สังคมเกษตรกรรมในไทยเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ซึ่งแต่ละยุคล้วนมีปัญหาเกิดขึ้นหลายรูปแบบ ปัญหาใหญ่ที่พบมากเป็นอันดับต้นๆคือปัญหาเรื่องที่ดิน มีเกษตรกรจำนวนมากเผชิญภาวะเสี่ยงต่อการสูญเสียที่ดินซึ่งใช้สำหรับทำกิน
ในงานเสวนาการสูญเสียที่ดินของชาวนาภายใต้ระบบสินเชื่อของสถาบันการเงินผศ.ดร.เขมรัฐ เถลิงศรี ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาเศรษฐศาสตร์การเมือง เปิดเผยข้อมูลการศึกษาซึ่งพบว่า เกษตรกรไทยที่ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเองทั้งจากเหตุที่ดินติดจำนอง ต้องเช่าที่ดินเพื่อทำเกษตรมีมากถึงร้อยละ 70 เหตุผลสำคัญที่ทำให้เกษตรกรส่วนหนึ่งต้องสูญเสียที่ดินคือความต้องการปลดหนี้นั่นเอง
แม้ที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆของภาครัฐจะพยายามเข้ามาแก้ไขปัญหาและเกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อกู้ยืมได้ง่ายขึ้น แต่ปัญหาที่แท้จริงกลับไปอยู่ที่ความสามารถในการชำระหนี้และจัดการหนี้ รวมไปถึงกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งต้องยอมรับว่าสถิติรายได้ของเกษตรกรส่วนใหญ่มักมีหนี้สินมากกว่าอัตรารายได้ถึง 9 เท่า
นายทม หิรัญอ่อน เกษตรกรจากอ่างทองเกือบต้องเผชิญหน้ากับการสูญเสียที่ดินแต่ยังสามารถเจรจาตกลงกับธนาคารเพื่อการเกษตรซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้นายทม ยอมรับว่า การแก้ปัญหาหนี้สิน นอกจากจะต้องอาศัยนโยบายแล้ว เกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนตัวเองด้วย
ขณะที่นายสุทิน บรมเจต รองประธานกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สภาทนายความ แสดงความคิดเห็นว่า กฎหมายไทยทุกวันนี้เป็นกฎหมายที่รัฐกับทุนจับมือกันและเอื้อให้กับโครงสร้างส่วนบนแต่ไม่ค่อยเอื้อให้กับโครงสร้างส่วนล่างซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นและข้อมูลจากการศึกษาของดร.เขมรัฐ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า รัฐมีเป้าหมายไม่ชัดเจนในการช่วยเหลือเกษตกรให้รักษาที่ดินจึงทำให้ไม่มีกฎหมายระบุอย่างชัดเจนนักเมื่อเทียบกับแนวทางช่วยเหลือเรื่องหนี้และเกษตรก็ไม่ได้รับการปกป้องมากนักในแง่การบังคับคดี
ทุกวันนี้ยังมีเกษตกรจำนวนไม่น้อยที่ยังต้องแก้ปัญหาหนี้สินเชื่อว่า ทั้งเกษตรกรและภาครัฐต่างต้องปรับแนวคิดและการดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง
ที่มา : มติชน วันที่ 30 ก.ย. 2557