มติชนออนไลน์ รายงานว่า จาก คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วันศุกร์ที่ 12 กันยายน 2557 จำนวน 23 หน้า จำแนก ยุทธศาสตร์ 11 ด้าน ประกอบด้วย 1. การปกป้องและเชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ 2. การรักษาความมั่นคงของรัฐและการต่างประเทศ 3. การลดความเหลื่อมล้ำ และการสร้างโอกาสการเข้าถึงบริการของรัฐ 4. การศึกษาและเรียนรู้ การทะนุบำรุงศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม 5. การยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุข และสุขภาพของประชาชน 6. การเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ 7. การส่งเสริมบทบาทและการใช้โอกาสในประชาคมอาเซียน 8.การพัฒนาและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการวิจัยและพัฒนา และนวัตกรรม 9.การรักษาความมั่นคงของฐานทรัพยากร และการสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์กับการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน 10.การส่งเสริมการบริหารราชการแผ่นดินที่มีธรรมาภิบาลและการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ 11.การปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม
แต่นโยบายที่ถูกจับตามองมากที่สุด คือ การเก็บ ภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ระบุอย่างชัดเจน อยู่ใน 6.10 ปรับปรุงวิธีการจัดเก็บภาษีให้จัดเก็บได้อย่างครบถ้วน โดยปรับปรุงโครงสร้างภาษีให้คงอัตราภาษีเงินได้ไว้ในระดับปัจจุบัน ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล แต่ปรับปรุงโครงสร้างอัตราภาษีทางด้านการค้าและขยายฐานการจัดเก็บภาษีประเภทใหม่ ซึ่งจะเก็บจาก ภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยให้มีผลกระทบต่อผู้มีรายได้น้อยให้น้อยที่สุด รวมทั้งปรับปรุงการลดหย่อนภาษีเงินได้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้มีรายได้น้อย และยกเว้นภาษีประเภทที่เอื้อประโยชน์เฉพาะผู้ที่มีฐานการเงินดี เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากขึ้น
ทั้งนี้ การผลักดัน การจัดเก็บภาษี มรดก และภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นเรื่องที่พูดกันมานาน แต่ไม่เคยสำเร็จนับตั้งแต่ เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มีเพียงครั้งเดียวที่เคยออกเป็นกฎหมายในรัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์ แต่ที่สุดก็ยกเลิกกฎหมายดังกล่าวไปในที่สุด อีกครั้งหนึ่งในรัฐบาลพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ แต่ในช่วงสุดท้ายก็ยุติการผลักดัน โดยอ้างว่า ให้เป็นการผลักดันของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง
ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ฐานจัดเก็บภาษีครอบคลุมมากขึ้น ให้ท้องถิ่นจัดเก็บภาษีเพื่อกระจายรายได้ ขณะเดียวกันมีเป้าหมายสำคัญคือลดการกักตุนที่ดินของนายทุน โดยกรณีถือครองที่ดินแต่ปล่อยรกร้างไม่ได้ทำประโยชน์ จะต้องเสียภาษีในอัตราไม่ต่ำ 0.5% ของฐานภาษี (คำนวณจากราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน) และกรณีที่ปล่อยให้ที่ดินรกร้างจะถูกปรับภาษีขึ้น 1 เท่าทุก 3 ปี แต่มีเพดานสูงสุดไม่เกิน 2% ของฐานภาษี
หากผลักดันสำเร็จจะช่วยสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้มาก
การสำรวจศึกษาระบุว่า ในผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่ทั้งประเทศ ตระกูล "สิริวัฒนภักดี" ซึ่งมีเครือข่ายธุรกิจหลากหลายเช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น็อนแอลกอฮอล์ พัฒนาที่ดิน การเกษตร ฯลฯ น่าจะถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินทั่วประเทศมากที่สุดกว่า 6.3 แสนไร่ ทั้งในนามส่วนตัว ครอบครัว และผ่านบริษัทต่าง ๆ
อันดับสองคือ "ตระกูลเจียรวนนท์" ของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการบริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ธุรกิจการเกษตรครบวงจร ในนามกลุ่มซีพี ธุรกิจพัฒนาที่ดินในนาม บมจ.ซี.พี.แลนด์ และกลุ่มแมกโนเลียส์ธุรกิจโทรคมนาคม ทรู คอร์ปอเรชั่น ถือครองที่ดินในมือไม่ต่ำกว่า 2 แสนไร่ โดยแปลงใหญ่อยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ประมาณ 1 หมื่นไร่
อันดับสาม คือ "บมจ.สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม" ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านน้ำมันปาล์มรายใหญ่ในภาคใต้ ถือครองที่ดิน 4.44 หมื่นไร่ รองลงไปคือ "สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์" ปัจจุบันมีที่ดินรวมประมาณ 3 หมื่นไร่ ในจำนวนนี้ราว 7% ปล่อยเช่าสร้างรายได้เชิงพาณิชย์
แลนด์ลอร์ด ชั้นนำ ยัง ประกอบด้วย บมจ.ไออาร์พีซี ผู้ผลิตปิโตรเคมีรายใหญ่ มีที่ดินรวมประมาณ 1.7 หมื่นไร่ แปลงใหญ่อยู่ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา "ตระกูลมาลีนนท์" กลุ่มทุนธุรกิจสื่อสารถือครองที่ดินในมือไม่ต่ำกว่า 10,000 ไร่ แลนด์ลอร์ดอีกราย คือ "นายแพทย์บุญ วนาสิน" ประธานกรรมการบริหารกลุ่มโรงพยาบาลธนบุรี มีที่ดินในมือประมาณ 1 หมื่นไร่ ในจำนวนนี้เป็นที่ดินโดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิกว่า 1 พันไร่
ด้าน "วิชัย พูลวรลักษณ์" อดีตผู้ก่อตั้งโรงภาพยนตร์เครืออีจีวี ซึ่งที่ผ่านมาเบนเข็มมารุกธุรกิจพัฒนาที่ดินในนาม "วรลักษณ์ พร๊อพเพอร์ตี้" ครอบครองอยู่ 7-8 พันไร่ อาทิ ในจังหวัดกาญจนบุรีประมาณ 3 พันไร่ฯลฯ ตระกูล "จุฬางกูร" อาณาจักรซัมมิท คอร์ปอเรชั่น ยักษ์ใหญ่วงการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ มีที่ดินทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 5-6 พันไร่ อาทิ สนามกอล์ฟซัมมิทฯ ที่บางนาและเชียงใหม่, ที่ดิน 100 ไร่ในจังหวัดภูเก็ต ฯลฯ และ "ไพวงษ์ เตชะณรงค์" ผู้ก่อตั้งโบนันซ่า มีที่ดินในเขาใหญ่รวม 5 พันไร่
นอกจากนี้พบว่านักธุรกิจในวงการพัฒนาที่ดินอย่าง "คีรี กาญจนพาสน์" ประธานกรรมการบริหาร บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ที่มีธุรกิจให้บริการเดินรถไฟฟ้าและธุรกิจพัฒนาที่ดิน ก็มีที่ดินสะสมไม่ต่ำกว่า 1 พันไร่ เช่นเดียวกับ "บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค" มีที่ดินทั่วประเทศรวมประมาณ 2 พันไร่ เช่นเดียวกับตระกูล "ภิรมย์ภักดี" เจ้าของธุรกิจเบียร์สิงห์ ที่บุกเบิกธุรกิจด้านการเกษตรมานาน และปัจจุบันขยับมารุกธุรกิจอสังหาฯเต็มตัว ถือครองที่ดินทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 3-4 พันไร่ โดย "ปิยะ ภิรมย์ภักดี"เจ้าของไร่พีบีวัลเล่ย์ เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา มีที่ดินในเขาใหญ่ไม่ต่ำกว่า 2.5 พันไร่ ขณะที่ตระกูล "กฤษดานนท์" อดีตผู้ถือหุ้นใหญ่ บมจ.กฤษดานครครอบครองที่ดินย่านบางนา-ตราด ประมาณ 4,000 ไร่
ส่วนในกลุ่มนักการเมือง จากการสำรวจพบผู้ถือครองที่ดินจำนวนมาก อาทิ นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย2,030 ไร่, นายบรรหาร ศิลปอาชา จากพรรคชาติไทย 2 พันไร่ อยู่ในบริเวณถนนจรัญสนิทวงศ์ และนนทบุรี, นายเสนาะ เทียนทอง และนางอุไรวรรณ เทียนทอง 1,900 ไร่, นายอนุชา บูรพชัยศรี 1,284 ไร่ นายอดิศักดิ์ โภคสกุลนานนท์ 1,197 ไร่ นายทศพร เทพบุตร ถือครองที่ดิน 1,095 ไร่, นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี 1,095 ไร่, นายสุชน ชามพูนท 1,060 ไร่, นายชัย ชิดชอบ และภรรยา 854 ไร่, นายมณฑล ไกรวัตนุสสรณ์ 755 ไร่ ฯลฯ
ก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลังคาดหมายว่า หากสามารถประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้สำเร็จ และจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างช่วงแรก 50% ของอัตราภาษี ตามการใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ละประเภท จะช่วยให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้น 45,124 ล้านบาท จากนั้นหากจัดเก็บ75% ของอัตราภาษีท้องถิ่นจะมีรายได้เพิ่ม 67,686 ล้านบาท และเมื่อจัดเก็บเต็มอัตรา หรือ 100% ท้องถิ่นจะมีรายได้เพิ่มสูงถึงปีละ 90,249 ล้านบาท
ที่มา : มติชน วันที่ 11 ก.ย. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.