1 ก.ย.2557 นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า มั่นใจว่าคณะรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจทุกท่าน เนื่องจากผลงานเป็นที่ยอมรับของสังคม เป็นผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์ โดยภารกิจเร่งด่วนต้องการให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาพรวม (แมคโคร) ให้เดินหน้าไปได้ พร้อมทั้งต้องสร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค และนักลงทุนให้เกิดขึ้น เพราะความเชื่อมั่นจะทำให้เกิดการบริโภคภายในประเทศให้เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทั้งนี้ หากผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่น จะหยุดการซื้อสินค้าโดยเฉพาะสินค้าถาวร ประเภท บ้าน รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า
นอกจากนี้ ต้องเร่งสร้างบรรยายกาศการลงทุนที่ดีให้เกิดขึ้นทั้งนักลงทุนคนไทย และต่างชาติ ไม่เพียงแค่ลดปัญหาอุปสรรคและกฎระเบียบ เพื่อให้เกิดการลงทุน แต่ต้องดูแลสถียรภาพอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ย รวมถึงสภาพคล่องของตลาดเงินทุน ไม่อยู่ให้ภาวะผันผวนมากนัก
“มาตรการระยะสั้น ต้องเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เดินได้ก่อน และควรวางกรอบมาตรการระยะยาวไว้ด้วย โดยเฉพาะการปฎิรูประบบการศึกษา รวมถึงด้านลงทุนโครงการพื้นฐาน ซึ่งคงไม่จบภายในรัฐบาลเดียวอยู่แล้ว ส่วนโครงการลงทุนไปแล้ว ต้องไม่ทำให้หยุดชะงัก เรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณให้เดินหน้าได้ต่อไป”
ด้านน.ส.เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการ บริษัท เสนาดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ต้องการให้ครม.ใหม่เร่งผลักดันนโยบายสำคัญๆออกมาเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว เรื่องการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานผ่านโครงการลงทุนกว่า 2.4 ล้านล้านบาท และเรื่องการปฎิรูปการศึกษา จำเป็นจะต้องมีนโยบายการศึกษาที่ตอบโจทย์การพัฒนาของโลกยุคใหม่ ที่มีการแข่งขันสูง และเชื่อมโยงกันของตลาดโลกมากขึ้น
‘ตัน’เชื่อมั่นครม.ใหม่-เดินหน้าประเทศ
นายตัน ภาสกรนที กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อิชิตัน จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงคณะรัฐมนตรี หรือครม.ชุดใหม่ที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ ว่า รู้สึกเชื่อมั่นในครม.ชุดใหม่ เพราะหลายคนถือเป็นผู้เสียสละที่เข้ามาช่วยบริหารงานให้แก่ประเทศชาติ และช่วยกันร่วมมือเดินหน้าประเทศ
ทั้งนี้ คาดหวังให้ครม.ใหม่จะเร่งผลักดันวาระเร่งด่วนต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเร่งสร้างความเชื่อมั่นทั้งในประเทศและต่างประเทศให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว ตลอดจนเร่งเดินหน้าโครงการโครงสร้างพื้นฐาน หรือเมกะโปรเจคต่างๆ ต่อเนื่อง
ต้านคอร์รัปชั่น-พัฒนาคุณภาพชีวิต
นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) (LPN) ให้ความเห็นถึงภารกิจเร่งด่วนของครม.ชุดใหม่ว่า จะต้องจะเริ่มต้นที่พื้นฐาน "การพัฒนาคุณภาพชีวิตคน" สร้างสังคมไทยที่มีศักยภาพ จึงจะขจัดปัญหาของประเทศที่ต้นตอล้วนมาจากคน เช่น ปัญหาด้านคอร์รัปชัน ที่ยอมรับในผลประโยชน์ต่างตอบแทนที่เกิดขึ้นจากการยินยอมทั้งผู้ให้และผู้รับ จึงต้องควรไปพัฒนาในด้านระบบการศึกษาของประเทศ สร้างให้มีจิตสำนึกของการเสียสละเพื่อประโยชน์ส่วนร่วม ลดความเห็นแก่ตัว รวมถึงสร้างให้คนมีวินัย
ฟื้นนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์
นายจิรวัฒน์ ตั้งกิจงามวงศ์ ประธานสมาคมธุรกิจไม้ และประธาน Asean Forest Products Industry Council (AFPIC) กล่าวว่า สิ่งที่ต้องการให้ครม.ใหม่เร่งดำเนินการคือ การฟื้นนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ซึ่งถูกทิ้งมานาน โดยมองว่า เป็นกลไกที่เอื้อประโยชน์ต่อเอสเอ็มอีที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวสินค้า ที่ไม่สามารถจะแข่งขันด้านต้นทุนได้ และมีความสำคัญมากๆ ต่อการทำธุรกิจในวันนี้
ด้าน พญ.ประภา วงศ์แพทย์ ประธานสมาคมการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพไทย กล่าวว่า ต้องการให้ครม.ใหม่ส่งเสริมความรู้ความสามารถให้แก่ผู้ประกอบการ การพัฒนาด้านโปรดักท์ดีไซน์ การจัดกิจกรรมจับคู่ธุรกิจ การจัดงานแสดงสินค้า ตลอดจนการทำวิจัยตลาดและนักท่องเที่ยว เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในธุรกิจนี้
แนะเปิดพื้นที่ค้าขายรายย่อย
นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย เปิดเผยว่า อยากให้มีมาตรการควบคุมหรือกำหนดราคาสินค้ากับผู้ประกอบการรายใหญ่ เพราะที่ผ่านมาพบว่าจัดโปรโมชั่นราคาขายต่ำกว่าต้นทุนการผลิต ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กไม่สามารถแข่งขันได้
นอกจากนี้ ยังอยากให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เข้าไปตรวจสอบราคาค่าเช่าพื้นที่ขายที่แพงกว่าความเป็นจริง พร้อมทั้งเพิ่มพื้นที่ค้าขายให้กับผู้ประกอบการรายย่อยและหน้าใหม่ให้มีพื้นที่ขายสินค้า ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาตลาดสดที่มีอยู่แล้ว หรือสถานที่ทางราชการหรือหน่วยงานรัฐ รวมถึงการเปิดท้ายขายของเหมือนกับช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 เพื่อให้ผู้ประกอบการระดับล่างมีพื้นที่ทำมาหากิน
เสนอบูรณาการภาคการเกษตร
นายเปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย เปิดเผยว่า ต้องการให้รัฐบาลใหม่เร่งบูรณาการภาคเกษตรกรรมของไทยทุกด้านไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ (ยีลด์) ให้ความรู้เกี่ยวกับดิน การเพาะปลูกพืชเกษตรต่างๆ การเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร ระบบโลจิสติกส์ โซนนิ่งพื้นที่เกษตรกรรม การบริหารจัดการน้ำ การประสานงานระหว่างภาครัฐเอกชน
ขณะเดียวกัน ควรมีโครงสร้างการบัญชาการเดี่ยว (Single command) เพื่อบูรณาการหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรทั้งหมดเกิดบริการหรือประสานงาน ณ จุดเดียว (one stop service)
นอกจากนี้ ควรมีแผนพัฒนาภาคเกษตรกรรมในระยะยาว 5-10 ปี เพื่อวางรากฐานให้แข็งแกร่ง หากรัฐปฏิรูปภาคเกษตรได้จะทำให้ไทยกลับขึ้นไปเป็นประเทศเกษตรกรรมที่แข็งแกร่งในอันดับต้นๆของภูมิภาค จากที่ผ่านมาประเทศเพื่อนบ้านแซงหน้าไปมาก
โปร่งใสใช้จ่ายเงินแผ่นดินคุ้มค่า
ด้านนายกฤษดา จันทร์จำรัสแสง อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ภาคก่อสร้างต้องการเห็นครม.ใหม่ปฏิรูปการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินผ่านการลงทุนในโครงการต่างๆอย่างคุ้มค่า คำนึงถึงความจำเป็น ค่าใช้จ่ายเหมาะสมหรือไม่ ขนาดโครงการเป็นอย่างไร
นอกจากนี้ ควรมีบุคคลทำหน้าที่ดูแลการใช้จ่ายเงินในโครงการต่างๆ โดยแยกระหว่างการใช้จ่ายเงินอย่างมีประสิทธิภาพ การป้องกันการคอร์รัปชั่น และการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม
ขณะเดียวกันต้องดำเนินการด้านต่างๆ ควรดึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าไปมีส่วนรวมด้วย เช่น การออกกฎหมายในอดีตภาคธุรกิจไม่มีสิทธิ์ออกเสียง หรือยกมือโหวต
สร้างความเชื่อมั่นขับเคลื่อนศก.
นายพงษ์เชิด จามีกรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์(ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการคือทำให้ภาคประชาชนเกิดความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย เพราะถือเป็นรากฐานที่จะช่วยให้หลายส่วนขับเคลื่อนไปได้ ทั้งเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว จะกลับมาดีได้หมด
คมนาคมเร่งสรุปโครงการรถไฟฟ้า3เส้นทาง
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างเตรียมข้อมูลโครงการและเรื่องเร่งด่วนต่างๆ เพื่อนำเสนอ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมคนใหม่ให้พิจารณา โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระยะเร่งด่วนที่จะเสนอให้พิจารณาด้วยการปรับแบบสถานีกลางบางซื่อของโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนเพิ่มอีก 8,140 ล้านบาท โดยออกแบบให้เพิ่มชานวิ่งจาก 3 เป็น 4 ชานวิ่ง เพื่อรองรับรถไฟชานเมืองและทางไกล และเพิ่มความยาวของชานชลาจาก 200 เป็น 600 เมตร และการอนุมัติโครงการลงทุนรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 58,303 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ทั้ง 2 เรื่องมาอยู่ที่กระทรวงคมนาคมแล้ว
ขณะที่โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ระยะทาง 20 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 110,325 ล้านบาท สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 56,110 ล้านบาท ซึ่งเรื่องอยู่ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และส่วนโครงการส่วนขยายรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ ช่วงพญาไท-ดอนเมือง ระยะทาง 21.8 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 28,253 ล้านบาท รวมถึงโครงการรถไฟรางคู่ขณะนี้เรื่องอยู่ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทำเรื่องเสนอมาที่กระทรวงคมนาคม
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ เรื่องที่เกี่ยวกับมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซุปเปอร์บอร์ด คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (กนพ.) คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) คณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการประเทศ (กบส.) หรือคณะกรรมการโลจิสติกส์แห่งชาติ รวมถึงข้อตกลงโครงการพัฒนาระหว่างประเทศและเรื่องอุทธรณ์ต่างๆ
อีกทั้งมอบหมายให้เจ้าหน้าที่รวบรวมร้องเรียนของกลุ่มผู้พิการ เช่น กรณีที่เรียกร้องให้รถเมล์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (เอ็นจีวี) ซึ่งองค์กรขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กำลังจะจัดซื้อ 3,183 คัน เป็นรถเมล์ชานต่ำ และให้รวบรวมข้อมูลเปรียบเทียบต้นทุนค่าโดยสารระบบขนส่งมวลชน เช่น แท็กซี่มิเตอร์และเรือด่วนเจ้าพระยา เพื่อนำเสนอให้รัฐมนตรีตัดสินใจ
ทีดีอาร์ไอแนะขยายฐานรายได้เก็บภาษีสุขภาพ
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้เผยแพร่รายงานเรื่อง “โครงการพัฒนาแนวทางอภิบาลระบบหลักประกันสุขภาพในประเทศไทย” โดยศึกษาจากระบบประกันหลักสุขภาพในต่างประเทศโดยมีข้อเสนอแนะในการจัดการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและลดความเหลื่อมล้ำของสิทธิในการรักษาพยาบาลภาครัฐของประเทศไทย
โดยคณะผู้วิจัยจากทีดีอาร์ไอระบุว่าระบบประกันสังคมอาจไม่เหมาะสมนักสำหรับประเทศไทยเพราะในปัจจุบันระบบประกันสังคมครอบคลุมจำนวนแรงงานเพียง 10 ล้านคนเท่านั้นนอกจากนั้นระบบประกันสังคมให้สิทธิในการรักษาพยาบาลแก่ผู้ประกันตนเฉพาะช่วงเวลาที่ยังไม่เกษียณอายุเท่านั้นทำให้ภาครัฐต้องมีระบบระบบประกันสุขภาพแห่งชาติเข้ามารองรับประชาชนจำนวนมากที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมและผู้เกษียณอายุการทำงาน
ผู้วิจัยเสนอว่าในการพัฒนาระบบการคลังเพื่อรองรับการสร้างระบบประกันสุขภาพให้เท่าเทียมทีดีอาร์ไอเสนอว่าควรมีการยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมของผู้ประกันตนที่เป็นสมาชิกประกันสังคม โดยเมื่อมีการยกเลิกการเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวแล้วรัฐอาจพิจารณาจัดเก็บภาษีสุขภาพเพื่อที่จะให้มีแหล่งเงินสำหรับอุดหนุนบริการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่แน่นอนโดยควรมีการกำหนดฐานภาษีในการจัดเก็บภาษีสุขภาพดังกล่าวที่กว้างขึ้นเนื่องจากประเทศไทยมีแรงงานในระบบน้อยและมีจานวนผู้จ่ายภาษีรายได้บุคคลธรรมดาไม่กี่ราย การเก็บภาษีแบบหัก ณ ที่จ่ายจากเงินเดือน หรือจากภาษีรายได้บุคคลธรรมดาจึงไม่เหมาะสม ซึ่งอาจพิจารณาแนวทางที่ประเทศฝรั่งเศสใช้ คือ การเก็บจากภาษีที่หลากหลาย รวมถึง ภาษีหัก ณ ที่จ่าย ภาษีรายได้นิติบุคคล เนื่องจากธุรกิจจำนวนมากใช้บริการของแรงงานนอกระบบ เช่น ธุรกิจก่อสร้าง เป็นต้น ภาษีทรัพย์สิน ภาษีสรรพสามิต ฯลฯ เพื่อที่จะกระจายภาระค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนระบบประกันสุขภาพแห่งชาติในวงกว้าง
นอกจากนี้การนำระบบภาษีสุขภาพมาใช้แทนการใช้งบประมาณกลางเพื่อที่จะให้มีแหล่งเงินที่สามารถจัดสรรให้แก่บริการสุขภาพของประชาชนที่แน่นอน นอกจากนี้แล้วการมีภาษีสุขภาพยังช่วยทำให้ผู้เสียภาษีได้รับทราบถึงต้นทุนในการให้บริการรักษาพยาบาลที่รัฐต้องแบกรับเพิ่มขึ้นในแต่ละปีด้วย
“ในปัจจุบัน ระบบประกันสุขภาพของไทยทั้งสามกองทุน มีกรอบความรับผิดชอบทางการคลังที่จำกัด โดยเฉพาะในส่วนของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลที่ใช้งบประมาณกลางเป็นหลักทำให้ไม่มีผู้ที่รับผิดชอบต่อการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่าย เนื่องจากกรมบัญชีกลางมิได้มีอำนาจหน้าที่ใน การกำหนดนโยบายและกำกับระบบดังกล่าว หากแต่เป็นเพียงผู้ที่ทำหน้าที่ในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามกฎหมายเท่านั้น ทำให้การใช้จ่ายของระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการขาดความรับผิดชอบทางด้านการคลัง เป็นผลทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงกว่าระบบอื่นๆเพื่อให้ระบบประกันสุขภาพของไทยโดยรวมมีความรับผิดชอบด้านการคลังมากขึ้น” คณะผู้วิจัยเสนอ
ทั้งนี้เพื่อลดช่องว่างของสิทธิประโยชน์ระหว่างระบบสวัสดิการข้าราชการและระบบประกันสุขภาพอื่นอีกสองระบบภาครัฐควรดำเนินการเพื่อยุบเลิกระบบสวัสดิการข้าราชการแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยการกำหนดให้ข้าราชการที่บรรจุใหม่ใช้บริการระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือระบบประกันสังคมแล้วแต่ว่าระบบใดจะเป็นระบบหลักของประเทศ โดยให้ค่าชดเชยเป็นเงินเพิ่มรายปีที่คำนวณจากส่วนต่างของค่าใช้จ่ายของระบบจ่ายตามจริงกับเหมาจ่ายรายหัวตามข้อมูลเชิงประจักษ์
นอกจากนี้เพื่อให้มีการปรับปรุงระบบการคลังของประเทศให้เหมาะสมกับการประกันสุขภาพแห่งชาติ ทีดีอาร์ไอเสนอว่าควรมีหน่วยงานเดียวที่รับผิดชอบต่อการบริหารจัดการด้านการคลังของระบบประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อที่จะมีผู้รับผิดชอบด้านการคลังที่ชัดเจน จัดตั้งหน่วยงานที่เข้ามาประเมินผลการดำเนินงานของระบบประกันสุขภาพทั้ง 3 ระบบ ทั้งในด้านการเงินและคุณภาพของบริการ และมีระบบแรงจูงใจที่โยงผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่ถูกประเมินเข้ากับงบประมาณที่จะได้รับอนุมัติในแต่ละปี เพื่อสามารถกระตุ้นให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมีความพยายามที่จะเพิ่มประสิทธิภาพหรือลดต้นทุนในการบริหารจัดการระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ และเพิ่มคุณภาพของการรักษาพยาบาลได้
นอกจากนี้เนื่องจากระบบประกันสุขภาพของไทยใช้งบประมาณของภาครัฐและเงินกองทุนของระบบประกันสังคมรวมแล้วเป็นวงเงินเกือบ 200,000 ล้านบาทต่อปี การบริหารจัดการจึงต้องมีความโปร่งใส ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน โครงสร้างของคณะกรรมการที่เข้ามาดูแลระบบประกันสุขภาพของประเทศจึงมีความสาคัญอย่างยิ่งโดยคณะกรรมการควรจะมีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนของสังคม เช่น ตัวแทนกลุ่มผู้ให้บริการ ตัวแทนกลุ่มผู้ป่วย ตัวแทนกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เป็นต้น ความหลากหลายของเพศ วัย วิชาชีพ และความเชี่ยวชาญที่สำคัญ ในการกำกับดูแลระบบประกันสุขภาพ เช่น ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ด้านการเงิน ด้านการบริหารธุรกิจ เป็นต้น โดยที่สำคัญคือกรรมการทุกรายจะต้องมีประวัติในการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณกุศลที่เกี่ยวกับบริการสาธารณสุข หรือสาธารณูปโภคพื้นฐาน
นอกจากนั้นคณะกรรมการที่เข้ามาดูแลระบบประกันสุขภาพของประเทศ ควรมีการเปิดเผยผลประโยชน์ทางการเงิน เปิดเผยการถือหุ้น ตำแหน่งที่ปรึกษา ตำแหน่งกรรมการ ทั้งของตน ภรรยา และลูกที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ในกิจการอื่น ๆ ก่อนที่จะเข้ามารับตำแหน่ง โดยมีการปรับปรุงข้อมูลดังกล่าวทุก 3 เดือน และควรมีข้อกาหนดไม่ให้คณะกรรมการรับของกำนัลจากบุคคลธรรมดา หรือบริษัทที่มีหรืออาจจะมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องทางการเงินกับองค์กร และมีข้อกำหนดให้กรรมการที่รับของกำนัลหรือสิ่งมีค่าดังกล่าวต้องแจ้งรายละเอียดในรายการของผลประโยชน์ทางการเงินของกรรมการนั้นๆ ที่เปิดเผยต่อสาธารณชนด้วยเพื่อความโปร่งใสตรวจสอบได้
ศธ.ชง9-แรงงาน6-แพทย์ชนบท4เร่งด่วนปี58
นางสุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารองค์กรหลักของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ว่า ที่ประชุมได้รวบรวมประเด็นหลัก 9 ประเด็นเสนอรัฐมนตรีใหม่ทั้ง 3 คน ดำเนินการอย่างเร่งด่วนในปี 2558 เริ่มจาก 1.ปรับหลักสูตร 2.ปรับภาพลักษณ์อาชีวศึกษาทั้งรัฐและเอกชน 3.ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา ในระดับอุดมศึกษา 4.ปรับโครงสร้างของ ศธ. 5.ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพของครู 6.การได้มาซึ่งผู้แทนครู และบุคลากรทางการศึกษาในคณะกรรมการชุดต่างๆ 7.ส่งเสริมการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม 8.ปรับระบบเงินอุดหนุนรายหัว และ 9.แผนแม่บทใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา
ทั้งนี้ มีความมั่นใจในรัฐมนตรี ศธ.ชุดใหม่ทั้ง 3 คน โดยเฉพาะ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) มีแนวคิดด้านการศึกษาที่ชัดเจน และมองการณ์ไกล อยากให้การศึกษาพัฒนาอย่างก้าวหน้าและมั่นคง ที่ผ่านมาให้ความสนใจด้านการศึกษาในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องครูและการพัฒนาเด็กให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์
ส่วน นายกฤษณพงศ์ กีรติกร รมช.ศึกษาธิการ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ทำงานด้านนโยบายและแผนมาเป็นเวลานานมาก เข้าใจการศึกษาเป็นอย่างดี ขณะที่ พล.ท.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รองเสนาธิการทหารบก และรมช.ศึกษาธิการ เป็นผู้ผลักดันหลัก ขยายการศึกษาทางไกลไปยังโรงเรียนขนาดเล็ก 1.5 หมื่นโรงเรียนทั่วประเทศ
พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (สพศท.) กล่าวถึงกรณี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข และนพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รมช.สาธารณสุข ว่า ศ.นพ.รัชตะ เป็นนักวิชาการที่ทำงานในโรงเรียนแพทย์มานาน เชื่อว่าเข้าใจปัญหาระบบสาธารณสุขไทย แต่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีปัญหาค้างคานาน ขอให้ รมว.สาธารณสุขคนใหม่รับฟังปัญหาทุกฝ่าย และทำงานเพื่อแก้ปัญหาจริงๆ
ก่อนหน้านี้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัด สธ. เคยหารือกับ ศ.นพ.รัชตะ ถึงทิศทางปฏิรูปเขตสุขภาพ สธ.กับโรงเรียนแพทย์ การทำงานร่วมกันจึงไม่น่ามีปัญหา สำหรับ นพ.สมศักดิ์ เป็นคนดีคนหนึ่งที่ทำงานด้านวิชาการมานาน โดย สพศท.จะขอเข้าพบ รมว.สาธารณสุข เพื่อหารือถึงการทำงานในอนาคต
นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ชมรมแพทย์ชนบทจะขอเข้าพบ รมว.สาธารณสุข เสนอ 4 ประเด็น คือ 1.ระบบหลักประกันสุขภาพทั้งหมด 2.การบริหารจัดการของกระทรวงสาธารณสุข 3.ปฏิรูปการดูแลผู้สูงอายุ และ 4.การปฏิรูปเขตสุขภาพ
ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวภายหลังพบ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รมว.วัฒนธรรม ว่า ได้รับมอบนโยบายส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ให้ความสำคัญการสร้างรายได้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ อุตสาหกรรมด้านวัฒนธรรม วธ.สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี เชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเน้นการทำงานรวดเร็ว บูรณะการภายใน วธ.ให้ขับเคลื่อนให้สำเร็จเร็วที่สุด
นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จะเสนอภารกิจเร่งด่วนต่อรัฐมนตรี อาทิ 1.การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว 2.การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานไทยเพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่เออีซี 3.การสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ 4.การแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน 5.การทำให้ประเทศไทยพ้นจากการถูกจัดอันดับประเทศที่ต้องเฝ้าระวังด้านการค้ามนุษย์ ซึ่งขณะนี้ถูกจัดอยู่ระดับ 3 และ 6.การทำให้ประเทศไทยพ้นจากถูกขึ้นบัญชีดำสินค้า 4 ประเภท ได้แก่ อ้อย กุ้ง ปลา และเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์
นักวิชาการชี้รมว.ทส.เน้นมีส่วนร่วมแก้ปัญหาป่า
ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ คณบดีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์(มก.)กล่าวถึงว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ม(ทส.)คนใหม่คือ พลเอก ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ ว่า เนื่องจากพลเอก ดาว์พงษ์ เป็นรัฐมนตรีที่มาจากทหาร ดังนั้นในแง่ของการป้องกันปราบปราม และการบังคับใช้กฎหมายทั้งเพื่อป้องกันการตัดไม้ และลักลอบล่าสัตว์ป่าน่าจะทำให้อย่างเฉียบขาดมากยิ่งขึ้น แต่ในแง่ของการบริหารจัดการยังคงอยากเห็นกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนเป็นตัวเชื่อมในการทำงาน เพราะหากใช้ไม้แข็งเกินไปก็จะเกิดผลเสีย
อย่างไรก็ตาม งานเร่งด่วนสำคัญยังคงเป็นปัญหาการจัดการป่าไม้และที่ดินทำกิน เนื่องจากขณะนี้ไทยมีป่าไม้ราว 50% ของพื้นที่ประเทศ แต่มีป่าสมบูรณ์แค่ 30% ส่วนอีกราว 20% มีประชาชนบุกรุกครอบครองทำกิน แต่จะทำอย่างไรให้การแก้ปัญหาสามารถยืดหยุ่นและไม่บังคับโดยใช้กฎระเบียบที่เข้มข้นแบบเดียวกับยาเสพติด แต่ควรแยกแยะกลุ่มคนที่ไม่มีที่ดินทำกิน ออกจากลุ่มผู้บุกรุกเพื่อจัดการปัญหา
"ในโอกาสวันที่คุณสืบ จากไปแต่เป็นวันที่เรากำลังมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ดังนั้นจึงอยากให้รัฐมนตรีคนใหม่ และรัฐบาลชุดนี้ ใช้โอกาสนี้จุดกระแสการอนุรักษ์ให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าใจและร่วมกันรักษาป่า"
นักวิชาการแนะรมต.แรงงานใหม่ดูแลชีวิตลูกจ้าง
รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงศ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงกรณีพลเอกสุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหมมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานว่า เชื่อว่ารัฐมนตรีใหม่ที่มาจากทหารจะสามารถทำงานได้หากมีการศึกษาข้อมูลที่ดีและได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับปัญหาและกฎหมายด้านแรงงานจากข้าราชการกระทรวงแรงงาน ขณะเดียวกันก็ควรรับฟังปัญหาและคำแนะนำจากทุกฝ่ายทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง นักวิชาการและภาคเอกชนเพื่อให้สามารถพัฒนากระทรวงแรงงานได้อย่างรอบด้านทั้งด้านเศรษฐกิจและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน
รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า เชื่อว่ารัฐมนตรีแรงงานคงได้รับมอบหมายให้มาแก้ปัญหาด้านการค้ามนุษย์เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม นอกจากการแก้ปัญหาค้ามนุษย์แล้ว อยากให้รัฐมนตรีใหม่เร่งยกระดับกระทรวงแรงงานให้เป็นกระทรวงเศรษฐกิจ และมีบทบาทช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้มากขึ้นโดยเร่งพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานและแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งเตรียมความพร้อมแรงงานเพื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี) รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตและแก้ปัญหาแรงงานในระบบและนอกระบบทั้งในเรื่องของค่าจ้างและสวัสดิการต่างๆให้เป็นไปอย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ดูแลเรื่องของความปลอดภัยในการทำงาน
ที่มา : คมชัดลึก วันที่ 1 ก.ย. 2557
มูลนิธิชีวิตไท (Local Act)
129/250 หมู่บ้านเพอร์เฟคเพลส รัตนาธิเบศร์ ถนนไทรม้า ต.บางรักน้อย อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000
โทรศัพท์: 02-048-5465 E-mail : This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.