ศรายุทธ ฤทธิพิณ
สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
ไร้เงาหน่วยราชการชัยภูมิร่วมรายการเวทีสาธารณะ TPBS คุยทางแก้ปัญหาที่ดินทำกินร่วมกับชาวบ้าน ก่อนถึงเส้นตายไล่รื้อบ้านในพื้นที่สวนป่าโคกยาว พรุ่งนี้! ชาวบ้านหมดหวัง พ้อคงได้แค่รอยืนดูบ้านถูกรื้อ เพราะไม่มีที่ไป ส่วนผลสรุปเวทีร้องยกเลิกประกาศจังหวัดชัยภูมิ จี้ทบทวนแผนแม่บทแก้ไขปัญหาป่าไม้ คืนความสุขประชาชน
7 ก.ย. 2557 จากกรณี เจ้าหน้าที่รัฐในจังหวัดชัยภูมิเข้าปิดประกาศจังหวัดขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่พิพาทที่ดินป่าไม้ สวนป่าโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย และสวนป่าคอนสาร (ชุมชนบ่อแก้ว) ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ อาศัยอำนาจคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการตัดไม้ทำลายป่าจังหวัดชัยภูมิ และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 64/2557 โดยกำหนดเวลาให้ออกจากพื้นที่และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งพืชผลอาสิน หลังจากนั้นทางราชการจะเข้าตรวจสอบพื้นที่และดำเนินการตามกฎหมายแก่ผู้กระทำผิดโดยเด็ดขาด
ทั้งนี้ ในวันที่ 8 ก.ย.นี้ จะครบกำหนดวันที่ให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่สวนป่าโคกยาว หลังจากเมื่อวันที่ 25 ส.ค. 2557 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ พร้อมกับตำรวจและฝ่ายปกครองกว่า 10 นาย ได้เข้าปิดป้ายประกาศขนาดใหญ่ โดยขีดเส้นให้ออกจากพื้นที่ภายใน 15 วัน ซึ่งประกาศดังกล่าวลงนามเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2557 ขณะที่ชุมชนบ่อแก้วถูกกำหนดให้ออกจากพื้นที่ ภายใน 30 วัน นับแต่วันออกประกาศ
ความเคลื่อนไหวในพื้นที่ล่าสุด ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (7 ก.ย. 2557) ที่ชุมชนบ้านบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ทีมงานจากสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสได้ลงพื้นที่ถ่ายทำรายการเวทีสาธารณะ โดยก่อนหน้านี้มีการประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ อาทิ ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ นายอำเภอคอนสาร ผู้อำนวยการสำนักบริหารในพื้นที่อนุรักษ์ที่ 7 สำนักงานองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (ออป.) เพื่อเชิญร่วมเข้าร่วมรายการ
แต่เมื่อถึงเวลานัดหมายหน่วยงานดังกล่าวกับไม่ส่งตัวแทนมาเข้าร่วม ทำให้เวทีสาธารณะมีแต่ตัวแทนชาวบ้านร่วมพูดคุย โดยมีผู้ประสบปัญหาเรื่องที่ดินทำกินจากจังหวัดต่างๆ ในพื้นที่ภาคอีสาน อาทิ ชัยภูมิ ยโสธร ร้อยเอ็ด ขอนแก่น สกลนคร กว่า 500 คน เข้าร่วมรับฟัง
นายเด่น คำแหล้ ชาวบ้าน ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ในพื้นที่กรณีพิพาทสวนป่าโคกยาวกล่าวว่า ชุมชนจะครบกำหนดไล่รื้อในวันจันทร์ที่ 8 ก.ย.57 นี้ หากมีการรื้อออกทั้งตนและพี่น้อง ชาวบ้านคนอื่นๆ ก็คงสามารถทำได้เพียงยืนดู เพราะไม่อาจจะขัดขืนได้ ทั้งที่พวกเราไม่ได้บุกรุก และคงต้องไปพักอาศัยอยู่ใต้ร่มไม้เพราะไม่มีที่จะอยู่
ส่วนนายนิด ต่อทุน ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้วซึ่งอยู่ในพื้นที่พิพาทสวนป่าคอนสาร กล่าวถึงความรู้สึกว่า ตนเองไม่เข้าใจว่าทั้งที่มีกระบวนการตรวจสอบอยู่แล้วว่าสวนป่าทับที่ทำกินชาวบ้าน แล้วเหตุใด จึงได้มีคำสั่งจังหวัด โดยอ้าง คำสั่ง คสช.ที่ 64/2557 มาปิดประกาศไล่รื้อ ถือว่าไม่มีความเป็นธรรม
ขณะที่นายปราโมทย์ ผลภิญโญ ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ให้ข้อมูลว่า พื้นที่ทั้งสองมีข้อพิพาทเรื่องสิทธิในที่ดินระหว่างราชการกับประชาชนมาเป็นเวลานาน กระทั่งมีการร้องเรียนของชาวบ้านผู้เดือดร้อน และเกิดกลไกการแก้ไขปัญหาร่วมกัน จนมีมติ ข้อตกลงต่างๆ เช่น รายงานผลการละเมิดสิทธิในที่ดินของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มติคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงระดับพื้นที่ และมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการผ่อนผันให้ทำประโยชน์ในพื้นที่พิพาทไปพลางก่อน จนกว่าการแก้ไขปัญหาจะได้ข้อยุติ นอกจากนี้ พื้นที่เหล่านี้ยังได้ยื่นคำร้องขอจัดตั้งโฉนดชุมชน ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการของหน่วยงานผู้รับผิดชอบ
นายเหมราช ลบหนองบัว ตัวแทนชุมชนทุ่งซำเสี้ยว ต.สระโพนทอง อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ ร่วมแสดงความเห็นว่า ผู้ออกคำสั่งอาจไม่เข้าใจหรือรับทราบข้อมูลว่า ในพื้นที่พิพาทนั้นอยู่ในระหว่างการแก้ไขปัญหา ซึ่งทั้งสองพื้นที่มีกระบวนการแก้ไขปัญหามายาวนาน อีกทั้งพื้นที่ทำประโยชน์ของชาวบ้านอยู่มาก่อนการประกาศเขตป่า และในส่วนของชาวบ้านไม่ได้มีที่กินทำกินอื่น แสดงว่าเข้าเงื่อนไขของคำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 คือการกระทำใด ใด ต้องไม่กระทบความเดือดร้อนของประชาชน
ส่วนนายสมนึก ตุ้มสุภาพ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาและศึกษากฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า กรณีคำสั่งที่ 64/2557 นั้น มีข้อคิดในสิทธิของชาวบ้าน ว่ากฎหมายออกมาโดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบของประชาชน โดยในตัวกฎหมายจะถูกตีตราเสมอว่า บุคคลใดก็ตามที่อยู่ในพื้นที่ประกาศเขตป่าฯ จะเป็นผู้บุกรุก และการลงนามของรองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ คสช.มาปิดป้ายประกาศ ไม่ได้ดูรายละเอียดว่าชาวบ้านได้รับผลกระทบหรือไม่
ผู้สื่อข่าว รายงานด้วยว่า การพูดคุยในเวทีสาธารณะครั้งนี้ได้ตั้งคำถามถึงประกาศจังหวัดที่ลงนามโดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิว่า การที่อ้างคำสั้ง คสช.นั้นมีความเป็นธรรมหรือไม่? อีกทั้งในพื้นที่มีกระบวนการตรวจสอบมานานแล้ว การดำเนินการดังกล่าวเท่ากับว่าหน่วยงานภาครัฐฉวยโอกาสในจังหวะที่มีประกาศคำสั่ง คสช.ที่มาปิดประกาศหรือไม่?
นอกจากนั้น ยังมีข้อเสนอว่า ผู้มีอำนาจควรคำนึงถึงกระบวนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ซึ่งมีมาอย่างต่อเนื่อง หากผู้มีอำนาจเข้าใจในเรื่องนี้ ก็จะถือว่าเป็นความโชคดีของชาวบ้าน โดยขอให้ยกเลิกคำสั่ง 64/2557 และให้ดูบริบทในคำสั่ง 66/2557 ว่าชาวบ้านบุกรุก หรือมีการขยายพื้นที่เพิ่มหรือไม่
ทั้งนี้ ทางออกในเวที คือ 1.ให้ยกเลิกประกาศจังหวัดชัยภูมิ เรื่องการป้องกันและปราบปรามการลักลอบตัดไม้และบุกรุกพื้นที่ป่าจังหวัดชัยภูมิ ลงวันที่ 21 และ 25 สิงหาคม 2557 2.ให้พิจารณามาตรการคุ้มครองสิทธิในที่ดินและทรัพยากรของประชาชน เพื่อความปกติสุขในการดำเนินชีวิต จนกว่าจะมีมาตรการทางนโยบายที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกัน ต่อไป และ 3.ให้ทบทวนแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน และเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
ชาวบ้านจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญทีมงานรายการเวทีสาธารณะ
ที่มา : ประชาไท วันที่ 8 ก.ย. 2557