ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมเกี่ยวข้องกับปัญหาหลายรูปแบบ ปัญหาที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงมากที่สุดเรื่องหนึ่งเป็นปัญหาความไม่เท่าเทียมกันของคนในสังคม หลายปีที่ผ่านมามีการตีพิมพ์งานเขียนทางวิชาการประเด็นนี้อย่างต่อเนื่อง
งานวิชาการเล่มล่าสุดที่นำเสนอการศึกษาปัญหานี้ได้อย่างน่าสนใจคือหนังสือ "สู่สังคมไทยเสมอหน้า" นำผลงานวิจัยจากนักวิชาการคุณภาพ 13 ท่านซึ่งเป็นงานวิจัยในโครงการทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย, สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา และจุฬาลงกรณ์วิทยาลัย โดยที่หนังสือเล่มนี้มีศาสตราจารย์ ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร เป็นบรรณาธิการ
ดร.ผาสุก แสดงความคิดเห็นถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมกันในไทยว่า การที่สังคมตระหนักถึงความไม่เท่าเทียม ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความขัดแย้งในสังคมที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งดร.ผาสุก ระบุว่า ความไม่เท่าเทียมในด้านการครอบครองทรัพย์สิน ถือเป็นหนึ่งในต้นตอที่สำคัญของปัญหาความไม่เท่าเทียม
"ถ้าเราแบ่งคนออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ 20 เปอร์เซ็นต์ นับจากกลุ่มที่มีที่ดินมากที่สุดไปจนถึงกลุ่มที่มีที่ดินน้อยที่สุด เราได้ข้อมูลว่าขณะนี้เมืองไทยความต่างระหว่างคนที่มีที่ดินมากที่สุดกับคนที่มีที่ดินน้อยที่สุดต่างกันถึง325เท่า" อ.ผาสุก กล่าว
ดร.ผาสุก มองว่า แนวทางการแก้ไขปัญหามีหลายวิธีซึ่งจากข้อมูลในหนังสือเล่มนี้มองไปที่การจัดระบบภาษี เพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายของรัฐบาลเพื่อสร้างสินค้าและบริการสาธารณะที่ส่งผลกับทุกคนอย่างเท่าเทียม ซึ่งอาจารย์ผาสุก ยังมองว่า มาตรการจัดเก็บภาษีมีความสำคัญแต่อีกด้านการนำภาษีไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไปด้วย
"ถ้าหากระบบเศรษฐกิจมีภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราสูงแต่ไม่มีภาษีทรัพย์สินหรือภาษีมรดก หรือภาษีที่ดินที่จะมาคานกัน เราก็จะมีระบบภาษีที่ถดถอย เป็นภาระของคนรายได้น้อย คือคนรายได้น้อยเสียภาษีไปสร้างสินค้าและบริการสาธารณะให้คนรวยได้ประโยชน์"
การแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันเป็นเป้าหมายของหลายรัฐบาลทั่วโลกซึ่งการจะไปถึงจุดนั้นได้ต้องอาศัยข้อมูลและการศึกษาเป็นฐานเพื่อให้เห็นภาพของสังคมที่แตกต่างจากมุมมองเดิมๆซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทสังคม
ที่มา : มติชน วันที่ 10 ต.ค. 2557
ดูคลิปวีดีโอประกอบข่าวได้ที่ลิ