ความคืบหน้ากรณีนโยบายการจ้างชาวนาให้เลิกผลิตข้าวนั้น ล่าสุดมีผลสรุปออกมาแล้วว่าจะใช้เงินจ่ายให้ชาวนาไร่ละ 9,000 บาท โดยทยอยจ่ายภายใน 3 ปี โดยหวังว่าจะสามารถลดพื้นที่ปลูกข้าวได้กว่า 10 ล้านไร่
นายอภิชาติ พงษ์ศรีหดุลชัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ ตัวแทนโรงสี สมาคม อ้อยและน้ำตาล และ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ว่า ขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้คิดตัวเลขของเงินช่วยเหลือสำหรับการปรับเปลี่ยน อาชีพ ปลูกข้าวไว้แล้ว โดยคิดจากการช่วยเหลือปัจจัยการผลิต ต้นทุน ผลตอบแทน ค่าใช้จ่าย ของการประกอบการชีพ แต่ต้องหารือกันอีกครั้งเพื่อให้ได้ตัวเลขและวงเงินที่ชัดเจนก่อน เสนอ ครม.เป็นการช่วยเหลือภาคเกษตรแบบถาวร เมื่ออุดหนุนในช่วงเปลี่ยนอาชีพได้แล้ว ต่อไปรัฐบาลก็ไม่ต้องอุดหนุนชาวนา เพราะชาวนาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้
ด้านนายโอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่าเบื้องต้น กรมกำหนดมาตรการช่วยเหลือปัจจัยการผลิตชาวนารายย่อย ในช่วงปรับเปลี่ยนอาชีพ 3 ปี ในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ตามพื้นที่โซนนิ่ง ที่กระทรวงเกษตรฯกำหนดไว้ โดย ปีแรกจะจ่ายให้ชาวนา ที่ต้องการเปลี่ยนอาชีพแบบสมัครใจของเกษตรกรรายย่อยโดยในปีแรก ช่วยเหลือไร่ละ 5,000 บาท ปีที่ 2 วงเงิน 3,000 บาท และปีที่ 3 วงเงิน 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 5 ไร่
ทั้งนี้ แหล่งข่าวจากอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า โครงการปรับโครงสร้างการผลิตข้าวและยางพาราจะใช้เงินกว่า 1.3 แสนล้านบาท โดยก่อนที่จะดำเนินโครงการปรับโครงสร้างภาคเกษตรเพื่อกำหนดพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมนั้น จะต้องมีการจัดเวทีให้เกษตรกรเข้าร่วมโครงการ โดยเป้าหมายของโครงการดังกล่าวมีขึ้นเพื่อปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ เพื่อให้เกิดสมดุลระหว่างอุปสงค์กับอุปทาน ของสินค้าเกษตร และเกษตรกรสามารถที่จะผลิตผลผลิตที่มีคุณภาพสามารถแข่งขันได้กับต่าง ประเทศและเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น
สำหรับเป้าหมายของนโยบายดังกล่าว คือ เกษตรกร ผู้ปลูกข้าวและยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กรมส่งเสริมการเกษตร จำแนกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ เกษตรกรรายย่อยผู้ปลูก ข้าวและยางพารา ประมาณ 2.49 ล้านครัวเรือน และเกษตรกรขนาดกลางและขนาดใหญ่ หรือมากกว่า 15 ไร่ต่อครัวเรือน ในพื้นที่ไม่เหมาะสม ประมาณ 685,265 ครัวเรือน พื้นที่ 11.22 ล้านไร่ พื้นที่เป้าหมาย ให้ลดพื้นที่การปลูกข้างลง 10 ล้านไร่ ในจำนวนนี้มีพื้นที่นาไม่เหมาะสม 7 ล้านไร่และพื้นที่ปลูกข้าวเกษตรกรรายย่อย 3 ล้านไร่ หลัง เสร็จโครงการจะต้องมีพื้นที่ไร่นาสวนผสมเพื่มขึ้น 12 ล้านไร่ และพื้นที่ปลูกอ้อย 4.6 ล้านไร่ มันสำปะหลัง 2 ล้านไร่ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 5 แสนไร่
ที่มา : มติชน วันที่ 10 ต.ค. 2557