การลดพื้นที่ปลูกข้าวแม้เป็นสิ่งจำเป็น แต่การเลิกอาชีพชาวนาหรือเกษตรกร คงไม่ใช่เรื่องง่าย...
โดยเฉพาะแผนยุทธศาสตร์แก้ปัญหาราคาข้าว และราคายางตกต่ำของนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มีแนวคิดปรับโครงสร้างเกษตรใหม่ ทั้งการช่วยเหลือในช่วงวิกฤติภัยธรรมชาติ เช่น ภัยแล้ง น้ำท่วม การตั้งงบประมาณดูแลในชีวิตประจำวัน เช่น ส่งเสริมอาชีพอื่นๆ
แต่ประเด็นที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุด เห็นจะเป็นแนวคิดในการช่วยเหลือปรับโครงสร้างการผลิต ปรับเปลี่ยนไปผลิตพืชอื่น หรืออาจให้เงินเพื่อเลิกอาชีพ (ทำนา) โดยขึ้นอยู่กับความสมัครใจของเกษตรกร
ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ให้มุมมองต่อแนวคิดดังกล่าวว่า นโยบายเกษตรกรรม กับนโยบายต่อเกษตรกร รัฐต้องแยกให้ออก
“คุยกับฝ่ายการเมืองทุกคนก็จะบอก มีนโยบายต่อเกษตรกร แต่ไม่มีนโยบายเกษตรกรรม และไม่เคยคิดจะมี ทั้งๆ ที่เรามีนโยบายเกษตรกรรมก็ได้ มีเหตุผลด้วย เพราะที่ผ่านมาเรามีนโยบายอุตสาหกรรม ทั้งๆ ที่เป็นประโยชน์กับนายทุน คนร่ำรวย แต่รัฐบาลก็มีเหตุผลที่จะมีนโยบายอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่ง หรือแม้แต่นโยบายการท่องเที่ยวที่แข็งแกร่ง ซึ่งผู้ได้ประโยชน์ไม่ใช่คนฐานราก”
ดังนั้น ดร.อัมมาร เห็นว่า รัฐบาลควรมีนโยบายเกษตรกรรม ควรมี ควรลงมือลงมือลงไม้ทำให้ภาคเกษตรของไทยแข็งแกร่ง แต่ “ไม่ใช่การไปจ้างให้หยุดผลิต” หากภาคเกษตรแข็งแกร่ง เกษตรกรก็จะไม่เป็นหนี้ และสามารถแข็งขันในตลาดโลกโดยไม่มีหนี้ หรือหากราคาพืชผลทางการเกษตรในตลาดโลกตกต่ำ รัฐก็มีมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรรมชั่วคราว เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบ
“นโยบายต่อเกษตรกร ควรเริ่มต้นจากข้อสังเกตว่า เกษตรกรของไทยยากจน (ไม่ใช่ทั้งหมด) ไม่ต้องเลิกเป็นเกษตรกร ซึ่งทำได้หลายวิธี ลดค่าเช่าที่ดินได้หรือไม่ ก็พยายามกดดันให้เจ้าของที่ดินลดค่าเช่าได้หรือไม่ มีมาตรการเยอะแยะให้ผู้ทำเกษตรกรรมอยู่ได้”
ส่วนการปรับเปลี่ยนจากทำนา ไปปลูกอ้อย ข้าวโพด หรือยางพารา นั้น นักวิชาการเกียรติคุณทีดีอาร์ไอ ย้ำชัดว่า “ทำได้ เชิญเลยไม่ว่าอะไร เพราะเป็นเกษตรกรรมเหมือนกัน เชิญให้เขาทำ แต่อย่าไปโซนนิ่ง เพราะเขาจะรู้ดีว่าจะใช้ที่ดินเพื่อปลูกอะไรดีกว่า”
ขณะที่การเลิกอาชีพทำนา หันไปปลูกพืชชนิดอื่นจะกระทบต่อความมั่นคงทางด้านอาหารหรือไม่นั้น ดร.อัมมาร ให้ข้อมูลตัวเลขการส่งออกข้าวไปต่างประเทศของไทยที่มีมากถึง 45% ของการผลิต หรือเกือบเท่าของการบริโภคภายในประเทศ เพื่อจะบอก ไม่ต้องห่วงเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร โดยเฉพาะพืชอย่างข้าว
“ความมั่นคงสำหรับข้าวที่เราจะมีกินหรือไม่ หากเราเป็นห่วงตั้งแต่เดี๋ยวนี้ ผมไม่รู้ว่า จะซีเรียสไปทำไม ข้าวเป็นพืชที่มีผลกระทบจากดินฟ้าอากาศน้อยมาก ต่างจากข้าวโพด เวลาฝนไม่มาเสียหายที 30-40% ความมั่นคงทางอาหารไม่ควรเป็นประเด็น ข้าวจะไม่เป็นปัญหาสำหรับเมืองไทย อย่างน้อยจนกระทั่งผมตาย”
ขณะเดียวกัน ดร.อัมมาร ชี้ด้วยว่า ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ จะเข้ามาทำโทษคนมีที่ดินอยู่ในมือแล้วปล่อยรกร้างว่างเปล่า ไม่ได้ทำประโยชน์ นี่คือโอกาส การทำเกษตรของไทย
ขณะที่ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า ก่อนที่จะมีการพูดถึง การจ้างให้เลิกทำนา มีโครงการนำหน้ามาก่อนหน้านี้แล้ว เช่น มีการพูดเรื่องการจัดโซนนิ่ง "อ้อย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์ม" แต่ยังไม่พูดเรื่องชาวนา
จากนั้นจึงมีการพูด "เลิกปลูกข้าวปลูกอ้อยดีกว่า ยางราคาตกเลิกปลูกยาง ปลูกปาล์มดีกว่า"
“ผมถามเถอะ คนขายพันธุ์ปาล์มเป็นใคร คนที่ทำแอลกอฮอล์ใหญ่สุดประเทศนี้เป็นใคร และคนที่เป็นเจ้าของโรงงานน้ำตาลใหญ่สุดในประเทศนี้เป็นใคร รวมไปถึงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ คนต้องการมากที่สุดก็มีเพียงรายเดียว อ้อย ปาล์ม กินไปได้หรือไม่ นี่คือโจทย์ที่เราต้องคิด”
รศ.ดร.ณรงค์ มองเห็นเรื่องของการแย่งชิงที่ดิน ประกอบกับแนวคิดการจ้างให้ชาวนาเลิกทำนา สอดรับกันพอดีกับวิถีชีวิตชาวนาที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ เนื่องจากไม่มีลูกหลานสืบทอดอาชีพทำนาแล้ว
“วันนี้จึงเริ่มมีนายหน้าบอกเลิกทำนาเถอะ ทำไปก็ขาดทุน หากชาวนาเลิกทำนา มีคนเยอะที่จะเลิก เพราะทำไปขาดทุนจริงๆ”
พร้อมกับยกตัวอย่างในประเทศญี่ปุ่นที่นโยบายรัฐบาลอย่างไรเสียก็ยังต้องให้มีชาวนาอยู่ ญี่ปุ่นมีการส่งเสริมให้คนนอกไร่นากินข้าวแพงๆ เพื่อให้ชาวนาอยู่ได้ และญี่ปุ่นก็มีนโยบายจะไม่นำเข้าข้าว เพราะมองว่า ข้าวเป็น Food security
“การทำให้คนจำนวนหนึ่งยังผลิตข้าวอยู่ตลอดเวลา จะเป็นหลักประกันความมั่นคงด้านอาหาร แตกต่างจากการคิดแบบธุรกิจขายขาดทุน ถามคุณจะผลิตไหม คนจนไม่มีเงินซื้อข้าวกิน คุณจะแจกไหมล่ะ”รศ.ดร.ณรงค์ ถามกลับ และหยิบยกประสบการณ์จากต่างประเทศมาอธิบายทิ้งท้ายว่า แม้สหรัฐฯ จะเคยมีนโยบายให้ชาวนาเลิกทำนามาก่อนแล้ว แต่สุดท้ายก็เหลือแต่ชาวนารายใหญ่ๆ ใช้เครื่องบินพ่นยาฆ่าแมลง ใช้เครื่องบินหว่านเมล็ดพืช แต่บริบทเมืองไทย ควรนำมาเป็นแบบอย่าง และเหมาะที่สุดทำนาแบบรายย่อย เฉกเช่นประเทศในยุโรป
ที่มา : สำนักข่าวอิศรา วันที่ 28 ก.ย. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.