ปลัดเกษตรฯ เตรียมเสนอแผนงาน 4 ด้านหลัก ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงและสหกรณ์คนใหม่ หวังเร่งขับเคลื่อนงานแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตร ตามมติ คสช. และพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศภายใต้งบปี’58
นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ เตรียมเสนอแผนงานโครงการสำคัญเร่งด่วนที่กระทรวงเกษตรฯ ได้ขับเคลื่อนตามมติของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผลการดำเนินงานตามภารกิจที่สำคัญประจำปี 2557 และการขยายผลต่อเนื่องตามแผนงานโครงการสำคัญในปีงบประมาณ 2558 ต่อนายปีติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์คนใหม่ พิจารณาผลักดันแผนงานโครงการต่างๆ ทั้งในระยะเร่งด่วน ระยะปานกลาง และระยะยาว รวมถึงรับทราบสภาพปัญหาด้านการเกษตรที่สำคัญ ทั้งในด้านเกษตรกรขาดองค์ความรู้ในการทำการเกษตรและใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ไม่เหมาะสม ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก ภัยธรรมชาติ และความผันผวนด้านราคา อันจะนำไปสู่นโยบายในการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตรที่สำคัญ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันการส่งออกสินค้าเกษตรของประเทศ
“ในระยะ 3 เดือนที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯ ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานต่างๆ ให้สอดคล้องกับนโยบาย คสช. และเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคเกษตร แบ่งเป็น 4 ด้านสำคัญ คือ.ด้านเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร ด้านสินค้าเกษตร ด้านทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร และด้านการบริหารจัดการองค์กร โดยแผนงานโครงการสำคัญๆ ในแต่ละด้าน ประกอบด้วย 1. ด้านเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร โดยปรับกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้แก่เกษตรกรเพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต ผ่านศูนย์เรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรตามหลักโซนนิ่ง อำเภอละ 1 จุด รวม 882 จุดทั่วประเทศ การแก้ไขปัญหาสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ทั้งในด้านคดีความ การฟื้นฟูกิจการ และการเยียวยา การแก้ไขปัญหาแรงงานประมง ที่กระทรวงเกษตรฯ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนแม่บทประมงใน 9 แนวทางหลัก เช่น การเร่งรัดการขึ้นทะเบียนแรงงานประมงต่างด้าว การตรวจตราเรือประมงพาณิชย์ 2. ด้านสินค้าเกษตร จัดทำยุทธศาสตร์สินค้าเกษตรเป็นรายพืชเศรษฐกิจ 4 สินค้า (Roadmap) ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และอ้อย การพัฒนายางพาราทั้งระบบ ทั้งการจัดการสต็อกยาง 2.1 แสนตัน มาตรการสนับสนุนสินเชื่อให้สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง และแปรรูปยาง การสนับสนุนสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการแปรรูปผลิตภัณฑ์ยาง การแก้ไขปัญหาโรคอีเอ็มเอสในสินค้ากุ้ง 3. ด้านทรัพยากรและโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร ซึ่งขณะนี้ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด การวางแผนเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง รวมถึงบริหารจัดการน้ำทั้งระบบไม่ว่าจะเป็นระบบกระจายน้ำ ระบบป้องกันน้ำท่วม เพิ่มเสถียรภาพน้ำต้นทุน รวมถึงกำหนดมาตรการส่งเสริมและขยายผลการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ โดยตั้งธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ การจัดทำปุ๋ยอินทรีย์กับหน่วยทหาร และส่งเสริมให้เกษตรกรผลิตปุ๋ยอินทรีย์ไว้ใช้เอง 4. การบริหารจัดการองค์กร โดยยึดหลักธรรมาภิบาล สุจริตและโปร่งใส อาทิ การแต่งตั้งโยกย้ายแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงจะยึดหลักความรู้ ความสามารถ คุณธรรมและโปร่งใส การจัดซื้อจัดจ้างโครงการต่างๆ ของภาครัฐ และส่งเสริมการเป็นข้าราชการที่ดี เป็นต้น” นายชวลิต กล่าว
สำหรับแผนงานโครงการในปีงบประมาณ 2558 กระทรวงเกษตรฯ ได้รับจัดสรรในวงเงินประมาณ 84,000 ล้านบาท โดยให้ความสำคัญกับการทำงานเชิงบูรณาการ มีการกำหนดแผนงานและเป้าหมายร่วมกันโดยใช้สินค้าและพื้นที่เป้าหมายในการบูรณาการ ประกอบด้วย 4 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการพัฒนาเกษตรกรและสถาบันเกษตรกร 2. ด้านการพัฒนาสินค้าเกษตร 3. ด้านทรัพยากรการเกษตร/โครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตร และ 4. ด้านการบริหารจัดการภาครัฐ โดยมีโครงการสำคัญ เช่น การบริหารเขตเกษตรเศรษฐกิจ การพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง เมืองเกษตรสีเขียว การพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน การบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา การแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ และการพัฒนาศักยภาพภาคเกษตรเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เป็นต้น
ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 4 ก.ย. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.