23 ก.ย.57 นางปิ่นแก้ว แก้วสุกใส ผู้ประสานงานเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ราคาข้าวในตลาดตกลงไป 6 - 7 พันบาทต่อตัน ไปขายโรงสีก็โดนหักความชื้นอีก เหลือแค่ 5 - 6 พันบาทต่อตัน รัฐบาลเห็นอย่างนี้แล้วยังไม่เร่งแก้ไข ถามว่าจะให้ชาวนาจะอยู่กันอย่างไร ต้นทุน 4 พันบาทต่อตัน รวมค่าเช่านา ที่ชาวนาจ่ายปีละ 2 ครั้ง ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ มีแต่พูดกับเกษตรกรมาตลอดให้ทำนาครั้งเดียว หรือขาดทุนให้เลิกอาชีพไปทำอย่างอื่น ซึ่งทางกรมต่างๆ ก็ส่งข้าราชการลงไปสอบถามชาวบ้านอย่างนี้ ไปทุกกรมผลัดกันไปแต่ถามคำถามเดียวกันหมด ยังบอกให้นัดมาวันเดียวพร้อมๆ กัน จะได้ไม่ต้องตอบหลายรอบ
ทั้งนี้ ปัญหาหลักของภาคเกษตรคือ ภาคราชการขาดความจริงใจ และนโยบายเกษตรขาดความต่อเนื่อง ที่เป็นต้นเหตุให้เกษตรกรเป็นหนี้สินไม่รู้จบ นโยบายต่างๆ ทำให้พ่อค้าขายต้นพันธุ์ เมล็ดพันธ์ุ ปุ่ย ยา ร่ำรวยขึ้น เพราะหาของให้รัฐบาลแต่ละชุดมาขายให้เกษตรกรได้ตลอด มีรัฐบาลใหม่ก็เปลี่ยนส่งเสริมอาชีพปลูกพืชอื่นอีก ตอนนี้เกษตรกรภาคอีสานเพิ่งเริ่มเปิดพื้นที่ปลูกยางไป 3 ปี ยังกรีดไม่ได้ ลงทุนไร่ละ 4 - 5 หมื่นบาท กู้เงินนอกระบบ กระทรวงเกษตรฯ จะช่วยเขาอย่างไร และในขณะที่นักลงทุนชาวจีน มาเลเซีย ไปตั้งโรงงานรับซื้อกดราคาน้ำยางดิบในพื้นที่ภาคอีสาน และภาคใต้ รัฐจะแก้อย่างไร และทำไมประเทศจีน จึงไปส่งเสริมขยายพื้นที่ปลูกยางในประเทศเพื่อนบ้าน หากราคาตลาดโลกตกต่ำ
ผู้ประสานงานเครือข่ายหนี้สินชาวนา ยังกล่าวว่า นโยบายลดพื้นที่ปลูก ลดจำนวนเกษตรกรนั้น เกษตรกรส่วนใหญ่คงไม่ให้ความร่วมมือ ถามว่าจะให้ชาวนาไปทำอาชีพอะไร ทุกวันนี้แม้ชาวนาเป็นหนี้กันทุกคน แต่ก็มีกินไม่อดตาย หากให้ไปทำอาชีพอื่นอาจจะอดตายได้เพราะไม่ถนัด เกษตรกรเดินเข้าวงจรเดิมเป็นหนี้เพิ่มอีก เพราะต้องกู้เงินส่งลูกเรียน ยังต้องกินใช้อยู่ทุกวัน พืชอื่นปลูกได้แต่มีที่ขายเหมือนข้าวและยางหรือไม่
ที่มา : แนวหน้า วันที่ 23 ก.ย. 2557