รัฐบาลเตรียมปรับโครงสร้างการผลิตข้าวและยางพาราครั้งใหญ่ โดยการดูแลคุณภาพชีวิตและจ้างเกษตรกรให้เปลี่ยนอาชีพ เบื้องต้นตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะต้องเห็นผลเป็นรูปธรรมใน 3 ปี
นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์ เปิดเผยว่าภายในเดือนตุลาคมนี้ จะมีการเสนอปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตร คือข้าวและยางพารา ในระยะเวลา 3 ปี เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณา ซึ่งถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ต้องการปรับผลผลิตด้านการเกษตรให้ใกล้เคียงการบริโภคมากขึ้น
ด้ายนายอภิชาติ พงษ์ศรีอดุลย์ชัย ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ กล่าวว่า การดำเนินการตามแผนปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตร จะใช้การทำโซนนิ่งพื้นที่ปลูกพืชเป็นเครื่องมือ เพื่อกำหนดพื้นที่เหมาะสม โดยรัฐบาลจะต้องเร่งดำเนินการออกกฎหมายพัฒนาภาคการเกษตรที่จะเป็นพ ระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) นำเงินงบประมาณแผ่นดิน ประมาณ 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ภาคการเกษตร และอุตสาหกรรมการเกษตร ที่ขณะนี้มีมูลค่าประมาณ 13% ของจีดีพีรวมหรือประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้ เพื่อการดำเนินการการช่วยเหลือเกษตรกรช่วงวิกฤตภัยธรรมชาติ การดูแลคุณภาพชีวิตของเกษตรกร และการปรับโครงสร้างโดยให้เกษตรกรเปลี่ยนอาชีพจากอาชีพหนึ่งไปทำอีกอาชีพ โดยให้เงินเป็นแรงจูงใจในการเปลี่ยนอาชีพ หากเกษตรกรให้ความร่วมมือ ก็จะทำให้ผลผลิตไม่ล้นตลาด เพียงพอ ให้สินค้าเกษตรหลุดพ้นจากการเป็นสินค้าการเมือง โดยการช่วยเหลือ ก็จะช่วยทั้งเกษตรกรรายย่อยที่ปลูกข้าวไม่เกิน 15ไร่ต่อครัวเรือน มีประมาณ 1.9 ล้านครัวเรือน และปลูกยางไม่เกิน10 ไร่ ต่อครัวเรือนซึ่งมีประมาณ 6 แสนครัวเรือน ทั้งหมดนี้จะใช้เวลาให้เห็นผลเป็นรูปธรรมภายใน 3 ปี เบื้องต้นคาดจะใช้เงิน ประมาณ 1 แสนล้านบาทต่อปี
“ รายย่อยเหล่านี้ปัจจุบันมีรายได้ไม่พอกับค่าครองชีพ ดังนั้นตามแผนปรับโครงสร้างฯจะดูแลให้อยู่อย่างพออยู่พอกิน ตามการประเมินของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ(สศช.) ระบุว่าผู้ปลูกข้าวรายย่อย มีรายได้ขั้นต่ำอยู่ที่รายละ 2,500 บาท หรือเฉลี่ย ครัวเรือนละ 120,000 บาท จึงจะเพียงพอในการครองชีพ ดังนั้นเมื่อกระทรวงเกษตรฯส่งเสริมให้ทำไร่นาสวนผสมจะทำให้ความเป็นอยู่ของเกษตรกรกลุ่มนี้ดีขึ้นและมีโอกาสรวยได้หากมีการบริหารจัดการที่ดี”นายอภิชาติ กล่าว
นายอภิชาติ กล่าวว่า การดูแลในส่วนของข้าว กระทรวงเกษตรฯจะดูแลทางด้านวิชาการ ในขณะที่เกษตรกรจะต้องหาปัจจัยการผลิตและบริหารจัดการกันเอง ทั้งหมดนี้จะต้องเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมใน 3 ปี ส่วนกรณียางพารา ปัจจุบันมีหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว ทั้งสำนักงานกองทุนการทำสวนยาง (ส.ก.ย.)องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.) และสถาบันวิจัยยางที่หน่วยงานเหล่านี้จะต้องขับเคลื่อนกระบวนการปรับโครงสร้างให้เร็วขึ้น
สำหรับเกษตรกรขนาดกลาง และขนาดใหญ่นั้น ในส่วนของยางพาราให้อยู่ในแผนยุทธศาสตร์ยางพารา แต่ข้าวจะหมายถึงเกษตรกรที่มีพื้นที่ปลูกตั้งแต่ 15 ไร่ขึ้นไป มีจำนวน 6.6 แสนครัวเรือน ซึ่งพบว่ามีพื้นที่ไม่เหมาะสมในการเพาะปลูกอยู่รวม 11.2 ล้านไร่ ภายใต้แผนโครงการปรับโครงสร้างฯจะให้การช่วยเหลือเฉพาะ ชาวนาส่วนนี้ เป็นระยะเวลา 3 ปี ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ โดยจะส่งเสริมให้ปลูกอ้อย 4.6 ล้านไร่ มันสำปะหลัง 2 ล้านไร่ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 5 แสนไร่ การปรับเปลี่ยนให้ปลูกพืชดังกล่าว กระทรวงเกษตรฯได้พิจารณาสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแล้ว
ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กระทบกับราคาผลผลิต โดยความต้องการของอ้อยในขณะนี้พบว่าโรงงานอ้อยและน้ำตาลทรายต้องการให้ขยายพื้นที่กว่า 6 ล้านไร่เพื่อป้อนกำลังการผลิตของโรงงานที่เหลือ ในขณะที่มันสำปะหลังนั้น กระทรวงเกษตรฯขยายพื้นที่ผลิต 2 ล้านไร่นั้นจะได้ผลผลิตรวมประมาณใกล้เคียงกับความต้องการเช่นเดียวกับข้าวโพด การขยายพื้นที่ 5 แสนไร่จะได้ผลผลิตเพิ่มขึ้นอีก 3-4 ล้านตัน สมดุลกับความต้องการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ
ที่มา : มติชน วันที่ 6 ต.ค. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.