สัมภาษณ์พิเศษ
กรมที่ดินเพิ่งได้อธิบดีคนใหม่ "พีระศักดิ์ หินเมืองเก่า" ในยุค คสช.-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ประสบการณ์ไม่ธรรมดา ผ่านการเป็นผู้ว่าฯมา 4 จังหวัด ที่บุรีรัมย์ ปทุมธานี ระนอง และชุมพร ก่อนมารับตำแหน่งอธิบดีกรมเกรดเอ กระทรวงมหาดไทย
กว่า 1 เดือนที่ผ่านมา ภารกิจหลักนอกจากการขานรับนโยบาย คสช.-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ เรื่องแก้ไขปัญหาบุกรุกที่ป่า ยังมีเรื่องการคืนความสุขเกี่ยวกับที่ดินทำกินให้กับประชาชน ล่าสุดมหาดไทยได้ "บิ๊กป๊อก-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา" เป็น มท.1 มีคิวตรวจเยี่ยมกรมที่ดิน 9 ก.ย. 2557 "ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์พิเศษอธิบดีกรมที่ดินคนใหม่ถึงภาพรวมภารกิจสำคัญต่อจากนี้
- ภารกิจที่ดำเนินการ
ผมมาในยุค คสช.เพื่อแก้ปัญหาเรื่องที่ดิน คืนความสุขให้ประชาชนภายใต้อำนาจหน้าที่ของกรม ภารกิจหลักมี 2 ส่วน คือ 1)ดูแลการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินของพี่น้องประชาชน สิ่งที่กรมคาดหวังคือต่อไปจะมีโฉนดที่เป็นมาตรฐานเดียว ไม่ได้มีหลากหลายแบบปัจจุบัน เช่น ส.ค.1 น.ส.3 ก. ฯลฯ หรือบางคนก็ครอบครองที่ดินโดยไม่มีเอกสารสิทธิ เช่น เป็นที่ป่าสงวน, ที่อุทยาน, ที่ดินทหาร, ที่ดินราชพัสดุ ฯลฯ
2)ดูแลรักษาที่ดินของรัฐและที่ดินสาธารณประโยชน์ไม่ให้ถูกรุกล้ำ ปัจจุบันประเทศไทยมีที่ดิน 320 ล้านไร่ เป็นที่ดินของรัฐ 134 ล้านไร่ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ 20 ล้านไร่
- นโยบายแก้ปัญหารุกป่า-ที่ดินรัฐ
ที่ผ่านมา กรมถูกเข้าใจผิดเรื่องอำนาจการดูแลที่ดิน เวลามีผู้รุกล้ำจะเกิดคำถามว่าทำไมไม่ไปดูแลเอง ประเด็นคือต้องดูว่าที่ดินตรงนั้นอยู่ในความดูแลหรือไม่ อย่างบึงบอระเพ็ด มีคนส่วนน้อยที่รู้ว่าเป็นที่ราชพัสดุ ของกรมธนารักษ์ หรือที่ดินวังน้ำเขียว เป็นที่ป่าสงวนแห่งชาติและป่าอุทยาน อยู่ในความดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วันนี้เวลามีผู้บุกรุกที่ดินจะตกเป็นจำเลย ถูกมองว่ามีส่วนร่วมหรือปล่อยปละละเลย
- งานตามนโยบาย คสช.
คือการดูแลที่ดินสาธารณประโยชน์รวมถึงที่ดินรัฐประเภทอื่นที่ประชาชนอ้างกรรมสิทธิ์ใช้ประโยชน์ส่วนตัวยกตัวอย่างที่ดิน ภ.บ.ท.5 หรือที่ดินที่ท้องถิ่นเก็บภาษีบำรุงท้องที่ จากประชาชนที่เข้าใช้ที่ดินรัฐทำการเกษตร และนำหลักฐานการเสียภาษีบำรุงท้องที่มายืนยันสถานะว่าได้ครอบครองที่ดิน อย่างไรก็ตาม มหาดไทยประกาศแล้วว่า ไม่ให้เก็บภาษีบำรุงท้องที่ในที่ดินรัฐที่ถูกบุกรุก เช่น เพราะมีกรณีซื้อขายใบ ภ.บ.ท.5 เกิดขึ้น คสช.จึงออกประกาศฉบับที่ 64 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลรักษา แก้ปัญหาบุกรุกที่ป่า ฯลฯ แต่ที่ครอบครองที่ดินโดยสุจริตก่อนประกาศพื้นที่ป่า หรืออุทยานแห่งชาติก็มี จึงออกประกาศฉบับที่ 66 ไม่ให้ดำเนินการกับประชาชนที่สุจริต แต่ยังคงให้เข้มงวดกับนายทุนที่บุกรุกที่เพื่อการแสวงหาผลกำไร
- กรณีรุกที่ดินอุทยานสิรินาถ ภูเก็ต
พอมีปัญหา ผมได้ตั้งคณะทำงาน มอบให้ นายธรรมศักดิ์ ชนะ รองอธิบดี ลงพื้นที่ตั้งทีมทำงานตรวจสอบที่ดินทุกแปลงในอุทยานสิรินาถ รวมถึงเร่งรัดดำเนินการทั่วประเทศ
- กรณีเอกสารสิทธิ ส.ค.1 บิน
กรมกำลังพิจารณาประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ให้เหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน เช่น เอกสารสิทธิ ส.ค.1 ซึ่งเกิดขึ้นตอนประกาศใช้ ปม.ที่ดิน ภาครัฐให้ผู้ครอบครองที่ดินมาขึ้นทะเบียน ส.ค.1 ก็จะนำชื่อไปขึ้นทะเบียนกับอำเภอ และให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านไปดูตำแหน่งที่ดินและขีดเส้นไว้คร่าว ๆ
ประเด็นคือบางครั้งการวัดตำแหน่งคลาดเคลื่อน เกิดข้อสงสัยว่าเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ทุจริต แต่ตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา ต้องให้ศาลพิสูจน์และมีคำสั่งก่อน แนวทางแก้ปัญหาคือกำหนดระยะเวลาว่าภายในกี่ปีจะยกเลิก ส.ค.1 ทั้งหมด
- นโยบายจัดที่ดินทำกินให้คนยากจน
มี 2 ส่วนคือ 1)โครงการโฉนดชุมชน เป็นนโยบายรัฐบาลชุดก่อนให้ประชาชนที่บุกรุกที่รัฐ ถ้ามีเอกสารรับรองว่าอยู่ในที่ดินแปลงนั้นจริงให้เรียกว่าโฉนดชุมชน แต่จริง ๆ ไม่น่าจะใช้ชื่อ...โฉนดชุมชน เพราะพอมีคำว่าโฉนดก็เกิดความเข้าใจว่าเป็นกรรมสิทธิ์ โครงการนี้ไม่ใช่หน้าที่ของกรมที่ดิน แต่เป็นสำนักนายกรัฐมนตรี 2)โครงการจัดที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยให้กับประชาชนที่ยากจน กรมที่ดินได้ดำเนินการจัดแปลงที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ประชาชนบุกรุกอยู่แล้วก่อนปี 2546
วิธีการคือใครเข้าอยู่ในที่สาธารณประโยชน์ก่อนปี 2546 จะรังวัดสอบเขตให้ ทำเอกสารรับรองให้ สูงสุดไม่เกินคนละ 15 ไร่ ถึงปัจจุบันทำไปแล้ว 100,000 แปลง กว่า 100,000 ไร่ ประชาชนได้ประโยชน์ 90,000 ครัวเรือน ปีนี้ทำเพิ่มอีก 9,000 แปลง
- เตรียมรับภาษีที่ดิน-ภาษีมรดกอย่างไร
ที่เกี่ยวข้องกับกรมที่ดินคือเรื่องเทคโนโลยีการจัดเก็บข้อมูลที่ดินเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลประกอบการจัดเก็บภาษี ปัจจุบันเราประมวลผลด้วยระบบไอที มีการถ่ายภาพแผนที่ที่ดิน เนื่องจากกรมที่ดินได้รับมอบหมายให้จัดทำ "ศูนย์ข้อมูลที่ดินแห่งชาติ" จึงปรับฐานข้อมูลใหม่จากที่มีหลายอัตราส่วนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน 1:4,000 สำหรับการดูแปลงที่ดิน แต่ 1:50,000 สำหรับแผนที่ภาพรวม เราก็จะรู้ว่าที่ดินแปลงนี้ใช้ทำประโยชน์อะไรอยู่ จะเกี่ยวข้องกับการเก็บภาษีที่ดิน ภาษีมรดก
เรื่องนี้กรมให้ความสำคัญการปรับปรุงเทคโนโลยีอย่างมาก ขณะนี้การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศจัดการที่ดิน ประเทศไทยอยู่อันดับ 7 ของอาเซียน นำหน้ากัมพูชา เมียนมาร์ และ สปป.ลาวเท่านั้น
- เรื่องที่จะเสนอ รมว.มหาดไทย
1)ขออัตรากำลังคนเพิ่ม 2)การพัฒนาเทคโนโลยี หนึ่งในนั้นคือการเสนอของบประมาณพัฒนาศูนย์ข้อมูลที่ดินแห่งชาติ เฟสแรกได้งบฯ 2,000 ล้านบาท สามารถดูได้ 32 จังหวัด ยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ ถ้าจะทำต่อต้องใช้อีกประมาณ 2,000 ล้านบาท
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 8 ก.ย. 57
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.