ทีดีอาร์ไอแนะรัฐบาลสลัดกับดักรับจำนำ
สบน.ชี้มีหนี้ที่เกิดขึ้นจากนโยบายรัฐบาลชุดก่อน 700,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ 500,000 ล้านบาท เกิดจากโครงการรับจำนำข้าว ด้านทีดีอาร์ไอ คาดชาวนาลดปลูกนาปรัง 2 ล้านไร่ หลังเลิกโครงการรับจำนำข้าว เผยผลสำรวจชาวนายังติดใจโครงการรับจำนำข้าว จึงต้องสลัดให้หลุดกับดักนโยบายราคา
น.ส.จุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า สบน.กำลังจัดทำแผนการบริหารจัดการหนี้ในส่วนหนี้ที่เกิดขึ้นจากรัฐบาลที่ผ่านมาตามแนวนโยบายของรัฐบาล โดยหนี้ 700,000 ล้านบาทที่รัฐบาลระบุนั้นกำลังพิจารณาว่าเป็นหนี้ที่เกิดจากส่วนใดบ้าง และจะบริหาร จัดการอย่างใด แต่เท่าที่ดูเบื้องต้นนั้น หนี้ส่วนใหญ่ 500,000 ล้านบาท เกิดขึ้นจากโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลที่ผ่านมา
“แผนในการบริหารจัดการหนี้จำนำข้าวเบื้องต้นนั้น ในปีงบประมาณ 2558 จะมียอดการชำระหนี้เข้ามา 90,000 ล้านบาท ในส่วนนี้เป็นการจัดสรรงบประมาณ 30,000 ล้านบาท และอีก 60,000 ล้านบาท จะได้จากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์ หากพิจารณาจากวงเงินทั้งหมด 500,000 ล้านบาท สบน.คาดว่า การบริหารหนี้ก้อนนี้ จะใช้เวลาไม่เกิน 5 ปี โดยจะต้องมีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ ที่มีหน้าที่ในการบริหารจัดการกับข้าวในสต๊อก และต้องหารือกับทางคณะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการจำนำข้าว เพื่อให้ทราบว่า เมื่อปิดบัญชีได้แล้ว จะมีการชำระหนี้ส่วนที่เกิดผลขาดทุนในปีงบประมาณใด และใช้เวลาเท่าใดในการชำระหนี้ทั้งหมด”
นายนิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ ทีดีอาร์ไอ กล่าวในการเสวนาเรื่องปรับตัวอย่างไรหลังวิกฤติข้าวไทยว่า หลังโครงการรับจำนำสิ้นสุดลง ทำให้ขณะนี้กลไกราคาข้าวเริ่มปรับตัวอีกครั้ง ชาวนาเริ่มลดพื้นที่ปลูกข้าวลง จากก่อนหน้านี้ปลูกเพื่ออยากให้มีข้าวไปเข้าโครงการรับจำนำมากๆ ซึ่งทีดีอาร์ไอคาดว่า การทำนาปรังในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาปีนี้จะลดลงประมาณ 1.7-2 ล้านไร่ จากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ราคาข้าวเปลือกจะยังอยู่ในระดับต่ำ เพราะมีสต๊อกข้าวประมาณ 18 ล้านตันคาอยู่ในสต๊อกของรัฐบาล ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์ต้องมียุทธศาสตร์จัดการสต๊อก ไม่ให้ราคาข้าวของชาวนาที่จะออกมาในเดือน ต.ค.-พ.ย.นี้ลดลง
ทั้งนี้ สิ่งแรกที่ต้องทำในอุตสาหกรรมข้าวไทย หลังสิ้นสุดโครงการรับจำนำข้าวเปลือกในราคาแพงแล้ว คือ การสลัดกับดักจำนำข้าว เพราะจากการไปสำรวจชาวนาพบว่า 60% ของชาวนาที่เข้าร่วมโครงการที่ผ่านมา ยังให้ความเห็นว่าอยากให้รัฐใช้นโยบายเหมือนเดิม เช่นเดียวกับชาวนา 50% ของกลุ่มชาวนาที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าว ก็ยังบอกให้ทำเหมือนเดิม
นายนิพนธ์กล่าวว่า การปรับโครงสร้างการเกษตรในระยะยาวมี 2 ด้าน เรื่องแรก คือ ต้องปรับที่ดินทำนาให้เป็นแปลงใหญ่ จากปัจจุบันที่ส่วนใหญ่จะเป็นแปลงขนาดเล็ก และประการที่สอง คือ การยกระดับจำหน่ายข้าวคุณภาพ ในเรื่องแรก โดยสาเหตุที่ต้องมีการรวมแปลงนาให้เป็นแปลงใหญ่ เพราะไทยมีที่ดินเหลือเฟือ แต่ขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร ดังนั้น ต้องให้ทำนาแปลงใหญ่ แม้ว่าในอนาคตราคาข้าวในตลาดอาจไม่สูง กำไรเฉลี่ยต่อไร่ต่ำ แต่ถ้าชาวนามีขนาดที่ดินมาก ก็จะมีกำไรรวมมาก ได้เงินมาก ทิศทางภาคเกษตรไทยต้องไปในรูปแบบนี้ เหมือนกับที่ออสเตรเลีย อเมริกา และยุโรป เปลี่ยนแปลงมาก่อนหน้าไทย
ทั้งนี้ ในการช่วยเหลือชาวนา สังคมไทยจะต้องทำความเข้าใจตัวชาวนาให้ชัดเจนก่อน เพราะชาวนาไทยไม่ได้เป็นคนยากจนทั้งหมด ซึ่งจากการสำรวจพบว่า จำแนกชาวนาไทยตามรายได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ แต่ละกลุ่มมีปัญหาที่แตกต่างกัน ประกอบด้วย 1.ชาวนาเงินล้าน เป็นชาวนาร่ำรวย หรือชาวนาเศรษฐี มีประมาณ 1 ล้านครัวเรือน ส่วนใหญ่อยู่ในเขตชลประทานภาคกลาง ทำนาปีละ 2-3 ครั้ง มีต้นทุนทำนารวมค่าเช่าที่นาแล้วต่ำมาก ไม่ถึง 5,000 บาท ในอนาคตกลุ่มนี้จะมีที่ดินแปลงใหญ่มากขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีเงินทุน แต่มีปัญหา เพราะพันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูกในปัจจุบันมีอยู่เพียง 3-4 สายพันธุ์ และเป็นสายพันธุ์เก่าทั้งสิ้น ดังนั้น กรมการข้าวควรเข้ามาทำหน้าที่ของตัวเอง ช่วยเหลือชาวนาในจุดนี้
สำหรับชาวนากลุ่มที่ 2.เป็นกลุ่มเกษตรกรทางเลือก กลุ่มนี้เป็นนักพัฒนา ทำงานหนัก เพราะทำเกษตรแบบประณีต มีกำไรดี จึงเป็นทั้งนักวิทยาศาสตร์ และปราชญ์ชาวบ้าน แต่ทำงานเหนื่อยมาก มีจำนวนน้อยมากไม่ถึง 10,000 ครัวเรือนเท่านั้น และจำนวนกำลังลดลงเรื่อยๆ ดังนั้น การปรับเปลี่ยนนโยบายข้าวของประเทศไปในทิศทางใหม่จะต้องคำนึงว่าจะทำอย่างไรที่จะดึงให้คนกลุ่มนี้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำการพัฒนาการเกษตร
สำหรับชาวนากลุ่มที่ 3. ขอเรียกว่าชาวนามือถือ พวกนี้เป็นกลุ่มใหญ่มีประมาณ 3 ล้านครัวเรือน แบ่งได้เป็น 2 พวก พวกแรกประมาณ 2 ล้านครัวเรือนมีอายุมาก เป็นชนชั้นกลาง ระดับกลางถึงล่าง ไม่ค่อยทำนาเองแล้ว อาศัยการจ้างทำนามากกว่า เพราะงานหนัก มีลูกหลานก็ไม่ส่งเสริมให้กลับมาทำนาอีก พวกที่สอง เป็นชาวนายากจนประมาณ 1 ล้านครัวเรือน ทางออกสำหรับชาวนากลุ่มยากจนคือ ให้ออกนอกเกษตร อย่าชักชวนให้กลับมา เพราะมีรายได้จากภาคเกษตรเพียง 16% ของรายได้ครัวเรือนตลอดปี ต้องตั้งโจทย์ใหม่ให้ชาวนากลุ่มนี้เปลี่ยนอาชีพ มีงานทำที่ใกล้บ้าน
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 12 ก.ย. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.