"เกษตรกร"คิดอย่างไร ไอเดีย"จ้างเลิกอาชีพ"
นับเป็นความตั้งใจและความมุ่งมั่นของปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่จะหาแนวทางช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ โดยเฉพาะชาวนาและชาวสวนยางพาราเพื่อให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น โดยเน้นลดพื้นที่เพาะปลูก หันมาเอาใจใส่กับการเพิ่มคุณภาพของผลผลิต
ปีติพงศ์พูดเมื่อไม่กี่วันว่า เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นหนี้มากขึ้น และจะไม่เลือกนโยบายให้เกษตรกรเป็นหนี้สินอีก ที่เป็นปัญหาหนักสุดขณะนี้คือข้าวกับยาง ในเบื้องต้นมีการจัดงบประมาณเพื่อเข้าช่วยเหลือเป็น 3 ส่วน คือ 1.ช่วยเหลือช่วงวิฤกตภัยธรรมชาติ 2.ตั้งงบดูแลในชีวิตประจำวัน ส่งเสริมอาชีพอื่นๆ และ 3.ช่วยเหลือปรับโครงสร้างการผลิตปรับเปลี่ยนไปผลิตพืชอื่น หรืออาจให้เงินเพื่อเลิกอาชีพไปเลย เพราะทำไปก็เป็นหนี้ และรัฐไม่อยากให้เสี่ยงอีก แต่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ
หากยังอยู่ในอาชีพต่อไป ต้องปรับปรุงคุณภาพการผลิตบางส่วน ไอเดียหรือแนวคิดที่ทำเอาใครต่อใครงงว่า จะให้เงินเพื่อเลิกทำไปเลยนั้น จะเป็นไปได้ยังไง หลักการคิดแบบนี้ทางรัฐมนตรีก็บอกอยู่แล้วว่า ทำไปก็เป็นหนี้ รัฐไม่อยากให้เสี่ยงอีก
ลองมาฟังความคิดเห็นของชาวเกษตรกรและนักวิชาการกันดีกว่า
ธวัชชัย เอี่ยมจิตร์ กำนันตำบลธรรมามูลและแกนนำชาวนาอำเภอเมือง จ.ชัยนาท บอกว่า น่าจะทำได้ยาก เกษตรกรแต่ละคนมีความรู้ ทักษะไม่เหมือนกัน คนเคยปลูกข้าวตั้งแต่โตมาจนมีครอบครัวก็ปลูกข้าวมาตลอด จะให้ไปทำอย่างอื่น เช่น ปลูกอ้อย ปลูกมันสำปะหลังหรือถั่วเขียว
"ผมว่าช่วงแรกๆ อาจจะทำได้เรียนรู้ได้ แต่การทำอะไรที่ไม่มีความถนัดจะทำได้ไม่นาน เวลาเจอปัญหาก็จะไม่สามารถใช้ประสบการณ์แก้ไขได้ ในที่สุดก็ขาดทุนแล้วกลับมาทำนาเหมือนเดิม" กำนันธวัชชัยกล่าวอีกว่า พื้นที่นาข้าวเป็นดินเหนียวผ่านการทำนาด้วยปุ๋ยเคมีมาต่อเนื่องยาวนาน สภาพโครงสร้างของดินจึงไม่เหมาะที่จะปลูกพืชชนิดอื่น อย่างถั่วเขียวที่จะได้ผลผลิตดีในดินลักษณะร่วนปนทราย และอ้อยกับมันสำปะหลังก็เช่นกันปลูกในดินนาจะไม่ค่อยได้ผลเรื่องนี้ ชาวนาชาวไร่ต่างรู้ดี กระทรวงจึงควรคิดแก้ปัญหาเรื่องโครงสร้างดินไว้ด้วย หากจะวางนโยบายปรับเปลี่ยนชนิดของการเพาะปลูกให้เหมาะสมกับพื้นที่
วุฒิพงษ์ รัตนมนต์ เจ้าของสวนผลไม้ในอำเภอเขาสมิง จ.ตราด ให้ความเห็นว่า ไม่คัดค้าน เพราะวันนี้เกษตรกรปลูกพืชที่ไม่เหมาะกับความต้องการของตลาด เช่น ต้นยางพารามีมากจนเกินความต้องการปลูกทั่วพื้นที่ประเทศไทย ทำให้ราคาถูก และยังมีการบุกรุกป่าเพื่อปลูกยางจำนวนมาก
"หากให้เลิกอาชีพเกษตรกรไปเลยทำได้หรือไม่ รัฐบาลมีทุนในการให้ปรับเปลี่ยนมากแค่ไหน จะไปประกอบอาชีพอะไร ที่สำคัญเกษตรกรมีหนี้สินมาก หรือการจะปรับลดพื้นที่การเกษตรไปปลูกพืชประเภทอื่น รัฐบาลจะให้ปลูกพืชอะไร และรับรองหรือไม่ว่าหันไปปลูกพืชอื่นแล้วจะมีรายได้และราคาไม่ตกต่ำ" วุฒิพงษ์กล่าว
ทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางและปาล์มน้ำมัน 16 จังหวัดใต้ เผยว่า การช่วยเหลือเมื่อประสบกับภัยพิบัติเป็นหน้าที่หลักของรัฐบาลอยู่แล้ว ส่วนงบดูแลในชีวิตประจำวันนั้น ไม่มั่นใจว่าจะสิ้นเปลืองกับงบของรัฐหรือไม่ แต่การช่วยเหลือปรับโครงสร้างการผลิตไปผลิตพืชอื่นนั้น ขอชี้ให้เห็นอย่างชัดเจน เกษตรกรที่ปลูกข้าวเมื่อข้าวราคาตกต่ำก็หันมาทำสวนยางในนาข้าวแทน และวันนี้ยางราคาตกต่ำจะให้โค่นไปปลูกอะไรอีก อย่าลืมว่าปลูกยางกว่าจะกรีดได้ต้องใช้เวลา 7-8 ปี เพราะฉะนั้นจะให้โค่นเพื่อปลูกพืชอื่นง่ายๆ คงไม่ได้ แนวทางที่รัฐบาลประกาศก่อนหน้านี้จัดโซนนิ่งก็เห็นด้วย
ด้าน นางจริยา พันธุ์ดี ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรบ้านเวียง อ.ร้องกวาง จ.แพร่ กล่าวว่า เรื่องปรับลดแปลงการเกษตร ถามว่าที่เหลือจะทำอะไร ถ้ารัฐบาลเข้ามาอย่างจริงจังมีการช่วยเหลือเต็มที่และเป็นเหตุเป็นผลกัน ก็อาจจะทำได้บ้าง แต่คิดว่านานกว่าจะได้เต็มร้อย ที่ตำบลบ้านเวียงทำมาทุกวิถีทาง ปรับลดการปลูกข้าวโพดแล้วปลูกกล้วยหอมทองแทน แต่สุดท้ายก็หาตลาดไม่ได้ ผลผลิตตกต่ำขาดทุกอีกรอบ และไม่ค่อยมีใครสนใจเปลี่ยนวิถีทางทำกิน
นางอำไพพรรณ กันทาแก้ว เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตลำไยอบแห้งภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ เผยนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ปรับโครงสร้างผลผลิตการเกษตรทั่วประเทศให้เกิดความสมดุลด้านการผลิตและตอบสนองตลาดเพื่อไม่ให้ราคาตกต่ำ ว่า เห็นด้วย แต่ควรทำอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ไม่ใช่ไฟไหม้ฟาง โดยเฉพาะลำไย ควรกำหนดโซนนิ่งหรือพื้นที่ปลูกเพื่อควบคุมปริมาณและคุณภาพ ให้มีการผลิตลำไยนอกฤดูเพิ่ม จัดหาตลาดส่งออก ลดภาษีส่งออกสินค้าเกษตร เพื่อแข่งขันตลาดโลกและขยายการส่งออก และมีกฎหมายคุ้มครอง ส่งเสริม สนับสนุนสินค้าเกษตร เพื่อสร้างความมั่นใจแก่เกษตรกรที่ร่วมโครงการ
สุดท้าย ดร.มนต์ชัย ทองจินดา คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ถึงกับหัวเราะเมื่อถามถึงไอเดียใช้เงินจ้างเพื่อให้เลิกอาชีพทำเกษตรที่มีแต่ความเสี่ยง ก่อนจะตอบว่า ถ้าเรามองภาพใหญ่ในเรื่องความมั่นคงทางอาหาร จะปล่อยให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นไม่ได้ ต้องมีการดูแลว่าที่เกษตรกรอยู่ไม่ได้มีสาเหตุจากอะไร
"ถ้าเป็นผลผลิตตัวหลักๆ อย่างข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย หากเราให้เกษตรกรเลิก จะเป็นปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหารตามมา เวลาพูดถึงเรื่องนี้ไม่ใช่เฉพาะส่วนที่เราบริโภคเข้าไปโดยตรงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง มันจะถูกล้มเป็นทอดๆ เหมือนโดมิโน เหมือนบางประเทศที่ซื้ออาหารจากประเทศอื่นตลอดเวลา ประเทศเราจะเป็นแบบนั้นไม่ได้ จึงต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าปัญหาในภาคเกษตร เช่น พืชผลราคาต่ำ มีสาเหตุ ปัจจัย และเงื่อนไขจากอะไร"
ดร.มนต์ชัยกล่าวต่อว่า จะเห็นว่าในหลายประเทศที่รวยแล้ว ยังพยายามหาพื้นที่ในต่างประเทศเพื่อผลิตผลผลิตทางการเกษตรเป็นแหล่งอาหารของเขา แต่เรามีพื้นที่ของเราอยู่แล้ว
"ความจริงเราต้องเข้าใจเกษตรกรในระดับหนึ่งก่อนว่าเขามีพลวัตในการคิดการตัดสินใจ เขาอาจลองเปลี่ยนจากทำนาข้าวไปทำนาหญ้าเพื่อส่งเสริมกลุ่มปศุสัตว์ แต่ถ้าเป็นไปไม่ได้ก็กลับมาทำผัก ผลไม้ ปลูกพืชชนิดเดิม
"ไม่อยากให้เกษตรกรทิ้งเรื่องการเกษตร เพราะว่าเขามีประสบการณ์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านอยู่แล้ว บางคนจากที่ทำเกษตรเชิงเดี่ยวอาจทำเกษตรผสมผสาน มองในเชิงเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น เราต้องปล่อยให้เขาเป็นผู้ตัดสินใจเอง หากจะอบรมนำเทคโนโลยีเข้าไปแล้วบอกเขาว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ จริงๆ แล้วไม่ได้ประสบความสำเร็จไปเสียทุกครั้ง ต้องปล่อยให้เขาตัดสินใจ เพียงแต่ว่าต้องให้กำลังใจและมีปัจจัยสนับสนุนชัดเจนว่า ถ้าทำการเกษตรแบบนั้นต่อไป จะช่วยพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างไร มีความคิดที่ไกลขึ้น เป็นเกษตรกรที่มีความคิดก้าวหน้าขึ้น"
นี่คือความเห็นหลากหลายของเกษตรกรชาวนาชาวไร่และนักวิชาการที่พอจะทำให้รัฐมนตรีอาจต้องเคาะความคิดของตัวเองใหม่ว่าที่พูดออกมานั้นใช่หรือไม่หรือถ้ายังยืนยันว่าแนวคิดของตนเองคงต้องอธิบายกันให้มากขึ้นเสียแล้ว
ที่มา : มติชน วีนที่ 24 ก.ย. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.