นักวิชาการกะเทาะปัญหาโครงสร้างชาวนาไทย ทำนาแล้วไม่ได้นา ชี้ชาวนาขาดทุน 1 หมื่นบาท/ไร่ เหตุแบกต้นทุนการผลิตสูงถึง 21,000 บาท ม.เกษตร จับมือสสค. เปิดหลักสูตรชาวนามืออาชีพ นำร่องโรงเรียนลูกชาวนา 6 จังหวัด เล็งขยายผลสู่อบต.-ปวส.ภาคการเกษตร
เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม ที่อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จัดเสวนาเรื่อง แนวทางการยกระดับสมรรถนะชาวนาสู่การเป็นมืออาชีพ
ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) กล่าวว่า วิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้นใน 10-20 ปีข้างหน้าคือ เกษตรกรไทยจะไม่เหลืออีกแล้ว ปัจจุบันลูกค้าธกส.ค่าเฉลี่ยอายุอยู่ที่ 55 ปี และอีก 10 ปีข้างหน้า ค่าเฉลี่ยอายุจะอยู่ที่ 65 ปี โดยคนรุ่นใหม่จะไม่หลงเหลือในภาคการเกษตร เพราะการส่งลูกเข้าเรียนในเมือง และมองอาชีพเกษตรกรว่าเหนื่อยยาก ล้าหลัง จึงอยากให้ลูกหลานเปลี่ยนไปสู่อาชีพอื่น วิกฤติเรื่องแรงงานภาคการเกษตรจึงต้องสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพมาทดแทนเพื่อเป็นเกษตรกรมืออาชีพ ซึ่งการสร้างsmart farmer หรือเกษตรกรปราดเปรื่อง ต้องทำให้มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 180,000 บาท/ปี และเป็นการผลิตที่มีคุณภาพ หรือเป็นเกษตรอินทรีย์ โดยการเข้าสู่เกษตรกรมืออาชีพประกอบด้วย การลดต้นทุนทั้งกระบวนการผลิตและต้นทุนชีวิต รู้จักการเพิ่มผลผลิต และการสร้างมาตรฐานเพื่อควบคุมคุณภาพของผลผลิต
รศ.จุฑาทิพย์ ภัทราวาท ผู้อำนวยการสถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะหัวหน้าโครงการจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ชาวนามืออาชีพ กล่าวถึงโครงสร้างปัญหาของชาวนาไทยที่ทำนาแล้วไม่ได้นาว่า ชาวนาไทยกำลังเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทายความอยู่รอด เพราะต้องแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น โดยต้นทุนการผลิตข้าวของชาวนาไทยในพื้นที่ทดลองภาคกลาง สูงถึง 21,355 บาท/ไร่ ประกอบด้วย ค่าแรง 54% ปัจจัยการผลิต 20.4% ค่าใช้ที่ดิน 10.4% อื่นๆ 10.4% ขณะที่รายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 10,400 บาท/ไร่ เท่ากับชาวนาต้องขาดทุนทั้งสิ้น 10,955 บาท/ไร่ ซึ่งผลผลิตข้าวของไทยยังต่ำกว่าผลผลิตเฉลี่ยของโลก โดยผลผลิตของไทยอยู่ที่ 448 กิโลกรัม/ไร่ ขณะที่ประเทศเวียดนามอยู่ที่ 862 กิโลกรัม/ไร่ และผลผลิตเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 680 กิโลกรัม/ไร่ ทำให้ชาวนาไทยเพิ่มผลผลิตด้วยการปลูกข้าวให้มากขึ้นโดยไม่พักนา ส่งผลต่อการขาดแคลนน้ำ ดินเสื่อมโทรม ปัญหาศัตรูข้าว จึงเพิ่มสารเคมีและนำสู่การเพิ่มต้นทุนการผลิตเป็นเงาตามตัว แรงงานภาคเกษตรจึงทยอยขายที่นาเพราะเกิดภาวะหนี้สิน ที่ดินจึงเปลี่ยนมือไปสู่นายทุนรายใหญ่มากขึ้น
“รากของปัญหาโครงสร้างชาวนาไทยจึงมาจาก 3 ปัจจัยสำคัญคือ 1. การแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น 2. การขาดทักษะและความรู้ ทั้งความรู้เท่าทันกลไกตลาด การลดต้นทุนการผลิตและการจัดการ จึงตกเป็นเหยื่อธุรกิจการผลิต การขายปุ๋ยและสารเคมี และ 3. ขาดวิถีชีวิตที่พอเพียงทั้งการส่งลูกเข้าเรียนในเมืองทำให้หมดตัวกับการศึกษา เป็นหนี้เงินกู้จากกับดักเฟอร์นิเจอร์สมัยใหม่ นอกจากนี้ยังถูกกระหน่ำจากปัจจัยภายนอกทั้งการถูกนายทุนผูกขาดกดราคาตลาดทำให้ไม่มีอำนาจต่อรอง กฎหมายที่ไม่เอื้อต่อชาวนารายย่อย นโยบายรัฐที่แก้ปัญหาปลายเหตุโดยไม่แก้ที่ต้นเหตุคือการติดอาวุธทางปัญญาให้กับชาวนาไทย”รศ.จุฑาทิพย์กล่าว
รศ.จุฑาทิพย์ กล่าวว่า ความเสี่ยงของชาวนาไทยคือ การเผชิญกับความไม่รู้และขาดทักษะการทำการเกษตรสมัยใหม่ จึงมีการออกแบบหลักสูตรโรงเรียนลูกชาวนาเพื่อสร้างชาวนามืออาชีพ ประกอบด้วย ความรู้ด้านการประกอบอาชีพ และความรู้ในการดำเนินชีวิต เช่น การวางแผนการผลิตที่ดีเพื่อลดต้นทุนและลดความเสี่ยง การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารเพื่อรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง การผลิตและการจัดการหลังเก็บเกี่ยวที่มีผลต่อคุณภาพและราคา ชาวนายุคใหม่ที่ใส่ใจสุขภาพและสิ่งแวดล้อม การพึ่งพาและร่วมมือกันเพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองโดยนำไปสู่การขายและจำหน่าย ซึ่งหลักสูตรดังกล่าวได้นำไปมอบให้ครูพื้นที่ทดลองหลักสูตรกับชาวนาในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย สิงห์บุรี มหาสารคาม ชุมพร ชัยนาท และพระนครศรีอยุธยา พร้อมกับเตรียมขยายผลการนำหลักสูตรดังกล่าวไปยังอบต. สหกรณ์การเกษตร และภาคเอกชนในการจัดตั้งโรงเรียนลูกชาวนา รวมถึงปวส.ด้านการเกษตร ซึ่งจะมีการปรับปรุงหลักสูตรในเดือนสิงหาคมนี้
ดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ ที่ปรึกษาวิชาการ สสค. กล่าวว่า แนวคิดโรงเรียนลูกชาวนาที่สสค.และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ริเริ่มขึ้นมาจากปัญหาแรงงานภาคการเกษตรกำลังล้มละลายจากภาวะหนี้สิน และสุดท้ายต้องสูญเสียที่ดินทำกิน ซึ่งชาวนาในภาคการเกษตร แม้จะไม่ใช่แรงงานส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ก็มีจำนวนถึง 12 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 3 ของแรงงานทั้งหมด หากไม่เข้าไปดูแลแรงงานกลุ่มนี้ เท่ากับเรากำลังล้มละลายทางเศรษฐกิจ จึงเป็นที่มาของโรงเรียนชาวนามืออาชีพ ในการสร้างนักธุรกิจการเกษตรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ทักษะการผลิต รู้กลไกการตลาดและการจัดการ มีโลกทัศน์ที่พอเพียง โรงเรียนลูกชาวนาจึงมีการทดลองในพื้นที่นำร่อง และคาดว่าจะมีการขยายผลเข้าสู่ระบบการศึกษา การศึกษาทางเลือกและชุมชนท้องถิ่นต่อไป
น.ส.ปัทมาพร แสงตะคร้อ วัย 26 ปี ชาวนาจ.ชัยนาท กล่าวว่า หลังจากเข้าร่วมอบรมโรงเรียนลูกชาวนาทำให้รู้ว่าการทำนาของตนเองและพ่อแม่ก่อนหน้านี้ยิ่งขยันก็ยิ่งจน เพราะต้องแบกรับกับต้นทุนการผลิตทั้งค่าเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี และสารเคมีที่มีราคาแพง เมื่อต้นทุนสูงก็ต้องผลิตให้มากขึ้น แต่ก็ยิ่งใช้สารเคมีที่มากขึ้นตามกัน โดยเฉลี่ยต้นทุนอยู่ที่ 23,000 บาท/ไร่ แต่ขายได้เพียง 13,000 บาทเท่านั้น ในเมื่อทำแล้วขาดทุนแต่ก็ต้องทำเพราะไม่มีทางเลือกอื่น และเมื่อเข้าหลักสูตรโรงเรียนลูกชาวนาจึงได้เรียนรู้ทั้งการลดต้นทุนการผลิต การลด ละ เลิกการใช้สารเคมี ซึ่งมองว่าน่าจะเป็นความต้องการของตลาดมากขึ้นและดีต่อสุขภาพทั้งคนกินและคนผลิต ซึ่งหลังจากจบหลักสูตรก็มีการรวมกลุ่มกันในหมู่บ้านเพื่อทำปุ๋ยหมักชีวภาพ และการรวมกลุ่มกันเพื่อไม่ผ่านคนกลาง
ด.ญ.อมรลักษณ์ คงขิม อายุ 14 ปี โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 2 หนึ่งในเยาวชนที่ร่วมโรงเรียนลูกชาวนา จ.อยุธยา กล่าวว่า สิ่งที่ได้จากโรงเรียนลูกชาวนาคือการเป็นเกษตรกรที่ดี เช่น การใช้ปุ๋ยชีวภาพจากฮอร์โมนไข่ที่ทำจากไข่ นม น้ำตาล ฉีดรอบนาข้าวแทนยาฆ่าแมลง ทำให้ช่วยลดต้นทุนการผลิตและดีต่อสุขภาพทั้งพ่อแม่และผู้บริโภค นอกจากนี้การที่ได้เรียนรู้ร่วมกับเพื่อนที่เป็นลูกชาวนาด้วยกันทำให้เกิดความภาคภูมิใจที่ได้เกิดเป็นลูกชาวนา เพราะถ้าไม่มีชาวนาแล้วคนไทยก็ไม่มีข้าวกิน และในอนาคตก็อยากเป็นชาวนารุ่นใหม่ที่มีการวางแผนการผลิต การแปรรูป และต้องมีการรวมกลุ่มกันเพื่อตั้งสหกรณ์เพื่อมีอำนาจต่อรองจากทุนภายนอก
ที่มา : สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ฯ(สสค.) วันที่ 19 ก.ค. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.