มหาดไทย เบรกขึ้นภาษีบำรุงท้องที่ ร่อนหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าฯทั่วประเทศ ผวาเจอแรงต้าน หลังราคาที่ดินทั้งใน กทม.-ต่างจังหวัด พุ่งจากบัญชีราคาที่ดินปี"21-24 ที่เคยใช้เป็นฐานภาษี ตั้งแต่ 4 เท่าจนถึงกว่า 4 พันเท่าทำชาวบ้านรับเคราะห์
รายงานข่าวจาก กระทรวงมหาดไทยเปิดเผยว่า จากที่กระทรวงมีหนังสือแจ้งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศแต่ง ตั้งคณะกรรมการขึ้น เพื่อตีราคาปานกลางของที่ดินในรอบปี 2554-2557 นำมาใช้ในการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท.) สำหรับปี 2558-2561 แทนการใช้ราคาปานกลางของที่ดินปี 2551-2554 ซึ่งไม่สะท้อนถึงราคาที่ดินที่แท้จริงในปัจจุบัน ล่าสุดวันที่ 1 ก.ย. 2557 ที่ผ่านมา นายประภาศ บุญยินดี รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ปฏิบัติราชการแทนปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือด่วนที่สุด สั่งการให้แต่ละจังหวัดชะลอการประกาศราคาปานกลางของที่ดิน เพื่อจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่สำหรับปี 2558-2561 ออกไปไม่มีกำหนด รอจนกว่ากระทรวงมหาดไทยจะแจ้งแนวทางดำเนินการที่ชัดเจน
โดยหนังสือ สั่งการถึงผู้ว่าฯ ระบุเหตุผลที่ให้ชะลอประกาศใช้ฐานราคาปานกลางของที่ดินในปัจจุบัน หรือราคาปานกลางของที่ดินในรอบปี 2554-2557 มาใช้ในการคำนวณจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ปี 2558-2561 ว่า เป็นเพราะกรมการปกครองพิจารณาแล้วเห็นว่า ในการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ตั้งแต่ ปี 2529 จนถึงปี 2556 ที่ผ่านมา หรือตั้งแต่เมื่อ 28 ปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้กระทรวงมหาดไทยได้ใช้ราคาปานกลางของที่ดินประจำปี 2521-2524 เป็นฐานในการคำนวณภาษีมาโดยตลอด
ดังนั้นหากในปี 2558-2561 แต่ละจังหวัดนำข้อมูลจากการตีราคาปานกลางที่ดินในรอบปี 2554-2557 มาใช้เป็นฐานในการคำนวณจัดเก็บภาษี จะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ถือครองที่ดินทั่วประเทศ เนื่องจากจะต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ในอัตราที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก
รายงาน ข่าวเปิดเผยว่า แม้การชะลอประกาศใช้ราคาปานกลางที่ดินในปัจจุบัน หรือรอบปี 2554-2557 จะทำให้ทางราชการจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ได้ในอัตราที่ต่ำ แต่ยังใช้ราคาปานกลางที่ดินปี 2521-2524 ส่งผลให้รายได้จากภาษีบำรุงท้องที่ ที่หน่วยงานท้องถิ่นจะได้รับอยู่ในระดับที่ต่ำตามไปด้วย ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ราคาที่ดินปรับตัวสูงขึ้นมาก ส่วนหนึ่งมาจากเกรงผลกระทบจะเกิดขึ้นในวงกว้าง เนื่องจากไม่เคยมีการปรับใช้ฐานราคาปานกลางที่ดินมานานเกือบ 30 ปี ทั้งที่จริง ๆ แล้วจะต้องปรับราคาปานกลางที่ดินใหม่ทุก ๆ 4 ปี
ที่สำคัญช่วงนี้เป็นช่วงรอยต่อรัฐบาลชุดใหม่กำลังจะเข้าปฏิบัติหน้าที่ โดยในส่วนของกระทรวงมหาดไทย เร็ว ๆ นี้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จะมอบนโยบายในการบริหารงานอย่างเป็น ทางการ จึงต้องการรอดูนโยบายของ รมว.มหาดไทย ว่าจะดำเนินการในเรื่องนี้อย่างไร ประกอบกับกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างผลักดันร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... เพื่อนำมาบังคับใช้แทน พ.ร.บ.ภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 และ พ.ร.บ.ภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 ซึ่งบังคับใช้มานาน และไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
สำหรับ แนวคิดที่จะให้มีการตีราคาปานกลางของที่ดินให้เป็นราคาปัจจุบัน เพื่อนำมาคำนวณจัดเก็บภาษีบำรุงท้องที่ เป็นผลมาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 18 ธ.ค. 2555 มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการคลัง รับความคิดเห็นของเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) มาใช้ในการจัดทำราคาปานกลางที่ดินขึ้นใหม่ แทนการใช้ราคาปานกลางปี 2521-2524
ขณะเดียวกันเมื่อตีราคาปานกลางที่ดินใหม่ให้เป็นปัจจุบัน โดยใช้ราคาปี 2554-2557 ก็ถูกท้วงติงจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาว่า เป็นการเพิ่มภาระให้ประชาชนเสียภาษีบำรุงท้องที่ในอัตราที่สูงขึ้น มาก โดยที่ประชุมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฤษฎีกาช่วงก่อนหน้านี้ เคยมีการยกตัวอย่างราคาปานกลางของที่ดินใน อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ ราคาไร่ละ 30,000 บาท เทียบกับราคาปัจจุบันที่ 300,000 บาท/ไร่ ซึ่งเพิ่มขึ้น 10 เท่าตัว เท่ากับว่าผู้ถือครองที่ดินอาจต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่เพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่าตัวด้วย
กฤษฎีกาจึงแนะนำให้กระทรวงมหาดไทย จัดทำมาตรการบรรเทาภาระภาษี เพื่อลดผลกระทบไม่ให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน นอกจากนี้อาจต้องเสนอขอปรับปรุงแก้ไขบัญชีอัตราภาษีบำรุงท้องที่ จากปัจจุบันแบ่งอัตราภาษีตามชั้นราคาปานกลางของที่ดินเป็น 34 ชั้น โดยราคาปานกลางของที่ดินต่ำกว่าไร่ละ 30,000 บาท อัตราภาษีส่วนใหญ่ร้อยละ 0.50 ราคาปานกลางของที่ดินเกินไร่ละ 30,000 บาท อัตราภาษีคงที่ร้อยละ 0.25
ทั้งนี้ หากมีการตีราคาปานกลางของที่ดินให้เป็นปัจจุบัน ผู้ถือครองที่ดินจะต้องรับภาระภาษีเพิ่มขึ้นจำนวนมากทั่วประเทศ เนื่องจากราคาที่ดินทุกจังหวัดปรับขึ้นสูงกว่าเมื่อเกือบ 30 ปีก่อนมาก พิจารณาได้จากข้อมูลจากการศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ซึ่งศึกษาการเพิ่มขึ้นของราคาที่ดินโดยสุ่มตัวอย่างที่ดินที่จัดเก็บภาษี พบว่าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) 9 เขต เมื่อเปรียบเทียบราคาปานกลางของที่ดินปี 2521-2524 กับราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินปี 2547-2550 พบว่า ราคาที่ดินปี 2547-2550 เพิ่มขึ้นจากราคาปานกลางของที่ดินปี 2521-2524 ตั้งแต่ 4-4,137 เท่า
อาทิ เขตพระนคร ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 5-19 เท่า เขตราชเทวี เพิ่มขึ้น 8-30 เท่า เขตยานนาวา เพิ่มขึ้น 8-93 เท่า เขตตลิ่งชัน 14 -213 เท่า เขตมีนบุรี 12-432 เท่า เขตบางขุนเทียน 82-4,137 เท่า
ขณะที่ราคาที่ดินต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น 1-3,999 เท่า อาทิ เทศบาลนครลำปาง จ.ลำปาง ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น 5-283 เท่า อบต.วังเหนือ จ.ลำปาง ราคา 1-4 เท่า เทศบาลนครเชียงใหม่ 18-999 เท่า เทศบาลเมืองบัวใหญ่ จ.นครราชสีมา 1-499 เท่า เทศบาลนครนครปฐม 2-2,416 เท่า เทศบาลเมืองปทุมธานี เพิ่มขึ้น 37-499 เท่า เทศบาลตำบลแหลมฉบัง จ.ชลบุรี 16-499 เท่า เทศบาลนครระยอง เพิ่มขึ้น 32-3,999 เท่า
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 9 ก.ย. 57
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.