ครม. "ประยุทธ์" ยึดคืนที่ดินรัฐ สวนยางรุกป่า 3.3 ล้านไร่ 67 จังหวัดแจ็กพอต
งัดมาตรการเข้ม อยู่เขตลุ่มน้ำชั้น 1-2 ป่าโซน C สั่งโค่นทิ้ง ปลูกยางในที่ดินลุ่มน้ำชั้น 3-4-5 เปิดช่องสหกรณ์-อบต.ใช้ประโยชน์แทนนายทุน แลกส่วนแบ่งรายได้จากการขายน้ำยาง-ไม้ยาง
แหล่งข่าวจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า จากที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า และแก้ไขปัญหาการไร้ที่ดินทำกินของเกษตรกรผู้ยากจน ขณะเดียวกันก็เร่งฟื้นฟูพื้นที่อนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า โดยสานต่อมาตรการปราบปรามหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทั้งการบุกรุกก่อสร้างรีสอร์ต อาคารสิ่งปลูกสร้าง และการถือครองพื้นที่ป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติทำการเกษตรซึ่งช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งเจ้าหน้าที่กรมป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร ฯลฯ ได้ดำเนินมาตรการป้องปรามอย่างเข้มข้นต่อไป
ล่าสุด มาตรการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าปลูกยางพารา ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรี ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ สั่งการให้กรมป่าไม้ในฐานะผู้รับผิดชอบดูแลป่าสงวนแห่งชาติจัดทำขึ้น
ขณะนี้ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว เร็วๆ นี้กระทรวงจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา จากนั้นจะนำไปสู่ขั้นตอนการปฏิบัติเริ่มตั้งแต่ 1 ต.ค. 2557 นี้เป็นต้นไป
ยึดคืนพื้นที่ต้นน้ำ-ป่าโซน C
แนวทางดำเนินการกรณีเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 และ 2 ซึ่งได้แก่ ป่าต้นน้ำลำธาร ป่าต้นน้ำลำธารซึ่งมีความสำคัญในลำดับรองลงมา กับพื้นที่ป่าอนุรักษ์ หรือป่าโซน C หรือพื้นที่อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดิน น้ำ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์หายาก ฯลฯ หากมีการบุกรุกปลูกสร้างสวนยาง รัฐจะยึดพื้นที่คืนโดยจะตัดโค่นยางพาราทั้งหมด จากนั้นจะฟื้นสภาพป่าให้กลับมาเป็นแหล่งต้นน้ำเพื่อป้องกันรักษาสิ่งแวดล้อมให้มีสภาพดังเดิม
แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะที่การบุกรุกปลูกยางพาราในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 3, 4 และ 5 ที่มีความลาดชันต่ำ บางส่วนจะเปิดให้ชุมชน สหกรณ์หมู่บ้าน หรือหน่วยงานปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ อย่างองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) เข้าทำประโยชน์ตามกฎเกณฑ์เงื่อนไขที่กรมป่าไม้กำหนด โดยดำเนินการภายใน พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 รายละเอียดดังนี้
สวนยางพาราที่บุกรุกปลูกในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ชั้น 2 และป่าอนุรักษ์โซน C หากต้นยางมีอายุปลูก 1-3 ปี จะใช้มาตรการตัดโค่นทิ้งทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ปลูกแปลงเล็กหรือแปลงใหญ่ เพื่อปลูกป่าทดแทนฟื้นฟูสภาพแหล่งต้นน้ำ หากต้นยางอายุ 4 ปีขึ้นไป หรือเติบโตพอจะสามารถกรีดน้ำยางได้ จะทยอยตัดต้นยางทั้งหมด แล้วฟื้นฟูสภาพป่าเหมือนกับแนวทางแรก
เปิดช่อง สหกรณ์-อบต. ใช้ประโยชน์
ขณะที่พื้นที่ป่าซึ่งเป็นลุ่มน้ำชั้นที่ 3, 4 และ 5 แบ่งแนวทางดำเนินการ ดังนี้ กรณีเป็นสวนยางที่เพิ่งปลูกสร้างอายุต้นยาง 1-3 ปีจะโค่นทิ้งทั้งหมด หากต้นยางอายุ 3-7 ปี ซึ่งให้ผลผลิตแล้วสามารถกรีดน้ำยางได้จะทยอยตัดโค่น โดยมอบหมายให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) รับผิดชอบในการตัดโค่น แปรรูป รวมทั้งขายไม้ สวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไป สามารถกรีดน้ำยางได้ และขนาดพื้นที่สวนตั้งแต่ 500 ไร่ขึ้นไป ให้ อ.อ.ป.กรีดน้ำยางและตัดโค่น แต่ถ้าขนาดพื้นที่สวนต่ำกว่า 500 ไร่ จะเปิดให้อบต. ชุมชน สหกรณ์หมู่บ้าน เข้าใช้ประโยชน์ โดยดำเนินการในรูปป่าชุมชนหรือป่าใช้สอย
งัดโมเดลแบ่งรายได้รัฐ-ท้องถิ่น
ขณะเดียวกันในส่วนของพื้นที่ปลูกยางที่ให้ อ.อ.ป. เข้าไปดำเนินการ และที่ให้สหกรณ์หมู่บ้านกับ อบต.เข้าใช้ประโยชน์ กรมป่าไม้กำหนดเงื่อนไขแบ่งรายได้จากการขายน้ำยางและไม้ยางพารา แยกเป็น 1.กรณีสหกรณ์หมู่บ้านและอบต.ใช้ประโยชน์ แบ่งรายได้ 20% จากการขายน้ำยางและไม้ยางพาราให้กรมป่าไม้ โดยจะนำไปใช้เป็นเงินกองทุนสำหรับจัดทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และป้องกันรักษาป่า รายได้อีก 20% แบ่งให้สหกรณ์หมู่บ้าน และ อบต.นำไปตั้งเป็นกองทุน เพื่อดำเนินกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้และสิ่งแวดล้อม ส่วนอีก 60% ให้เป็นของผู้ดำเนินการ ซึ่งอาจเป็นกลุ่มชาวบ้าน สหกรณ์ หรือชุมชน
2. กรณี อ.อ.ป.เป็นผู้กรีดน้ำยางและตัดไม้ยางพารา รายได้ 20% ให้กรมป่าไม้ใช้ในกิจกรรมด้านการอนุรักษ์ อีก 80% ให้เป็นรายได้ของ อ.อ.ป.
ชี้กฎหมายให้อำนาจ รมต.ไฟเขียว
ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามที่ระเบียบข้อกฎหมายบัญญัติไว้ ได้แก่ มาตรา 15 แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ ซึ่งกำหนดให้การทำไม้หรือการเก็บหาของป่าในเขตป่าสงวนแห่งชาติทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามระเบียบและวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง กับมาตรา 29 (18) แห่ง พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ ที่ให้อธิบดีกรมป่าไม้สามารถอนุญาตให้บุคคล นิติบุคคล องค์กร ฯลฯ เข้าใช้ประโยชน์ สัมปทาน ในพื้นที่ป่าได้ หากได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรี และดำเนินการตามเงื่อนไขที่รัฐมนตรีกำหนดตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้
สวนยางบุกรุกป่า 3 ล้านไร่
แหล่งข่าวกล่าวว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้รับรายงานจากกรมป่าไม้ว่า ผลการสำรวจพื้นที่ปลูกยางบุกรุกป่า โดยใช้ภาพถ่ายทางอากาศผ่านดาวเทียมเมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา ร่วมกับกรมพัฒนาที่ดิน พบว่ามีผู้บุกรุกปลูกยางในป่าสงวนแห่งชาติทั่วประเทศรวมทั้งหมด 67 จังหวัด คิดเป็นเนื้อที่รวม 3.3 ล้านไร่ ขณะที่ข้อมูลจากการสำรวจของกระทรวงมหาดไทยช่วงปี 2551 ที่ผ่านมา พบว่ามีผู้บุกรุกเข้ายึดครองทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐรวมทั้งสิ้น 6.01 ล้านไร่
ประกอบด้วยบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ 5.8 หมื่นราย เนื้อที่ 1.57 ล้านไร่ รุกอุทยานแห่งชาติ 3.7 หมื่นราย เนื้อที่ 6.04 แสนไร่ บุกรุกที่ดินราชพัสดุของกรมธนารักษ์ 1.96 แสนราย เนื้อที่ 2.18 ล้านไร่ บุกรุกที่สาธารณประโยชน์ 5.5 หมื่นราย เนื้อที่ 1.15 ล้านไร่ และบุกรุกที่ดินประเภทอื่นๆ อาทิ ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.) 2.52 หมื่นราย เนื้อที่ 4.95 แสนไร่
กาญจน์-เพชรบูรณ์-โคราช แชมป์
โดยพื้นที่ที่มีการบุกรุกยึดครองที่ดินของรัฐจำนวนมาก อาทิ จังหวัดกาญจนบุรี 6.8 หมื่นราย 1.08 ล้านไร่ นครราชสีมา 2.08 แสนราย 2.3 แสนไร่ สุราษฎร์ธานี 1.2 หมื่นราย 1.9 แสนไร่ อุดรธานี 1.3 หมื่นราย กว่า 1 แสนไร่ เพชรบูรณ์ 1.6 หมื่นราย 4.5 แสนไร่ ภูเก็ต 2.4 พันราย 2.9 หมื่นไร่ มุกดาหาร 2.1 หมื่นราย 2.3 แสนไร่ ประจวบคีรีขันธ์ 2.7 พันราย 6.9 หมื่นไร่ นครสวรรค์ 1.6 หมื่นราย 1.7 แสนไร่ น่าน 237 ราย 2.5 แสนไร่ สงขลา 9.9 พันราย 1.6 แสนไร่ ระนอง 3.9 พันราย 4.8 หมื่นไร่ ราชบุรี 9.5 พันราย 2.2 แสนไร่ ฉะเชิงเทรา 5.1 พันราย 6.5 หมื่นไร่ เชียงใหม่ 6.7 พันราย 2.5 หมื่นไร่ นครศรีธรรมราช 1.7 หมื่นราย 4.5 แสนไร่ ชัยภูมิ 3.3 พันราย 6.9 หมื่นไร่ กาฬสินธุ์ 3.6 หมื่นราย 3.4 แสนไร่ บุรีรัมย์ 4.2 พันราย 7.1 หมื่นไร่ เป็นต้น
ให้ "สิทธิทำกิน" ชาวบ้านไร้ที่ทำกิน
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า มาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าปลูกยางพาราดังกล่าวดำเนินการตามแนวทางที่ คสช.มีคำสั่งที่ 64/2557 และ 66/2557 เรื่องการปราบปรามและหยุดยั้งการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งพลเรือน ทหาร ตำรวจ ปราบปรามจับกุมนายทุน ผู้มีอิทธิพลที่บุกรุกยึดครองพื้นที่ป่าและที่ดินของรัฐทั่วประเทศ
ขณะเดียวกันในส่วนของราษฎรผู้มีรายได้น้อยและไม่มีที่ดินทำกินจะใช้มาตรการผ่อนปรน โดยแบ่งผู้บุกรุกเป็น 4 กลุ่ม 1.อยู่อาศัยในพื้นที่ป่าก่อนมติ ครม. 30 มิ.ย. 2541 จะให้สิทธิทำกิน (ส.ท.ก.) 2.ราษฎรยากจนไม่มีที่ดินอยู่อาศัยทำกิน อนุญาตให้อยู่อาศัยทำกินต่อไปได้ โดยออกเอกสาร ส.ท.ก.ให้ 3.นายทุนจากพื้นที่อื่นบุกรุกป่า จะขอยึดคืนพื้นที่ หากฝ่าฝืนจะฟ้องร้องดำเนินคดี และ 4.บุคคลทั่วไปที่ฐานะไม่ได้ยากจนหากเข้าอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ป่า 1-10 ปีจะให้ประชาคมในพื้นที่ตัดสินชี้ขาดว่าจะให้อยู่ในพื้นที่ต่อหรือให้ออกจากพื้นที่ที่บุกรุก
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 24 ก.ย. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.