นายประสงค์ พูลธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีระบุว่า ภาษีมรดกจะแล้วเสร็จในปีนี้ว่า
ถ้าเป็นกฎหมายที่รัฐบาลต้องการผลักดันคงใช้เวลาไม่นาน ซึ่งการที่กฎหมายมรดกจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ได้หรือไม่นั้นเป็นเรื่องที่ฝ่ายนโยบายจะผลักดันแต่ถ้าเป็นขั้นตอนปกติจะใช้เวลาพิจารณาเป็นปี ซึ่งขณะนี้การพิจารณาในเรื่องภาษีมรดกนั้น เลยขั้นตอนของกรมสรรพากรและกระทรวงการคลังไปแล้ว
โดยล่าสุดร่างกฎหมายอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาของคณะกรรมกฤษฎีกา กรมไม่สามารถบอกแทนกฤษฎีกาได้ว่าจะพิจารณาแล้วเสร็จเมื่อไหร่ และเป็นอำนาจของกฤษฎีกาในการท้วงติงและแก้ไขร่างกฎหมายที่กรมเสนอไป หลังจากที่กฤษฎีกาพิจารณาร่างแล้วเสร็จ จะเสนอไปที่ที่คณะรัฐมนตรี่(ครม.)อีกครั้ง เพื่อให้ครม.นำร่างกฎหมายเสนอไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)
ส่วนกรณีภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เป็นหน่วยงานที่ดูแล กรมดูเฉพาะภาษีมรดกเท่านั้น
รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขั้นตอนในเรื่องภาษีที่ดินฯนั้น สศค. ต้องนำเสนอต่อนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อนนำเสนอต่อครม.ถ้าครม.เห็นชอบต้องไปสู่การพิจารณาของกฤษฎีกาต่อไป ขั้นตอนของภาษีที่ดินฯ จะช้ากว่าภาษีมรดกอยู่2ขั้นตอน แต่ถ้ารัฐบาลต้องการผลักดันสามารถเร่งรัดการพิจารณาให้มีผลพร้อมๆกันได้ โดยบรรจุเป็นกฎหมายเร่งด่วนที่สนช.ต้องพิจาณาเป็นอันดับแรกๆ
ทั้งนี้ ร่างกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจะนำมาใช้แทนที่ พรบ.ภาษีโรงเรือนและทีดิน และ พรบ.ภาษีบำรุงท้องที่ โดยเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปภาษี เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในประเทศ ซึ่งร่างพรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ฉบับใหม่นี้ จะเป็นการปรับปรุงจากร่างเดิม ที่กระทรวงการคลัง เคยยกร่างมากแล้วในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ โดยจะกำหนดเพดานภาษีตามกฎหมาย ให้สูงขึ้น เพื่อรองรับในอนาคตที่เศรษฐกิจประเทศขยายตัวมากกว่าปัจจุบัน หากกำหนดเพดานในกฎหมายหลัก ในอัตราที่ต่ำไป ในอนาคตเมื่อมีความจำเป็นต้องเพิ่มอัตราภาษี ก็จะต้องเสียเวลาในการยกร่าง เพื่อให้สภาอนุมัติ
โดยเพดานภาษีใหม่ อาจกำหนดให้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพืออยู่อาศัย และที่ดินเพื่อการเกษตร จัดเก็บในอัตรา ไม่เกิน 0.5 %, ที่ดินเชิงพาณิชย์ในอัตราไม่เกิน 1 % และที่ดินว่างเปล่าไม่ได้ทำประโยชน์ตามควร จัดเก็บในอัตราไม่เกิน 2%
ที่มา : มติชน วันที่ 14 ก.ย. 2557