนใหญ่ในประเทศ ล้วนแต่มีเจ้าของหมดแล้ว
ประเด็นสำคัญ จึงอยู่ที่การสร้างแรงจูงใจในทางอ้อม ในทางนโยบาย ให้มีการกระจายที่ดินโดยตัวผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินเอง ซึ่งดูจะเป็นหนทางที่ทำให้บัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่นที่สุดแล้ว
แต่ก็เป็นที่รู้กันดี ว่าบรรดาผู้มั่งมีชาวไทยทั้งหลาย ล้วนแต่มีประสบการณ์ที่ช่ำชอง ในการหลบเลี่ยงช่องทางๆกฎหมายต่างๆ เพื่อรักษาผลประโยชน์สูงสุดของพวกเขาเอาไว้ นี่คือสิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายในปัจจุบัน จำเป็นต้องพิเคราะห์ให้หนัก ว่าจะทำให้มาตรการเหล่านี้ เอาพวกเขาอยู่ได้อย่างไร
ที่มา : Voice TV วันที่ 8 ต.ค. 2557