“ความเหลื่อมล้ำในสังคม” กลายเป็นประเด็นปัญหาที่พูดกันมากขึ้นในขณะนี้ แม้จะไม่ร้อนแรงเท่ากับการปฏิรูปการเมืองและการปราบการทุจริตคอร์รัปชัน ในวันรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็พูดถึงการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ การเดินตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และการลดความเหลื่อมล้ำ
ความเหลื่อมล้ำในสังคม และความไม่เป็นธรรมในสังคม เคยเป็นประเด็นที่ร้อนแรงในประเทศไทย หลังการลุกฮือขับไล่เผด็จการ ในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 กลุ่มนักศึกษาและปัญญาชนเป็นผู้นำในการเผยแพร่อุดมการณ์สร้างความเป็นธรรมในสังคม แต่ขบวนการถูกบดขยี้ ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จนแทบจะไม่มีใครพูดถึงหลังจากนั้น
แม้แต่ยักษ์ใหญ่คอมมิวนิสต์อย่าง รัสเซียและจีน ซึ่งเคยเป็นผู้นำในการเผยแพร่อุดมการณ์ความเท่าเทียมในสังคม ก็แทบจะไม่พูดถึง แต่ยอมรับเศรษฐกิจทุนนิยมที่ยอมให้มีคนรวยและคนจน ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ ไทยก็ยึดแนวทางนี้ และกลายเป็นอันดับต้นๆของเอเชีย ที่มีความเหลื่อมล้ำมากที่สุด และต้องแก้ไขด่วน
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง ตอบสนองคำสั่งของ คสช.ด้วยการเตรียมเสนอมาตรการ “โอนเงินแก้จนคนขยัน เพื่อแก้ปัญหาความยากจน” โดยให้ออกเป็นกฎหมาย ให้รัฐโอนเงินให้แก่ผู้ทำงานที่มีรายได้ต่ำกว่า 20,136 บาทต่อปี หรือเดือนละ 1,678 บาท ซึ่งมีอยู่ราว 5.1 ล้านคน จากประชากรทั้งประเทศ 65.5 ล้านคน
อาจจะมีมาตรการลดความ เหลื่อมล้ำด้วยภาษีอื่นๆตามมา เช่น ภาษีมรดก ภาษีที่ดินและสิ่งก่อสร้าง เป็นต้น สศค.เชื่อว่าโครงการโอนเงินแก้จนจะเป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ตรงเป้า ตรงจุดกว่าการจ่ายเบี้ยเลี้ยงชีพผู้สูงอายุ และการยกเว้นภาษีผู้มีรายได้ไม่ถึง 1.5 แสนบาทต่อปี โครงการโอนภาษีแก้จนจะใช้เงินงบประมาณปีละแค่ 1,400 ล้านบาท
แต่บางคนเชื่อว่ารัฐบาลจะต้องจ่ายอย่างน้อยปีละ 6 พันล้านบาท แต่ก็ยังถือว่าไม่มากเกินไป ถ้าแก้ปัญหาได้จริง และเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการรับจำนำข้าวที่หว่านเงินปีละหลายแสนล้านบาท แต่เข้ากระเป๋าชาวนาเท่าไหร่ไม่รู้ แต่สงสัยว่าจะต้องแจกคนจนคนละเท่าไหร่ต่อปี และแก้ความจนได้จริงหรือ? เพราะมีรายได้เดือนละไม่กี่พันบาท
ปัญหานี้เป็นประเด็นที่สังคมไทยจะต้องถกเถียงกันต่อไป โดยเฉพาะสภาปฏิรูปแห่งชาติ จะต้องเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง และไหนๆ รัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่ก็ต้องเดินตามกรอบหลายอย่าง รวมทั้งห้ามคนโกงดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ควรจะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญให้เป็นวาระแห่งชาติ ผูกพันให้ทุกรัฐบาลแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ
ที่มา : ไทยรัฐ วันที่ 29 ส.ค. 2557