เปิดปมใหญ่ 4 พืชเศรษฐกิจ ข้าวโพด-มันสำปะหลัง-อ้อย-ปาล์ม พบบุกรุกป่ารวมกันกว่า 10 ล้านไร่ หวั่นต่างชาติหยิบมาเป็นประเด็นกีดกันทางการค้าเผยจัดโซนนิ่งพื้นที่นาดอนมา ปลูกมันสำปะหลัง-อ้อยขัดแย้งหนัก พบปัญหาพื้นที่ทับซ้อนกว่า 2 ล้านไร่
นายมาโนช วีระกุล นายกสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันสำปะหลัง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า คณะกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้าที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ควรเร่งจำแนกประเภทที่ดินภาครัฐและเอกชนก่อนกำหนดยุทธศาสตร์ เพราะข้อมูลแต่ละหน่วยงานยังไม่ตรงกัน เกษตรกรที่ยากจนมีการรุกป่า เพื่อใช้ปลูกพืชเลี้ยงยังชีพมีจำนวนมากขึ้น ประมาณการว่ามีสัดส่วนการใช้ที่ดินของรัฐมาทำการเกษตรสัดส่วน 60% ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด เช่นจ.นครราชสีมามีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังใน อ.ครบุรี เสิงสาง สูงเนิน สีคิ้ว รวม1 ล้านไร่ คาดว่าจะมีการใช้พื้นที่รัฐ5 แสนไร่ เป็นต้น
"ข้อมูลสมาคมโรงงานผู้ผลิตมันฯ" จะใช้ตัวเลขจากการสำรวจผลผลิตทั่วประเทศที่มีอยู่ 8 ล้านไร่ แต่บางหน่วยงาน (กรมการค้าต่างประเทศ) เคยระบุว่า เป็นที่ดินที่ไม่มีเอกสารการถือครองที่ถูกต้องตามกฎหมาย 50% ของพื้นที่ปลูกมันหรือเท่ากับ 4 ล้านไร่ ขณะที่ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรประเมินว่ามีที่ดินปลูกมันสำปะหลังรวม 12.5 ล้านไร่
แยกเป็นที่ดินเขตป่า 1.31 ล้านไร่ แหล่งข่าวจากวงการค้ากล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้เกิดข้อคิดเห็นที่ไม่สอดคล้องกันในเรื่องการจัดสรร "พื้นที่นาดอนที่ไม่เหมาะสมกับการปลูกข้าวจำนวน 2 ล้านไร่" ว่าควรจะนำไปใช้ปลูกมันสำปะหลังหรืออ้อย เพราะโดยปกติสินค้า 2 กลุ่มนี้จะใช้พื้นที่แบบเดียวกัน โดยในแต่ละปีมันสำปะหลัง มีพื้นที่ปลูกปีละ 8 ล้านไร่ และปลูกอ้อย 8-10 ล้านไร่
"คณะอนุกรรมการฯ ต้องพิจารณาพืชชนิดใดที่จะให้ประโยขน์ต่อเกษตรกรมากที่สุด ซึ่งกลุ่มมันสำปะหลังชี้ว่า ปัจจุบันมันสำปะหลังมีปัญหาชอร์ตซัพพลายหากนำพื้นที่มาปลูกมันสำปะหลังเกษตรกรจะได้ราคาดีกว่าปลูกอ้อย และไม่ต้องเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตตามระยะเวลาการหีบอ้อย แต่กลุ่มอ้อยซึ่งมีโรงงานน้ำตาลเป็นแกนนำหลักก็ต้องการพื้นที่ปลูกอ้อยเพิ่มเพราะนอกจากนำอ้อยไปผลิตน้ำตาลแล้วยังสามารถขายโมลาสเพื่อผลิตเอทานอลได้ราคาสูงหรืออาจกล่าวว่าโรงงานอ้อยได้ประโยชน์มากกว่าเกษตรกร จึงพยายามผลักดันเรื่องหาพื้นที่เพิ่ม ขณะที่มันสำปะหลังสามารถใช้วิธีนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านได้"
นางวิวรรณ บุณยประทีปรัตน์ เลขาธิการสมาคมปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สำหรับยุทธศาสตร์ปาล์มขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการสรุปข้อมูลเพื่อเสนอคณะอนุกรรมการร่วมจัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรในหลายประเด็นโดยเฉพาะเรื่องการจัดโซนนิ่ง เนื่องจากยังพบมีการบุกรุกใช้พื้นที่ป่าปลูกปาล์ม 5 แสนไร่ เช่น จังหวัดระนอง เป็นต้นแหล่งข่าวจากวงการอาหารสัตว์เปิดเผยว่า ปัญหาของการปลูกพืชเศรษฐกิจนอกจากเรื่องราคาผลผลิตแล้ว ปัญหาใหญ่อีกประการคือเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะพืช 4 ชนิดที่กำลังจัดทำยุทธศาสตร์ทุกตัวมีปัญหาเหมือนกันหมด ทั้งมันสำปะหลัง ปาล์ม อ้อยและข้าวโพดรวมกว่า 10 ล้านไร่
โดยเฉพาะข้าวโพดมีปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าถึง 3 ล้านไร่ โดยผลผลิตครึ่งหนึ่งที่ได้ขณะนี้มาจากการปลูกในพื้นที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งรัฐและเอกชนต้องหาทางแก้ปัญหาร่วมกัน ก่อนต่างชาติที่ซื้อสินค้าจะนำเรื่องดังกล่าวมากีดกันการส่งออกสินค้า
ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 5 ก.ย. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.