ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ - เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ
หลากหลายมุมมอง เก็บภาษี′มรดก-ที่ดิน′
หมายเหตุ - ความเห็นของนักวิชาการและฝ่ายการเมืองต่อคำแถลงนโยบายรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีนโยบายขยายฐานการจัดเก็บภาษีประเภทใหม่ อาทิ ภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูก ซึ่งจะต้องทำให้เสร็จภายในปีนี้
ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์
คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
"...รัฐบาลแต่ละสมัยมีอายุสั้น กฎหมายนี้จึงยังไม่สามารถคลอดออกมาบังคับใช้ได้จริง ..."
นโยบายของรัฐบาลที่จะผลักดันภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีมรดก ออกมาในเร็วๆ นี้ หลักการการจัดเก็บภาษีทั้งสองอย่าง ทำให้รายได้ภาษีของรัฐบาลเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่เรียกได้ว่าเป็นการปฏิรูปภาษีเต็มรูปแบบ เป็นการปฏิรูปเพียงด้านเดียว หรือ เป็นการเพิ่มและขยายฐานการจัดเก็บภาษี โดยการปฏิรูปภาษีที่ดีจะต้องทำให้ภาระภาษีของประชาชนไม่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับรายได้ เพราะการที่ประชาชนต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น แต่ไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลจะปฏิรูปเรื่องรายจ่ายหรือเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ต่อไปจะเป็นปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจในระยะยาว
แนวคิดการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็นเรื่องที่มีการผลักดันกันมาหลายรัฐบาล แม้ว่าจะเข้าไปจนถึงขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา แต่มีรายละเอียดที่จะต้องแก้ไขปรับปรุง และรัฐบาลแต่ละสมัยมีอายุสั้น กฎหมายนี้จึงยังไม่สามารถคลอดออกมาบังคับใช้ได้จริง และขณะนี้ยังไม่มีใครเห็นร่างกฎหมายจริง มีแต่การให้ข่าวจากทางเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการคลัง ซึ่งกระทรวงการคลังจะต้องทบทวนกฎหมาย โดยพิจารณาในเรื่องความครอบคลุมหรือรายละเอียดของร่างกฎหมายฉบับนี้ว่าเป็นอย่างไร เพื่อให้การจัดเก็บภาษี มีความเป็นธรรมต่อประชาชนและปิดช่องว่างการหลีกเลี่ยงภาษี
ภาระภาษีที่จะจัดเก็บจะแปรผันตรงตามที่อยู่อาศัยและขนาดที่ดิน ที่มีมูลค่าตามการประเมินของกรมธนารักษ์ แต่ในแง่การประเมินมูลค่าว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ยังไม่มีการอธิบายเรื่องนี้ รวมถึงกรณีที่เจ้าของที่ดิน โดยเฉพาะภาคครัวเรือน อาจเป็นเจ้าของที่ดินจริง แต่เป็นการกู้ซื้อหรือนำไปจำนองไว้ ตรงนี้ยังไม่มีการระบุว่าจะมีการจัดเก็บภาษีอย่างไร
การจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างควรเน้นการเก็บจากที่ดินที่ไม่ได้ทำประโยชน์ ปัจจุบันยังไม่มีการระบุคำจำกัดความที่ชัดเจน และพิจารณากรณีที่เจ้าของที่ดินมีการถือครองที่ดินจำนวนมาก แต่มีแบ่งการถือครองที่ดิน โดยการตั้งบริษัทหรือนิติบุคคลขึ้นมา โดยอ้างว่าเป็นบริษัทที่ถือแลนด์แบงก์เพื่อนำไปขยายธุรกิจและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จะต้องพิจารณาว่าทำได้หรือไม่ เพราะกฎหมายไทยไม่ได้เอาจริงเอาจังเรื่องตัวแทนหรือนอมินี จึงควรมีการปิดช่องโหว่
สำหรับกรณีการจัดเก็บภาษีมรดกหรือภาษีการตาย มีแนวคิดการเก็บเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ แต่ภาษีตัวนี้มีรายละเอียดที่จะต้องมีการพิจาราณารอบคอบ เพราะคนที่มีมรดกจำนวนมากอาจคิดเป็นสัดส่วนน้อย และอาจไม่ได้เสียชีวิตหลายคน ซึ่งหากพิจารณาแต่ละปีอาจจะเก็บภาษีได้น้อย ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษี ควรมีขั้นตอนที่ง่ายและไม่ซับซ้อน รวมถึงหลักเกณฑ์และฐานจำนวนมรดกที่นำมาการจัดเก็บภาษี ว่ามีการศึกษาและมีข้อมูลประกอบมากน้อยแค่ไหน เพราะที่ผ่านมายังไม่มีความชัดเจน ทางคลังไม่ได้มีการเปิดเผยข้อมูล ว่าการจัดเก็บจากฐานมรดก 50 ล้านบาท มาจากอะไร และพิจารณาไปถึงกรณีที่อาจจะมีการโยกย้ายทรัพย์สินให้นอมินีด้วย ซึ่งจะต้องพยายามปิดช่องโหว่
เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ
คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย
"...ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าจะสำเร็จหรือไม่ เพราะเรื่องนี้จะสำเร็จเลยก่อนมีรัฐบาล ควรออกเป็นคำสั่ง คสช.เลยมีผลมากกว่าทันที..."
การออกกฎหมายภาษีมรดกและภาษีที่ดินเป็นเรื่องที่ดี เห็นด้วยกับ พล.อ.ประยุทธ์ โดยเรื่องนี้ควรเก็บนานแล้ว และความจริงควรเก็บแบบขั้นบันได คือใครมีมากก็ต้องเสียมาก ไม่เช่นนั้นจะเกิดการทำประโยชน์ในที่ดินไม่คุ้ม เก็งกำไร ดังนั้น เมื่อมีมากก็ควรเสียภาษีให้รัฐมากตาม ไม่ใช่เสียเพียงรายได้ท้องถิ่นแบบปัจจุบันไร่ละไม่กี่บาท ที่สำคัญกฎหมายนี้อย่าให้ช้า ควรทำให้เสร็จภายในสิ้นปี ควรเป็นกฎหมายลำดับต้นๆ สำหรับภาษีมรดก ภาษีที่ดินเพราะจะลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ทำให้ผู้มีฐานะได้จุนเจือสังคม แต่ตอนนี้กลัวอย่างเดียวจะแท้ง ที่สำคัญหากออกมาแล้วมีปัญหามากไปน้อยไป ก็ค่อยมาแก้ แต่ขอให้ออก
ที่ผ่านเรื่องนี้ทำไม่ได้เพราะคนออกกฎหมาย คือนักการเมืองซึ่งส่วนใหญ่มีที่ดินมรดกเยอะจะให้ออกกฎหมายมาลงโทษตัวเองยาก ตอนนี้ต้องขอความร่วมมือตัดใจหน่อย ควรเผื่อแผ่ให้สังคมและควรทำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ควรพิจารณานาน ควรพิจารณารวดเดียวแล้วออกเลย อย่างไรก็ตาม ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าจะสำเร็จหรือไม่ เพราะเรื่องนี้จะสำเร็จเลยก่อนมีรัฐบาล ควรออกเป็นคำสั่ง คสช.เลย มีผลมากกว่าทันที พอมาออกตอนนี้เข้าไตรมาส 4 ในปีแล้ว กว่าจะสำเร็จดึงไปดึงมาก็กลายเป็นกฎหมายค้างในสภาอีก พูดแล้วดูดีแต่ผลไม่ออกมาสักที ข้าราชการ นักการเมือง นักธุรกิจ ควรจะจ่ายคืนสังคมบ้าง ภาษีที่จ่ายกับมูลค่าที่ดินที่เพิ่มแต่ละปีไม่เท่ากันหรอก
สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล - เกียรติ สิทธีอมร
สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล
แกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา
"...สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนให้กำลังใจเพราะเป็นหมุดตัวแรก ที่จะปักลงไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดี... "
การเดินหน้าจัดเก็บภาษาที่ดิน และภาษีมรดก ถือเป็นนโยบายหนึ่งที่แตกต่างจากนโยบายของพรรคการเมือง ซึ่งเราต้องยอมรับว่า นักการเมือง หรือพรรคการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง มักจะออกนโยบายโดยการคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับฐานเสียงของตัวเอง ดังนั้น การจะออกกฎหมายใดออกมาก็เป็นเรื่องที่ยากลำบาก เพราะมักจะกังวลว่าจะมีผลกระทบต่อฐานเสียงของตัวเอง แต่ พล.อ.ประยุทธ์พูดไว้ชัดเจนว่า ท่านไม่ใช่นักการเมือง จึงไม่กังวลเรื่องคะแนนเสียง แต่จะคำนึงถึงประโยชน์ที่สังคม และประเทศไทยจะได้รับ อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกคนให้กำลังใจเพราะเป็นหมุดตัวแรก ที่จะปักลงไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดี แน่นอนว่า นโยบายต่างๆของรัฐบาลอาจจะมีผลกระทบต่อความรู้สึก หรือ ผลกระทบต่อผลประโยชน์ของใครบ้าง แต่ถ้ายึดเอาผลประโยชน์ของสังคมและประเทศ ด้วยความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ผมก็คิดว่าประเทศก็น่าจะเดินต่อไปได้
เกียรติ สิทธีอมร
รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
"...สิ่งที่สำคัญของการปรับปรุงภาษีถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะต้องคิดให้รอบคอบ..."
ขณะนี้มีกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง สิ่งที่สำคัญของการปรับปรุงภาษีถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะฉะนั้นรัฐบาลจะต้องคิดให้รอบคอบ ไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อประชาชนได้ ซึ่งการที่ พล.อ.ประยุทธ์ แถลงนโยบายรัฐบาลว่าจะมีการปรับปรุงโครงสร้างดังกล่าวนั้น เท่าที่ฟังถือว่ายังไม่มีความชัดเจนตามที่ควร ทั้งที่รัฐบาลเองเป็นคนเสนอที่จะดำเนินการ อย่างไรก็ต้องมีความชัดเจนก่อนที่จะเริ่มประกาศใช้ อย่างไรก็ตาม เป้าหมายที่สำคัญคือจะต้องคำนึงถึงอัตราภาษี โดยเฉพาะในเรื่องความโปร่งใส ประชาชนคนที่มีรายได้น้อยจะจ่ายภาษีเยอะหรือไม่ ตรงนี้กำลังรอดูอยู่ว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร สำหรับปัญหาของภาษีทรัพย์สิน และภาษีมรดกนั้นเห็นว่าเป็นปัญหาในเรื่องของกฎหมาย ต้องปรับแก้กฎหมายเดิมด้วย เช่น ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดิน ที่มีอยู่หลายฉบับโลกเปลี่ยนไป มาตรการทางภาษีใหม่ก็ต้องพัฒนาตามไปด้วย
สำหรับภาษีมรดกนั้น ในหลายประเทศก็มีการดำเนินการจัดทำแล้ว แต่ประเทศเรายังไม่มีกฎหมายที่ชัดเจน อีกทั้งการจะปรับปรุงต้องมีแนวคิดที่หลากหลาย ถ้ารัฐบาลจะดำเนินการปรับปรุงต้องชัดเจนว่าหลักคิดรัฐบาลคืออะไร เนื่องจากภาษีมรดกเป็นภาษีที่มีแนวคิด ถ้าคิดไม่ครบถ้วนแล้วประกาศออกมา คนอาจคิดได้ว่าจะจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงหรือไม่ หรือรัฐบาลจะจัดเก็บภาษีเข้ารัฐให้ได้มาก ดังนั้น รัฐบาลควรจะฟังความเห็นจากหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ว่าถ้าดำเนินการจัดทำแล้วจะเป็นที่ยอมรับหรือไม่ อย่างไร แต่อย่าลืมว่าจะคำนึงถึงความโปร่งใสเป็นหลักสำคัญด้วย
ที่มา : มติชน วันที่ 14 ก.ย. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.